ประวัติอำเภอนาเชือก
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2447 มีครอบครัวประมาณ 9 ครอบครัว ได้อพยพจากอำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกุดรังปัจจุบันนี้ โดยให้ชื่อบ้านตัวเองว่า “บ้านลิงส่อง” เหตุที่เรียกชื่อเช่นนั้น เพราะบริเวณที่สร้างบ้านเรือน เป็นป่าทึบประกอบด้วยไม้ใหญ่น้อยนานาชนิด มีสัตว์ป่าอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลิง เวลาคนผ่านไปมาจะพบแต่ลิงคอยส่องดู (ส่อง เป็นภาษาอีสาน หมายถึง แอบดู , มองดู) จึงเรียกชื่อบ้านนี้ว่า “บ้านลิงส่อง” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกุด (กุด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง หนองน้ำหรือ แอ่งน้ำ) ที่มีความลึก น้ำใส มีปลาชุมมาก บริเวณรอบกุดประกอบไปด้วยต้นรัง จึงเรียกว่า “กุดรัง” และได้เปลี่ยนชื่อบ้านลิงส่อง เป็นบ้านกุดรังตามไปด้วย (พิชัย นันทะแสน , สุรพล ประทุมสา , ประวัติหมู่บ้านของเรา:2528)
ต่อมาได้มีครอบครัวอพยพมาจากอำเภอห้วยแถลง , อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา , จากอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในละแวกนี้ ทั้งในเขตปกครองของอำเภอบรบือ,อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย , ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและทำการค้าขายเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน อยู่อย่างเรียบง่าย ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานแต่โบราณ และนับถือพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
เนื่องจากท้องที่ตำบลนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และท้องที่ตำบลเขวาไร่และตำบลเลิงแฝกอำเภอบรบือ มีประชาชนอพยพเข้ามาอยู่หนาแน่น และอยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอแต่ละแห่ง ประชาชนได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2482 ประชาชนในท้องที่ตำบลนาเชือก โดยการนำของนายประกิจ ปะวะโก สมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านโคกกลม ตำบลนาเชือก ได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และนำเรื่องนี้ เสนอต่อที่ประชุมสภาจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขอให้
ทางราชการจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้นในท้องที่ตำบลนาเชือก สภาจังหวัดรับหลักการ และจังหวัดได้สั่งให้นายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยและนายอำเภอบรบือ จัดการสำรวจสถิติต่างๆ เสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบในการจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้น เนื่องจากเหตุผลบางประการของกระทรวงมหาดไทยเรื่องนี้ จึงได้สะดุดหยุดลง แต่ประชาชนก็ยังมีความต้องการและเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอตามความ ต้องการเรื่อยมา
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2496 จังหวัดได้สั่งให้นายอำเภอบรบือและนายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยร่วมทำการสำรวจ พื้นที่ ที่ควรจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอขึ้นในท้องที่ตำบลนาเชือก การสำรวจได้ทำการสำรวจหลายแห่งในที่สุดตกลงเลือกเอาพื้นที่โคก (สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ในปัจจุบัน) ที่อยู่ระหว่างบ้านนาเชือกกับ
บ้านกุดรัง เป็นสถานที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอ เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสมเกี่ยวกับการระวางและขยายผังเมือง ตลอดทั้งเหตุในทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
เมื่อ พ.ศ. 2500 กระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอนาเชือก แต่การดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จถูกผู้รับเหมาบอกเลิกสัญญา ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอนาเชือกจนแล้ว เสร็จ โดยทางจังหวัดได้มอบหมายให้ นายเวศ สุริโย นายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย การปราบพื้นที่ ถางป่า ขุดตอ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนโดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด
การดำเนินการก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอนาเชือกได้สร้างเสร็จเรียบร้อยใน ปี พ.ศ. 2501 แต่ทางราชการยังไม่ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอ ต่อมาทางราชการได้โอนท้องที่หมู่บ้าน ตำบลนาภู บางหมู่บ้านมาขึ้นกับตำบลนาเชือก และโอนตำบลนาเชือกขึ้นกับอำเภอบรบือ และโอนบางหมู่บ้านของตำบลนาดูนและตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุมมาขึ้นกับตำบลเขวาไร่ อำเภอบรบือ เมื่อเดือนเมษายน 2503 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะตำบลนาเชือกขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า “กิ่งอำเภอนาเชือก” อยู่ในความปกครองของอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีตำบลอยู่ในเขตปกครอง 2 ตำบล คือ ตำบลนาเชือก และตำบลเขวาไร่ มีหมู่บ้าน 77 หมู่บ้าน คำว่า
“นาเเชือก” หมายถึงทุ่งที่มีต้นเชือกเกิดอยู่โดยทั่วไป ต้นเชือก คือ “ต้นรกฟ้า”
ปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอนาเชือกขึ้นเป็นอำเภอนาเชือกขณะ นั้น มีเขตปกครอง 5 ตำบล คือ ตำบลนาเชือก , ตำบลเขวาไร่, ตำบลปอพาน
ตำบลสำโรง และตำบลหนองโพธิ์
ปี พ.ศ. 2513 ได้มีการเปลี่ยนแปลงและตั้งตำบลเพิ่มอีก 3 ตำบล คือ ตำบลหนองเม็ก , ตำบลหนองเรือ และตำบลหนองกุง