วิหารโคมคำ หรือ วิหารพระพุทธ เป็นวิหารพื้นเมืองเครื่องไม้ ศิลปะล้านนาไทย สร้างในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ลำดับที่ 3 ในปี พ.ศ. 2366 ในเวลาต่อมาวิหารโคมคำคงชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนในปี พ.ศ. 2500 วิหารหลังนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยมีแม่เลี้ยงเต่าจันทรวิโรจน์ เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ในการบูรณะ การบูรณะครั้งใหญ่นี้ได้ก่อผนังปิดด้านหน้าวิหาร ทำให้รูปแบบของวิหารโคมคำเปลี่ยนจากเดิมที่เคยเป็นวิหารล้านนาแบบเปิด เป็นวิหารแบบปิดดังปรากฎในปัจจุบันภายในวิหารโคมคำพระพุทธรูปพระประธานชื่อ พระพุทธรูปพระธาตุเสด็จ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารโคมคำ ประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐาน ส่วนตัวอาคาร และส่วนหลังคาส่วนฐานเป็นฐานเตี้ย ๆ รองรับตัวอาคาร สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนและฉาบเรียบ โดยเหลือพื้นที่ชายคาโดยรอบตัวอาคารเล็กน้อย ลักษณะส่วนฐานเตี้ย ๆ ดังกล่าวสันนิษฐานว่าเกิดจากการถมดินรอบนอกให้สูงขึ้นส่วนอาคารตัวอาคารวิหารโคมคำได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 2 ห้อง ด้านหลัง 1 ห้อง ก่ออิฐถือปูนปิดเป็นผนังทั้งสองด้านจนถึงห้องท้ายของวิหารที่เป็นห้องปิด โดยเจาะช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้ง 4 ช่อง ขนาบด้วยช่องกากบาท 3 ช่อง ทำให้วิหารหลังนี้มีลักษณะเป็นวิหารแบบปิด และทำให้ไม่ปรากฏเสาด้านข้างวิหาร และส่วนหลังคามีลักษณะเป็นหลังคาซ้อน 2 ชั้น ลดด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ส่วนหลังคาประกอบด้วยช่อฟ้า ป้านลม หน้าแหนบ โก่งคิ้ว แผงแล ปากแล และบ่าง ลักษณะการทำหลังคาซ้อนชั้นรวมถึงการลดชั้นด้านหน้าและด้านหลังสอดคล้องไปตามแผนผังของอาคารวิหารที่ยกเก็จด้านหน้า 2 ห้องและยกเก็จด้านหลัง 1 ห้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานของหลังคาวิหารล้านนา