ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 57' 47.7817"
14.9632727
Longitude : E 103° 34' 53.0494"
103.5814026
No. : 182908
ชุมชนโบราณบ้านพระปืด
Proposed by. pom_21 Date 8 March 2013
Approved by. สุรินทร์ Date 3 May 2013
Province : Surin
1 558
Description

ประวัติชุมชนโบราณบ้านพระปืด
บ้านพระปืด แต่เดิมมีชื่อว่า บ้านประปืด ซึ่งสันนิษฐานว่า คำว่า "ประปืด" คงเพี้ยนมาจากคำว่า "เปรียะปืด" ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างภาษาพื้นเมืองเขมร กับกูย เพราะคำว่า "เปรียะ" ในภาษาพื้นเมืองเขมร แปลว่า "พระพุทธรูป" คำว่า "ปืด" เป็นภาษากูย แปลว่า "ใหญ่"
คำว่า บ้านประปืด ได้ใช้เรียกกันมานานแล้ว แต่ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนเป็น "บ้านพระปืด" เพื่อให้เรียกง่ายเข้า และแปลตรงตัวจากภาษาไทยปนกับภาษาพื้นเมืองกูย ซึ่งเข้าใจว่า คงจะให้สอดคล้องกับตำนานปาก เกี่ยวกับประวัติหมู่บ้าน ที่เล่าขานมานาน
แล้วก็ได้

หมู่บ้านพระปืด จะสร้างมาแต่เมื่อใด ใครเป็นผู้สร้างไม่อาจที่จะค้นคว้าหาหลักฐานได้ เพราะไม่พบศิลาจารึก หรือการจดลายลักษณ์อักษรไว้แต่อย่างใด แต่สันนิษฐานว่า คงสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองปทายสมันต์ในอดีต (เมืองสุรินทร์) ประมาณ 2,000 ปี เศษมาแล้วตัวเมืองประทายสมันต์ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชุมชนโบราณรอบๆ ที่เป็นเมืองบริวารอีก ๔ แห่ง กล่าวคือ๑. ชุมชนโบราณบ้านสลักได
๒. ชุมชนโบราณบ้านแสลงพัน
๓. ชุมชนโบราณบ้านพระปืด
๔. ชุมชนโบราณบ้านแกใหญ่คูน้ำคันดินของเมืองประทายสมันต์ยังไม่เคยขุดค้นโดยกรมศิลปากร เป็นเพียงขุดแต่งบางส่วน แต่มีข้อสันนิษฐานว่า ลักษณะกำแพงเมืองและคูเมือง น่าจะสร้างหลังชุมชนโบราณ ๔ แห่งนี้ โดยจงใจให้ชุมชนทั้ง ๔ เป็นเมืองบริวาร ซึ่งสมัยนั้น ละว้ามีอำนาจปกครองดินแดนแถบนี้ ต่อมาเมื่อละว้าเสื่อมอำนาจลง ขอมเริ่มแผ่อำนาจขึ้นมาปกครองแทนละว้า โดยเฉพาะกษัตริย์องค์หนึ่งของขอมชื่อว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกรุงกัมพูชาซึ่งเป็นนักรบ ได้ขยายอำนาจการปกครองจากประเทศกัมพูชา ขึ้นครอบคลุมไปถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี) เวียงจันทร์ ตลอดทางใต้จนถึงแหลมมาลายู นอกจากกษัตริย์พระองค์นี้จะเป็นนักรบแล้วยังเป็นนักก่อสร้างด้วยโดยสร้างเมืองนครธม ในเขตกัมพูชา (ระหว่าง ค.ศ.1181- ค.ศ.1219 ) นอกจากนี้ได้สร้างปราสาทขึ้นหลายแห่งบนภูเขา เช่น ปราสาทเขาพระวิหารเมืองต่างๆ พร้อมทั้งสร้างถนนให้ติดต่อเชื่อมโยงกันระหว่างเมืองที่เป็น เมืองหน้าด่าน และปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาในสมัยนั้นจังหวัดสุรินทร์ พบหลักฐานการอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งมีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้ว มีอายุราว 2,500 - 1,500 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะทางตอนเหนือของจังหวัดแถบอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี โดยอาศัยกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ และแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำชี โดยเฉพาะหลักฐาน ที่แสดงถึงประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 คือการนำกระดูกของผู้ตายมาใส่ภาชนะดินเผาแล้วนำไปฝังอีกครั้ง สันนิษฐานว่าประเพณีความเชื่อนี้เกิดจากการฝังศพ แบบนอนหงายเหยียดยาวก่อนแล้วจึงพัฒนาเป็นนำกระดูกใส่ภาชนะต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา จึงมีพิธีการเผาศพขึ้น
กลุ่มชนในสมัยนี้มีเทคโนโลยีค่อนข้างสูงการใช้เครื่องมือเหล็ก ทำให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อยู่อาศัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การขุดคูน้ำคันดินจัดระบบชลประทาน ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในชุมชนโบราณกว่า 59 แห่ง โดยชุมชนมักจะตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ชุมชนโบราณบ้านสลักได อำเภอเมือง ชุมชนโบราณบ้านพระปืด อำเภอเขวาสินรินทร์ ชุมชนโบราณบ้านปราสาททนง อำเภอปราสาท แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสวรรค์ อำเภอชุมพลบุรี เป็นต้น
