ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรีเก่านั้น มีสภาพเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานเป็นอย่างยิ่ง เพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ มีแม่น้ำแควใหญ่ และลำตะเพิน ไหลผ่าน ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายอย่าง เช่น เครื่องมือหิน ภาชนะดินเผาและโครงการกระดูก เป็นต้น บริเวณที่พบ ได้แก่ บริเวณริมลำตะเพินใกล้เขาชนไก่ บริเวณบ้านหลุมมะกอก บ้านโปร่งกระต่าย และบ้านทุ่งนานางหรอก ตำบลลาดหญ้า เขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังเคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร และนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรที่มาขุดค้นศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณไร่หาญสงคราม ริมลำตะเพิน เขตตำบลวังด้ง และพบหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณนี้นับเป็นพันปีมาแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐานเด่นชัดว่าเป็นเมืองหน้าด่านในสงครามระหว่างไทยและพม่า ซึ่งเกิดขึ้นเกือบตลอดในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีที่เสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งสุดท้าย จากหลักฐานทางเอกสารที่กล่างถึง การสงครามระหว่างไทยและพม่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งสิ้น ๒๔ ครั้งนั้น ได้มีการเดินทัพผ่านเมืองกาญจนบุรี จำนวน ๑๐ ครั้ง โดยเป็นกองทัพไทยยกไปตีพม่า ๔ ครั้ง และพม่ายกมาตีไทย ๖ ครั้ง โดยเฉพาะเส้นทางเดินทัพที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ เส้นทางผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ถือว่าเป็นเส้นทางเข้าตีกรุงศรีอยุธยาของพม่าได้อย่างสะดวกและสั้นที่สุด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า พม่าใช้เวลาเดินทางจากด่านนี้ถึงกรุงศรีอยุธยาเพียง ๑๕ วัน เท่านั้น โบราณสถานสำคัญที่เป็นวัดร้างในปัจจุบัน ได้แก่ วัดขุนแผน วัดป่าเลไลยก์ วัดแม่หม้ายเหนือและใต้ รวมทั้งโบราณสถานที่เหลือแต่กองเศษอิฐอีกหลายแห่งที่ไม่ได้ระบุชื่อ ฝั่งตรงข้ามลำตะเพินนั้นก็มีซากโบราณสถานของวัดมอญ ส่วนฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ตรงกันข้ามกับวัดกาญจนบุรีเก่าก็มีซากโบราณสถานที่เรียกว่า วัดจีน ตั้งอยู่แม้กระทั่งบนเขาชนไก่ ก็มีซากเจดีย์และโบสถ์ ซึ่งถูกลักลอบขุดจนเหลือแต่ฐานเช่นเดียวกัน
การเดินทางการเดินทางไปเที่ยวชมเมืองกาญจนบุรีเก่า สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ โดยออกจากตัวเมืองกาญจนบุรี ตามเส้นทางไปเขื่อนศรีนครินทร์ (ทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๙) ใช้ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร