หมู่บ้านหมื่นข้าวมีชื่อหมู่บ้านเดิมว่า บ้านหมื่นเขาเนื่องมาจากก่อนนี้มีสถานที่แห่งหนึ่งอยู่กลางทุ่งนาใกล้กับหมู่บ้าน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระอุโบสถวัดทาหมื่นข้าว) เป็นของชาวลั๊วะได้นำเอาทองคำซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเขาวัว หรือเขาควายมาฝังไว้มีน้ำหนักหมื่นตาชั่งหรือประมาณ 13.50 กิโลกรัมต่อมามีการขุดค้นหาจากกลุ่มคนหลายคณะจากคำบอกเล่าไม่อาจทราบได้ว่ากลุ่มคณะผู้ค้นหาทองได้เจอทองหรือไม่จากสถานที่นี้จึงกลายเป็นชื่อบ้านหมื่นเขาต่อมาชาวบ้านได้เห็นว่าหมู่บ้านมีพื้นที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาจึงได้เปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านหมื่นข้าว" ดังเช่นปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ จากคำบอกเล่า พบว่าหมู่บ้านเริ่มก่อตั้งในปีพ.ศ.2350 หรือประมาณ 196 ปี มาแล้ว กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่เป็นชาวลั๊วะต่อมาชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งสืบเชื้อสายจากเผ่ายองก็เข้ามาอาศัยภายในหมู่บ้านภาษาของหมู่บ้านจึงใช้ทั้งภาษาเมืองและภาษายอง
สภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่สร้างขนานกับแนวลำน้ำแม่ทา ห่างจากอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงใกล้ประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 26 กิโลเมตรในอดีตสภาพหมู่บ้านเป็นพื้นที่ป่า มีถนนลูกรังใช้สัญจร อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักเช่น ทำสวนยาสูบ ถั่วลิสง แต่ก็ต้องเลิกทำในที่สุดเนื่องจากราคาถูก ไม่มีผู้รับซื้อประชาชนจึงหันไปประกอบอาชีพแกะสลัก และทำสวนลำไย ตั้งแต่ปี 2528 เศรษฐกิจของหมู่บ้านในปัจจุบัน มีความมั่นคง เนื่องจากประชาชนมีความขยันขันแข็งและสามัคคี ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัจจะ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฉางข้าว ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนเป็นต้น ซึ่งช่วยให้หมู่บ้านมีทุนสำรองหมุนเวียน
การบริหารการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหมู่บ้านอยู่ในเขตบริการของเทศบาลตำบลทากาศ
ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่งชื่อโรงเรียนบ้านหมื่นข้าว มีวัดหมื่นข้าว เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้านประเพณีหรืองานบุญที่สำคัญมีดังนี้ งานตานข้าวใหม่ ทำบุญประเพณีวันมาฆบูชางานสงกรานต์ งานวันวิสาขบูชา งานวันเข้าพรรษา ทำบุญสลากภัต งานออกพรรษางานลอยกระทง