ผักหนอก เป็นชื่อพืชล้มลุกชนิดหนึ่งหนึ่งมีเรียกตามแต่ละภูมิภาคต่างกันไป อาทิเช่น บัวบก จำปาเครือ ผักแว่น แว่นโคก ปะหนะเอชาเด็าะ ผักหนอกมีลำต้น เลื้อยยาวไปตามพื้นดิน แตกรากและใบตามข้อออกเป็นกระจุกที่ข้อ ข้อละ ๒ - ๑๐ ใบ ใบกลมขอบใบยักเล็กน้อย ผิวใบด้านบนเรียบ ด้านล่างมีขนอ่อน ออกดอกเป็นช่อคล้ายร่ม เดี่ยว ๆ หรือมีประมาณ ๒ - ๕ ช่อ ช่อหนึ่งมี ๓ - ๔ดอก
มีความเชื่อคนโบราณว่า ห้ามหญิงชายเดินเหยียบย่ำ เนื่องจากผักหนอกเป็นผักที่มีคุณประโยชน์มากมาย ส่วนคำว่า “หนอก” นั้นเป็นภาษาทางภาคเหนือและบางส่วนของจังหวัดสระบุรี แปลว่า ที่สูง ที่เนิน เนื่องผักชนิดนี้ชอบขึ้นตามที่เนิน ตามสวน หรือตามคันนาจึงเรียกผักชนิดนี้ว่า “ ผักหนอก”
ประโยชน์ของผักหนอกนอกจากใช้รับประทานกับน้ำพริกแล้วยังมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพร คือ ต้นหนอกทั้งต้นมีรสชาติหอมเย็น บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน หรือฟกช้ำบวม แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ รักษาบาดแผล แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โรคปวดศีรษะข้างเดียว แก้โรคเรื้อน แก้กามโรค แก้ตับอักเสบ แก้อาการเริ่มเป็นบิด ทำให้เลือดแผ่ซ่าน แก้ท้องร่วง เป็นยาขจัดเลือดเสีย แก้โรคผิวหนัง แก้พิษงูกัด แก้มุตกิด ระดูขาว นอกจากนั้น ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ น้ำลายไหล แก้เด็กเป็นซางตัวร้อน ผอมแห้ง ร้อนในกระหายน้ำใบ ขับปัสสาวะ ซ่อมแซมสิ่งสึกหรอ และบำรุงร่างกาย ส่วนเมล็ด มีรสขม แก้บิด แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