ประวัติ และความเป็นมา .
วัดดอนแก้ว ตำบลดอนแก้ว ในอดีตกาลนานมาแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาว่า เดิมชื่อ บ้านสันต้นกอกหวาน เพราะอยู่ทางทิศใต้ของบ้านสันต้นกอก และวัดสันต้นกอกหวาน สมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช (เราเรียกว่าสมัยเจ้า) ณ บริเวณวัดก็ดี บริเวณบ้านก็ดี ยังเป็นที่ดอนมีป่าไม้อยู่และมีบ้านอยู่กระจัดกระจายไม่มากนักเหมือนสมัยนี้ สมัยนั้น ณ บริเวณนี้เรียกว่า เด่นขี้หมา เป็นที่อยู่ของช้างในสมัยนั้น คนในหมู่บ้านสันต้นกอกไต้เวลาจะไปทำบุญ ก็ไปทำบุญกันที่วัดสันต้นกอกหวาน ซึ่งนับว่าเป็นที่ลำบากมาก ถนนหนทางไม่เจริญ สองข้างทางมีแต่ต้นไม้ไผ่และไม้ต่างๆ มากมาย การไปทำบุญต้องถือไม้ใต้ (ไม้แคร่) เป็นเครื่องนำทางเพราะกลัวช้าง นับว่าเป็นที่ลำบากมากเพราะว่ายังไม่มีวัด มีอยู่วันหนึ่ง เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่ชาวบ้านจะได้ไปทำบุญ จึงพากันตื่นแต่เช้าตรู่ เผอิญมีครอบครัวหนึ่งได้มองเห็นแสงพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นประกาย ณ ตรงจุดที่วัดตั้งอยู่ขณะนี้
แต่ก็มีคนหนึ่งได้ขุดตรงต้นไม้ต้นหนึ่ง ได้เจอเม็ดแก้วเม็ดหนึ่ง จึงนำขึ้นมาดู แล้วก็นำไปถวายครูบาคันธะ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสันต้นกอกหวาน ต่อมาท่านก็มาสร้างวัดไว้ตรงที่ปัจจุบันนี้ เมื่อปี ๒๔๑๐ ในขณะที่สร้าง ท่านก็ได้นำเม็ดแก้วเม็ดนั้นมาใส่ไว้ตรงหัวเสาพระวิหารโดยไม่มีใครรู้มาก่อน เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้นิมนต์พระลูกวัด ซึ่งเป็นคนสันต้นกอกได้มาบวช ซื่อพระอิ่นแก้ว หลังจากที่ท่านสร้างวัดเสร็จแล้วไม่นาน ท่านก็มรณภาพ ต่อมาพระอิ่นแก้วก็ได้ตั้งชื่อวัดขึ้นมา โดยเอาชื่อที่เป็นนามอันเป็นมงคล มาเป็นชื่อวัด ๓ ประการ คือ ๑. เม็ดแก้ว ๒. ไม้ดอกแก้ว ๓. ชื่อเจ้าอาวาสองค์แรก พระอิ่นแก้ว ก็เลยใส่นามชื่อวัดว่า “วัดดอนแก้ว” เพราะสถานที่นี้เป็นที่ดอน (เนิน) นับตั้งแต่นั้นมาก็เรียกเป็น วัดดอนแก้ว จนถึงปัจจุบัน