ขันน้ำทองเหลืองลงหินโบราณ
ขันน้ำทองเหลืองลงหินทำด้วยโลหะผสมระหว่างทองแดงและดีบุก บุหรือตีให้ได้รูปแล้วขัดด้วยหินให้เรียบ ซึ่งเป็นโลหะกรรมโบราณที่ทำสืบทอดกันมาช้านาน ปัจจุบันยังทำอยู่บ้างในบริเวณบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขันชนิดนี้มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ ปากกว้างเพียง ๓ – ๔ นิ้ว ไปจนถึงขนาดปากว้าง ๒๐ – ๓๐ นิ้ว ความสูงตั้งแต่ ๒ – ๑๒ นิ้ว
ประโยชน์ขันน้ำทองเหลืองแต่เดิมใช้เป็นที่ตักน้ำล้างหน้า หรือดื่มเท่านั้น ต่อมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ใช้เป็นขันใส่ข้าวสำหรับตักบาตรพระสงฆ์ ใช้เป็นขันน้ำมนต์ และอื่น ๆ จะมีพานรองเพื่อความสวยงาม
ขันหินหรือขันลงหิน หรือขันทองลงหิน ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่าขันหมิด
การได้มามีผู้นำมาบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอสวี โรงเรียนสวีวิทยา ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ลำดับที่ ๑๒ ของสถานศึกษา
การทำความสะอาด
ใช้มะขามเปียก ทาให้ทั่ว ทิ้งไว้ประมาณ ๑๐ นาที ต่อจากนั้นใช้สก๊อตไบร์ ขัดถู ล้างด้วยน้ำให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ขันทองเหลืองลงหินจะแวววาว สวยงาม