เช่นเดียวกับการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณที่ชุมชนโบราณบ้านพระปืด เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งมีไหทำด้วยภาชนะดินเผา ตามความเชื่อที่คนโบราณจะนำไปฝังอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และร่องรอยการขุดพบมีให้เห็นถึงปัจจุบันโดยครั้งก่อนหน้านี้มีการพบพระ หรือเทวรูปเล็ก ๆ เครื่องประดับที่เป็นกำไล อยู่เป็นเนืองๆหมู่บ้านพระปืด มีลักษณะการก่อสร้างคล้ายคลึงเมืองสุรินทร์ แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีคูน้ำ มีกำแพงดินแบบเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการอนุรักษ์ไว้ และคงรูปเดิมมากที่สุด เชื่อแน่ว่า ในอดีตคงจะเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่ง เคยมีถนนโบราณออกจากเมืองสุรินทร์ ทางทิศตะวันออกขนาดกว้าง 12 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ผ่านบ้านแสตง บ้านหนองตะครอง บ้านภูดิน ไปถึงบ้านพระปืด และเลยไปยังบ้านแสรออ ที่มีปราสาทโบราณ (ปราสาททอง) อยู่ด้วย 1 แห่ง แต่บัดนี้ได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว จากตำนานคำบอกเล่าที่เป็นที่มาของ บ้านพระปืด

ตำนานที่ 1
นานมาแล้วมีชาวกวยบ้านจอมพระไปขุดเผือกขุดมันในป่าแล้วมีตัวอะไรมาเลียแผ่นหลัง ชาวบ้านคนนั้นตกใจจึงขว้างเสียมไปถูกสัตว์นั้นวิ่งหนีไป มองไวๆ เห็นเป็นกวางขนทอง (บ้างเล่าว่ามีกระดิ่งทองผูกคอด้วย) จึงวิ่งตามไป หว่าเห็นแต่รอยเลือด เมื่อแกะรอยไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายหมู่บ้าน (เช่นบ้าน ซแรออร์) จนใกล้เที่ยงจึงหยุดกินข้าว (ต่อมาได้ชื่อ "บ้านฉันเพล") แล้วตามไปจนถึง "บ้านเมืองที" จากนั้นรอยเลือดนั้นก็หายไปบริเวณป่าแห่งหนึ่ง เขาก็ไม่ย่อท้อ สู้บุกฟันป่าเข้าไป ในที่สุดก็พบปราสาท เมื่อเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ข้างใน เขาก็พลันร้องขึ้นด้วยความประหลาดใจว่า "เปรี๊ยะ! ปืดๆๆ"เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ เขาเห็นเลือดซึมออกมาจากพระชงฆ์ (แข้ง) ขวา จึงเชื่อว่ากวางทองก็คือพระพุทธรูปองค์นี้นั่นเอง
เปรียะปืด เป็นภาษากวย แปลว่า พระใหญ่ เชื่อกันว่าคำอุทานของชาวกวยนี่เองคือที่มาของชื่อหมู่บ้านพระปืด

ตำนานที่ 2
เมื่อราว พ.ศ. 2300 "เชียงปุม" กับ "เชียงปืด" สองพี่น้องชาวกวยได้มาตั้งหมู่บ้านเมืองที ต่อมาเชียงปุมช่วยจับช้างเผือกส่งคืนให้กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กระทั่งได้รับบำเหน็จเป็นเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก เมื่อหมู่บ้านเมืองทีมีคนหนาแน่นมากขึ้น ตาพรหม (สันนิษฐานว่าเป็นลูกของเชียงปืด) จึงนำครัวบางส่วนอพยพมาอยู่ที่บริเวณปราสาทพระปืด ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนมาก่อนนั่นเอง ดังนั้นชุมชนปัจจุบันน่าจะสืบเนื่องมากจากคนรุ่นตาพรหม คะเนอายุน่าจะตกประมาณ 200-250 ปี เป็นอย่างต่ำ บ้านพระปืดจึงอาจจะมาจากชื่อ "เชียงปืด" อีกทางหนึ่งด้วย
ปัจจุบัน บ้านพระปืด ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.บ้านแร่ กิ่ง อ.เขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันบ้านแห่งนี้เหลือแต่คนพูดภาษาเขมร ในขณะที่ชื่อหมู่บ้านและชื่อวัดเป็นภาษากวย ส่วนโบราณสถานภายในวัดกลับร่วมขนบของศิลปะลาว และจากปากคำของคนปัจจุบันที่รุ่นคุณปู่เคยอพยพ
ครอบครัวมาอยู่ที่บ้านแห่งนี้เล่าว่า บ้านเมืองแถบนี้มีลาวอาศัยอยู่ก่อนแล้ว บ้านพระปืดนี้มีโบราณสถาน คือปราสาทแก้วปัจจุบันตั้งอยู่ ณ วัดปราสาทแก้ว ซึ่งบริเวณนี้ถือเป็นชุมชนโบราณอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ (เมืองโบราณ ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2546 หน้า 130-133)วัดบ้านพระปืดหรือ วัดปราสาทแก้ว ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองชั้นใน ริมคูเมือง ด้านตะวันออก ที่ตั้งของวัดค่อนไปทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ความเป็นมาของวัดไม่มีการจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด อาศัยจากการสอบถามข้อมูลผู้สูงอายุ ว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2449 มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชือพระภิกษุปรึล บ้านเดิมอยู่ทางเขตอำเภอสังขะ เป็นโรคลมบ้าหมูได้มาขอให้อาจารย์ทุย เจ้าอาวาสวัดบ้านสดอ ทำการรักษา เมื่อหายดีแล้วก็อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ทุย ตลอดมา
ชาวบ้านพระปืด ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านสดอ ไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร เห็นว่าบ้านพระปืดยังไม่มีวัด การทำบุญต้องไปที่วัดบ้านสดอ ซึ่งเป็นระยะทางไกล และมีความลำบากในการเดินทางไปมา เพราะทางไม่สะดวกจึงได้คิดสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้านของตนเอง นายอุก นางวัน ซึ่งเป็นหัวหน้า จึงได้นำชาวบ้านไปปรึกษาหารือกับท่านอาจารย์ทุย และขอพระภิกษุปรึล มาช่วยสร้างวัด และเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อพระอาจารย์ทุยได้รับอนุญาตแล้ว พระภิกษุปรึล ร่วมกับชาวบ้านพระปืดได้ปรึกษาหารือถึงสถานที่ ที่จะสร้างวัดแล้ว มีความเห็นต้องกันว่า บริเวณที่มีปราสาทโบราณตั้งอยู่นั้น เป็นที่เหมาะสมที่จะตั้งวัดขึ้น จึงได้พากันถากถางวัชพืชและตัดต้นไม้ซึ่งขึ้นรกรุงรังบริเวณปราสาทให้เป็นลานกว้างและพากันสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้น ใกล้องค์ปราสาทให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุปรีลองค์ปราสาทโบราณ (ปราสาทแก้ว) สร้างด้วยศิลาแลง แต่ไม่มีลวดลายใดๆ ไม่ทราบได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ณ ที่องค์ปราสาทแห่งนี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ 1 องค์ ซึ่งมีลักษณะสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ถูกมารศาสนามาลักลอบตัดเอาเศียรไป เมื่อ พ.ศ. 2523 ปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสได้ให้ช่างสร้างเศียรใหม่ ซ่อมเรียบร้อยแล้ว เล่ากันว่า เมื่อได้ทำการถากถางบริเวณรอบๆ ปราสาทนั้น มีพระพุทธรูปเล็กๆตั้งเรียงรายอยู่รอบปราสาทเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันหายหมดแล้ว นอกจากพระพุทธรูปในองค์ปราสาทแล้ว ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีก 1 องค์ ซึ่งมีขนาดพอที่คนจะยกได้สบายๆ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่การเสี่ยงทาย ยกองค์ท่าน ผู้เสี่ยงทายต้องอธิฐานเสียก่อน เช่น จะประกอบกิจการสิ่งใด หากสำเร็จดังปรารถนา ก็จะสามารถยกองค์พระพุทธรูปได้ ซึ่งเจ้าอาวาสและชาวบ้านก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันเช่นนี้
ทางด้านทิศตะวันออกขององค์ปราสาทไปประมาณ 10 เมตร จะมีกองหินขนาดย่อมกองอยู่ 1 กอง กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่า จะนำมาสร้างปราสาท แต่สร้างไม่เสร็จก็กองไว้ กองหินดังกล่าวชาวบ้านเรียกว่า "ตากรึรร์" ได้เคยสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เห็นบ่อยครั้ง หากผู้ใดไปล่วงเกินเข้าจะมีอาการไม่ปกติต่างๆนานา แต่เมื่อไปบนบาลกับ "ตากรึร์" ก็จะหายเป็นปกติ ท่านเจ้าอาวาสได้เคยบอกเล่ากับผู้เขียน(สิงห์ ชโยจ) ว่า ครั้งหนึ่งท่านให้เด็กวัดไปขอยืมโคเกวียนของชาวบ้าน ไปขนฟืนมาไว้ใช้ในวัด เมื่อขนเสร็จ วัวตัวหนึ่งได้ขึ้นไปกินหญ้าบนกองหิน เกิดตกลงมาแล้วมีอาการชักกระตุก คอบิดเบี้ยวอยู่กับที่ จนท่านเจ้าอาวาสตลอดพระเณรที่เห็นเหตุการณ์คิดว่าไม่รอด แต่เมื่อได้บวงสรวง เซ่นไหว้ และขอขมาต่อ "ตากรึร์" แล้ว วัวตัวนั้นก็หายเป็นปกติและลุกขึ้นกินหญ้า เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความอัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
Category
Ethnic
Location
Tambon บ้านแร่ Amphoe Khwao Sinarin Province Surin
Details of access
Reference chaichana boonsan Email pom_kung21@hotmail.com
Organization สนง.สุรินทร์
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่