ตามตำนานกล่าวว่า “ข้าวทิพย์” หรือ “ข้าวมธุปายาส” เป็นข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคสด โดยนางสุชาดา และได้นำมาถวายพระสมณโคดม (พระพุทธเจ้า) หลังทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งได้รับไว้และทรงฉันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และวันนั้นก็ได้สำเร็จโพธิญาณเป็นพระอรหันต์ สำหรับข้าวทิพย์จะประกอบด้วย ข้าว ถัว งา น้ำตาล นม เนย มะพร้าว และมีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวมแล้ว ๒๙ ชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น ตลอดขั้นตอนพิธีการกวน จะต้องใช้สาวพรหมจรรย์ ๓ คน ที่เป็นลูกคนหัวปี คนกลาง และคนสุดท้อง ภายในมณฑลพิธีมีข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ห้ามดื่มสุรา ห้ามรับประทานอาหาร ห้ามสวมรองเท้า ห้ามผู้มีโรคสังคมรังเกียจ และห้ามหญิงมีประจำเดือน หรือมีครรภ์เข้าไปอย่างเด็ดขาดตลอดพิธี ครูข้าวทิพย์จะต้องมีการบวงสรวง ลงเลขยันต์ทุกขั้นตอน จึงทำให้พิธีนี้เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ จึงเชื่อกันว่า หากนำข้าวทิพย์ไปรับประทานหรือบูชาย่อมเกิดมงคลต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง
พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก ต้องมีการตระเตรียมข้าวของต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ ถั่วต่าง ๆ เมล็ดบัว ลูกเดือย นม เนย ข้าวตอก น้ำหวาน น้ำใบเตย น้ำดอกมะลิ น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำกะทิ น้ำตาล มะพร้าว งาดำ งาขาว งาหอม และประเภทข้าว ได้แก่ ข้าวเหนียวข้าวก่ำ สาคู ข้าวเม่า ขนมปัง ผลไม้ตามฤดูกาล เป็นต้น ก่อนการทำพิธีกวนข้าวทิพย์ ฝ่ายชายต้องเตรียมแท่นพิธี เพื่อบูชาท้าวจตุโลกบาล (หัวหน้าเทวดาในชั้นจาตุมหาราช รักษาโบกในทิศทั้ง ๔) ส่วนฝ่ายหญิงก็จัดเตรียมเครื่อง ๔ จัดแจงใส่ภาชนะ ที่ทำจากกาบกล้วย ทำให้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเล็กจำนวน ๕ อัน และขนาดใหญ่จำนวน ๑ อัน ส่วนประกอบของเครื่อง ๔ ประกอบด้วย มะม่วง กล้วยดิบ อ้อย มะพร้าว มะยม ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ปลาย่าง (หรือ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่สรรหาได้ตามฤดูกาล) ธงขนาดเล็ก ๔ มุม
ส่วนคนอื่นๆ บ้างก็คั่วงา นึ่งข้าว ทำกระธง ขูดมะพร้าว นึ่งถั่ว นึ่งมัน ปอกผลไม้ และอีกสารพัด เพื่อจัดแจงข้าวของให้ทันก่อนเวลาทำพิธีกรรม ทุกอย่างจัดไว้อย่างละ ๔ สำรับ และวางไว้ ๔ มุมในพื้นที่ที่จะเตรียมกวนข้าวทิพย์ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยไม้ไผ่สานขัดกันไปมา ที่เรียกว่า ราชวัตร เด็กสาวพรหมจรรย์ที่ถูกคัดเลือกให้มากวนข้าวทิพย์ ต้องรีบศีล ๓ วัน ๓ คืน
พิธีกรรม เริ่มต้นด้วยการนิมนต์พระเข้าไป ในบริเวณประกอบพิธีจะมีการ “เสก” บริกรรมด้วยพระคาถาต่าง ๆ ทุกขั้นตอนทั้ง ๔ มุม (ขึ้นท้าวทั้ง ๔) ตามตำรามอญ ที่ต้องประกอบพิธีอัญเชิญมหาบารมีพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พรหม เทวดา ครูบาอาจารย์ทั้งหมด แม้กระทั่งสวรรค์ชั้นดุสิต ที่เป็นพระโพธิสัตว์ รอเสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป เพื่อบรรจุพุทธานุภาพในข้าวทิพย์ เพื่อให้ผู้รับประทานเข้าไปแล้ว มีจิตใจโน้มไปหาแสงสว่างแห่งธรรมะ ปัญยาเกิด ทุกข์โศกโรคภัยมลายหายไปหมดสิ้น
พิธีกรรมทางศาสนา เริ่มขึ้นโดยพระสงฆ์ จะเป็นผู้ทำพิธีบูชาพระรัตนตรัย รับศีล ๕ สาวพรหมจรรย์ที่จะต้องทำหน้าที่กวนข้าวทิพย์ต้องเข้าร่วมในพิธีกรรมนี้ด้วย สังเกตเห็นได้ว่า หลังจากรับศีลแล้วจะมีการบริกรรมคาถาเจิมหน้าผากและไม้ผายสำหรับกวน จะเหน็บช่อใบขนุนและใบมะตูมที่หูเป็นอันเสร็จ หลังจากบริกรรมคาถาแล้ว ต้องถวายพานดอกไม้ขาวทั้ง ๔ มุม เพื่ออัญเชิญท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ลงมาร่วมทำพิธีด้วย สาวพรหมจรรย์ประจำอยู่ที่กระทะกวน จากนั้นพระสงฆ์ก็ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เป็นจุดเริ่มต้นของพิธีกวนข้าวทิพย์ คนปรุงที่เป็นผู้หญิงเทเครื่องกวนลงไปทีละอย่าง เริ่มจากน้ำใบเตย น้ำมะพร้าว น้ำดอกไม้หอม จากนั้นก็ทยอยเทเครื่องกวนต่าง ๆ ลงไปจนกว่าจะได้ที่ ซึ่งใช้เวลากวนประมาณ ๓ ชั่วโมง ประเพณีโบราณอย่างนี้ ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก ปัจจุบันมีการจัดทำพิธีกวนข้าวทิพย์โดยมากจะเป็นวัด ที่ชุมชนมอญยังมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้เพื่อสืบสานประเพณีโบราณ และเชื่อว่าผู้ที่ได้ร่วมในพิธีและได้ทานข้าวทิพย์ จะได้อานิสงส์มาก ประสบพบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต