พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร ได้ดำเนินการจัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยนางสาวจันทร์ลดา บุญยมานพ สถาปนิก กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ลักษณะอาคารเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น พื้นที่ 812 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2506 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,290,522.99 บาท (หนึ่งล้านสองแสนเก้าหมื่นห้าร้อยยี่สิบสองบาทเก้าสิบเก้าสตางค์) จากงบประมาณแผ่นดินสมทบกับเงินบริจาคของประชาชนชาวสุโขทัย จากนั้น ได้มอบหมายให้หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี และนายทิพา สังขะวัฒนะ นายช่างศิลปโท กองสถาปัตยกรรม ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรให้เหมาะสมกับตัวอาคาร ถูกต้องตามหลักวิชาการด้านศิลปะโบราณคดีและตามหลักวิชาพิพิธภัณฑสถาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2507 |
ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคาร เป็นการร่วมฉลองครบ 700 ปี และตั้งชื่ออาคารนี้ว่า "อาคารอนุสรณ์ 700 ปี สายสือไท" สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทรงเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ใช้เป็นห้องประชุมและห้องจัดนิทรรศการชั่วคราว |
การจัดการแสดง
ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ส่วนใหญ่เป็นศิลปะสุโขทัย ซึ่งเก็บรวบรวมจากการขุดค้น ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา บางส่วนได้จากบริเวณเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และพิจิตร อีกส่วนหนึ่งเป็นของพระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานี เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยและประชาชนมอบให้ ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงได้แก่ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยสังคโลก พระพุทธรูปแบบต่างๆ พระพิมพ์ที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถาน เทวรูป และอาวุธโบราณ | ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง มีอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 หลัง ประกอบด้วย - อาคารลายสือไท เป็นอาคารชั้นเดียว จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสุโขทัยในด้านต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงการพัฒนาเมืองสุโขทัยให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ภายในอาคารยังมีห้องประชุมสำหรับการสัมมนา บรรยายพิเศษ ส่วนบริการนักท่องเที่ยว ที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก - อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่งและบูรณะแหล่งโบราณคดีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และจังหวัดใกล้เคียง โดยแบ่งการจัดแสดงเป็นกลุ่มสำคัญๆ ดังนี้ | 1. ประติมากรรมปูนปั้นที่ได้จากวัดพระพายหลวงและวัดมหาธาตุ มีทั้งรูปบุคคล เทวดา และพระพุทธรูป ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปปูนปั้นจากวัดพระพายหลวง จะมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระโอษฐ์เล็กบาง พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยเล็ก ชายผ้าสังฆาฏิจะพับทบกันหลายชั้น กำหนดอายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ประติมากรรมจากวัดมหาธาตุ พระพักตร์จะเป็นรูปไข่ ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอย กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 สำหรับรูปเทวดาหรือรูปบุคคลนั้น วัดพระพายหลวงจะมีพระพักตร์หรือใบหน้าค่อนข้างกลม แต่ของวัดมหาธาตุจะเป็นรูปไข่ | 2. กลุ่มประติมากรรมก่อนศิลปะสุโขทัย ได้จากศาลตาผาแดง วัดพระพายหลวง วัดศรีสวาย จัดเป็นศิลปะลพบุรี กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 | 3. ศิลปะสุโขทัยพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 ศิลปะสุโขทัยเริ่มตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระ เมื่อราว พ.ศ. 1780 ศิลปะสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด มีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่เด่นชัด คือ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม (ตามแบบบุรุษ) พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายจีวรเป็นลายเขียวตะขาบ ในสมัยสุโขทัยยังนิยมทำพระพุทธรูปสี่อิริยาบทคือ ยืน เดิม นั่ง และนอน | 4. ศิลปะอู่ทอง ประติมากรรมรูปเคารพเนื่องในพุทธศาสนา มีทั้งปูนปั้นและสำริด ได้พบพระพุทธรูปในศิลปะอู่ทองตามวัดต่างๆ ในเมืองสุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อประมาณราวพุทธศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงเวลาที่ปรากฎหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยบางส่วนกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเส้นไรพระศกหนา ขมวดพระเกศากลมเล็กคล้ายหนามขนุน พระอุษณีษะเป็นรูปมะนาวตัด พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง | 5. ศิลปะอยุธยา พระพุทธรูปที่จัดแสดงลักษณะโดยทั่วไปยังคงมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย พระพักตร์รูปไข่ มีเส้นไรพระศกเล็ก ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กบาง นอกจากนี้ ในระยะหลังนิยมสร้างทรงเครื่อง กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 - 23 | 6. เครื่องถ้วยจีน ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองสุโขทัย พบทั้งสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และชิง | 7. เครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาทุเรียง เมืองสุโขทัย เตาป่ายาง และเตาเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย รูปแบบภาชนะเป็นแบบถ้วย กระปุก โถ แจกัน ชาม จาน คนโฑ กาน้ำ ตลับ รวมไปถึงตุ๊กตา และเครื่องประดับสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะต่างๆ น้ำยาเคลือบมีทั้งประเภทเคลือบสีเขียวหรือเซลาดอน เคลือบสีน้ำตาล เคลือบขาวหม่นหรือขาวน้ำนม เคลือบใสเขียนลายใต้เคลือบ และประเภทเคลือบสองสีคือขาวและน้ำตาล เป็นต้น | 8. พระพิมพ์ มีทั้งพระพิมพ์ดินเผาและเนื้อชิน ได้จากวัดพระพายหลวง วัดมหาธาตุ และวัดป่ามะม่วง เป็นต้น | 9. ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์ฯ ได้นำโบราณวัตถุบางส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง เช่น ใบเสมาหินชนวน ทับหลังหินทราย ฐานประติมากรรมหินทราย ระฆังหิน ลูกกรงที่ทำเป็นเครื่องเคลือบ สังคโลกจากวัดมังกร เตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลก (จำลอง) และช้างปูนปั้นซึ่งจำลองมาจากวัดช้างล้อมเมืองสุโขทัย วัดช้างล้อมเมืองศรีสัชนาลัย และวัดช้างรอบเมืองกำแพงเพชร อีกส่วนหนึ่งได้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นลักษณะศิลปะพื้นบ้านสุโขทัย |
|
โบราณวัตถุที่สำคัญประกอบด้วย
1. โถลายคราม : โถ หรือภาชนะรูปทรงคล้ายหม้อน้ำ ได้จากวัดพระพายหลวง นอกเมืองเก่าสุโขทัย ผลิตจากเตาจีนเต๋อเจิ้น มณฑลเกียงสี ลักษณะของภาชนะทรงกลม ตรงกลางผายกว้าง คอสูง เขียนลายดอกไม้และลายเครือเถา ปากกว้าง มนบ่า เขียนลายดอกเบญจมาศ ประกอบด้วยก้านและใบ ตรงกลางเขียนลายดอกเบญจมาศ ประกอบด้วยกิ่งและก้าน ถัดมาเขียนลายค้างคาวในเส้นวงกลมล้อมรอบ 2 เส้น ส่วนล่างเขียนลายอยู่ในช่องกระจกสี่เหลี่ยม ส่วนบนตรงกลางมีรอยหยัก ก้นภาชนะไม่เคลือบ
2. ธรรมจักรหินทราย : เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หากสร้างคู่กับกวางหมอบ ก็หมายถึงการแสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสัปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย ลักษณะของธรรมจักรคล้ายวงล้อกลม มีดุมอยู่ตรงกลาง ประกอบด้วยซี่จำนวน 32 ซี่ และทำเป็นลายผักกูดล้อมรอบวงธรรมจักร ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
3. พระพุทธบาทสี่รอย : พระพุทธบาทสี่รอยสลักบนแผ่นหินชนวน ได้จากวัดพระบาทน้อย เมืองเก่าสุโขทัย ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยทำเป็นเส้นขอบพระบาทซ้อนกัน ส่วนรอยที่สี่หรือรอยในสุด จะทำเต็มฝ่าพระบาท และมีรอยเส้นทำเป็นลายฝ่าพระบาท แต่ลบเลือน ชำรุด เห็นไม่ชัดเจน พระบาทสี่รอยนี้ หมายถึง พระกกุสันธะ พระโกนาคม พระกัสสป และพระสมณโคดมการนับถือพระพุทธบาท หรือคตินิยมเกี่ยวกับพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัย ได้รับอิทธิพลมาจากลังกาในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 8 หรือจารึกเขาสุมนกูฏว่า พระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งจำลองมาจากลังกาไว้บนเขาแห่งหนึ่งของเมืองสุโขทัย และตั้งชื่อเขาแห่งนี้ว่า เขาสุมนกูฏ ตามชื่อภูเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทในลังกา สำหรับภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในเมืองสุโขทัย คือ เขาพระบาทน้อย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเก่าสุโขทัย
4. เกียรติมุข (หน้ากาล) : เกียรติมุข หรือหน้ากาล เป็นลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับซุ้มหน้าบันของโบราณสถาน โดยทั่วไปมักทำคู่กับลายมกร โดยทำลายมกรออกมาทั้งสองข้างของเกียรติมุข ลักษณะของเกียรติมุขจะทำเป็นรูปหน้ายักษ์ปนหน้าสิงห์ หรือใบหน้าของอสูรที่ดุร้าย คิ้วขมวด นัยน์ตากลม และถลน ปากกว้างเห็นฟันและเขี้ยว ไม่มีฟันล่าง ไม่มีลำตัว มีแขนออกมาจากด้านข้างของศรีษะคติความเชื่อเกี่ยวกับเกียรติมุข ได้รับความนิยมอย่างมากในอินเดีย ทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ใช้เป็นสิ่งประดับตามเทวสถานและพุทธสถาน เพื่อแสดงความเป็นเกียรติและเป็นมงคล และขจัดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ มิให้เข้ามาสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณภายใน
ที่มาของเกียรติมุข เข้าใจว่ากำเนิดในประเทศอินเดียก่อน บางท่านกล่าวว่ามีการกำเนิดในประเทศใดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย อาจจะได้มาจากประเทศธิเบต บางท่านก็ว่ากำเนิดที่ประเทศจีน มีรูปแบบซึ่งเรียกว่า เต้าเจ้ ปรากฏอยู่ ภาชนะสำริดของจีน สมัยช่วง 850 - 880 ปีก่อนพุทธกาล เป็นทำนองเดียวกับเกียรติมุขของอินเดีย หมายถึงเทพเจ้าผู้ตะกละ จากนั้นได้แพร่ไปทางบกไปยังประเทศอินเดีย ปรากฏอยู่ในศิลปะอินเดียสมัยอมราวดีและคุปตะ
ในประเทศไทย สันนิษฐานว่า เกียรติมุขคงแพร่เข้ามาในสมัยทวารวดีและศรีวิชัย โดยได้พบหลายแห่ง เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทำเป็นรูปประดับลายกาบที่เชิงซุ้มเจดีย์ สำหรับที่สุโขทัย พบที่ทำเป็นลายประดับยอดซุ้มหน้าบัน วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย
5. เตาทุเรียง (จำลอง) : จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทำการสำรวจขุดแต่งแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกในเขตเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่มีชื่อเสียง แยกได้ดังนี้
- เตาทุเรียงสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบลำน้ำแม่โจน เป็นกลุ่มเรียงรายทางด้านทิศเหนือ - ใต้
- เตาทุเรียงศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม เรียงรายเป็น 3 กลุ่ม ที่บ้านป่ายาง บ้านเกาะน้อย และที่วัดดอนลาน
ลักษณะของเตาเผาที่พบจากแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกทั้ง 2 แหล่ง ที่กล่าวมานั้น อาจจำแนกออกตามลักษณะทางเดินของลมร้อน (คือความร้อนภายในเตาที่ถูกบังคับให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ) ได้ 2 ประเภท คือ
- เตาเผาชนิดความร้อนระบายขึ้น
- เตาเผาชนิดทางลมร้อนเดินผ่านหรือเดินตรง ซึ่งแบ่งเตาเป็น 3 ตอน คือ ที่ใส่ไฟ, ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟ
ชนิดของเตาอาจแบ่งได้ตามลักษณะโครงสร้างและวัสดุที่นำมาใช้ คือ
- เตาดินขุด
- เตาดินขุดผสมการก่ออิฐดิน
- เตาอิฐ
6. เทวรูป : เทวรูปองค์นี้ได้จากศาลตาผาแดง เมืองเก่าสุโขทัย สภาพปัจจุบันเหลือแค่พระวรกาย ส่วนเศียร พระกร และพระบาทหักหาย เครื่องประดับที่พระวรกายมีกรองศอ (สร้อยคอ) ทำเป็นแผ่นใหญ่ใกล้พระศอ กึ่งกลางของขอบล่างทำเป็นปลายแหลม ลวดลายกรองพระศอประกอบด้วยลายดอกไม้ลักษณะกลม ลายลูกประคำ ส่วนขอบล่างเป็นลายใบไม้ทรงสังวาล 2 เส้น พาดพระอังสาซ้ายขวาไขว้ทับกันบริเวณกลางอุระ สายสังวาลทำเป็นลายลูกประคำ และสายประจำยาม สายรัดองค์จะอยู่ใต้ขอบของผ้าทรง โดยทำเป็นสายประจำยามล้อมรอบด้วยลายลูกประคำ ต่อจากขอบด้านล่างมีลายรูปใบไม้ห้อยลงมา ชายพกจะพาดทับสายรัดองค์ตรงพระวรกายด้านขวา มีลักษณะปลายแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นแนวลงมา
เทวรูปองค์นี้พบร่วมกันอีก 4 องค์ ที่ศาลตาผาแดง เมืองเก่าสุโขทัย นักประวัติศาสตร์ศิลปะกำหนดเป็นแบบศิลปะลพบุรี รับอิทธิพลจากศิลปะขอมแบบบายน โดยเทียบกับลวดลายเครื่องประดับ คล้ายกับที่พบที่ปราสาทบันทายฉมาร์ กัมพูชา
7. บันแถลงรูปพระไภษัชยคุรุ : เป็นประติมากรรมนูนสูง สลักจากหินทราย สร้างในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นั่งขัดสมาธิอยู่ภายในซุ้ม ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างแบน ไรพระศกเป็นเส้นหนา ขมวดพระเกศากลม พระรัศมีคล้ายดอกบัวตูม พระขนงตัดกันเป็นรูปปีกกา จนเกือบเป็นเส้นตรง พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แสดงอารมณ์ยิ้มเล็กน้อย ประทับนั่งบนฐานปัทม์ พระหัตถ์ทรงถือหม้อน้ำมนต์ กรอบซุ้มมีลักษณะเป็นวงโค้งหลายวงต่อกัน บนกรอบซุ้มด้านนอกบริเวณกึ่งกลางประดับด้วยลายรูปสามเหลี่ยม จากนั้นมีลายเรียงต่อกันทั้งสองข้าง เรียกกันว่า "ใบระกา" ปลายซุ้มทั้งสองข้างขมวดขึ้นเป็นลายกนก องค์พระไภษัชยคุรุและกรอบซุ้มแสดงถึงรูปแบบศิลปะลพบุรี บันแถลงใช้ประดับส่วนเหนือเรือนธาตุของปราสาทศิลปะลพบุรี ตรงด้านทั้งสี่บนชั้นลดในระดับเดียวกันกับกลีบขนุน
8. พระนารายณ์ : พระนารายณ์หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่าพระวิษณุ ในศาสนาพราหมณ์ พระพรหมเป็นผู้สร้าง พระนารายณ์เป็นผู้รักษา และพระอิศวรเป็นผู้ทำลาย พระนารายณ์ทรงบรรทมอยู่เบื้องหลังพระยาอนันตนาคราช เมื่อโลกถูกทำลายลง และทรงสร้างโลกขึ้นใหม่ด้วยดอกบัวที่ผุดออกมาจากพระนาภีของพระองค์ และมีพระพรหมผู้สร้างโลกประทับอยู่บนนั้น พระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด ในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย มีสี่กร ทรงถือจักร สังข์ ครุฑ และดอกบัว ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีมเหสีนามว่าพระลักษมี
9. พระพุทธรูปปางมารวิชัย : พระราชประสิทธิคุณเจ้าอาวาสวัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย มอบให้
พระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานี และเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้มาจากวัดลาวพันลำ เมืองเก่าสุโขทัย ลักษณะองค์พระเป็นศิลปะสุโขทัย หมวดใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง ปลายงุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์เล็กเรียวบาง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระอุษณีษะเป็นรูปมะนาวตัด พระรัศมีรูปเปลวเพลิง พระวรกายได้สัดส่วน พระอังสาผายกว้าง บั้นพระองค์เล็ก พระสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนอาสนะฐานหน้ากระดาน 3 ขา พระพุทธรูปองค์นี้มีจารึกที่ฐาน ดังนี้ "พระเจ้า นายญี่บุญแลแม่จัน แลนางเริ่มนางไร แล้วเจ้าไสอานนท์ลูกชาย สายใจชื่อนางยอด ตูทั้งหลาย ขอพบพระศรีอาริยไมตรี เจ้าอั้น"
ลักษณะของตัวอักษรจารึก กำหนดอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 20 และเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก หมายเลขทะเบียน ส.ข.1
หมายเหตุ ไส = ลูกชายคนที่สี่, สายใจ = ภรรยา
10. พระพุทธรูปปางมารวิชัย : พระพุทธรูปองค์นี้ได้จากเจดีย์ราย วัดมหาธาตุ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระโอษฐ์บาง พระกรรณทั้งสองข้างยาว ปลายงอนออก เม็ดพระศกเป็นก้นหอย พระอุษณีษะเป็นรูปมะนาวตัด พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง ครองจีวรห่มเฉียงแบบพระองค์ ชายสังฆาฏิจรดพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ ขัดสมาธิราบ ประทับนั่งบนอาสนา 4 ขา
11. พระพุทธรูปปางลีลา : พระราชประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดราชธานี มอบให้ เดิมนำไปจากเมืองเก่าสุโขทัย ไปอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2500 องค์พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบทที่เคลื่อนไหว หรือเดินบนแท่นบัวหงายที่มีลักษณะรองรับด้วยฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง ก้าวพระบาทซ้ายไปข้างหน้า ยกสันพระบาทขวาขึ้นเล็กน้อย พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า ส่วนพระหัตถ์ขวาปล่อยลงขนานไปกับพระวรกาย
พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จัดเป็นศิลปะสุโขทัย หมวดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัยโดยเฉพาะ คือมีพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ
พระพุทธรูปลีลาลอยตัวองค์นี้ จัดเป็นประติมากรรมสำริดที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่ง ที่แสดงถึงฝีมือชั้นสูงของช่างสมัยสุโขทัย การทำพระพุทธรูปลีลาลอยตัวในสมัยสุโขทัย อาจเปรียบเทียบกับภาพปูนปั้นบนผนังอาคาร วัดตระพังทองหลางนอกเมืองสุโขทัย ด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีองค์ประกอบเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังทรงเทศนาโปรดพุทธมารดา
12. พระพุทธรูปปูนปั้น : องค์พระพุทธรูปองค์นี้เหลือเฉพาะส่วนท่อนบนขององค์ มีลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม เม็ดพระศกกลมเรียงชิดกัน แนวพระศกย้อยต่ำลงเล็กน้อย พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง เป็นวงโค้งไม่ต่อกัน พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บาง ริมพระโอษฐ์ล่างหนา มุมพระโอษฐ์เผยอขึ้นเล็กน้อย พระหนุเป็นปมเด่นชัด พระองค์ครองจีวรแบบห่มเฉียง สังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายเหนือพระถัน ปลายจีวรเป็นริ้วแยกเป็นสองแฉก แฉกหนึ่งแตกหายไป
13. ทวารบาล (ยักษ์สังคโลก) : ทวารบาลสังคโลกองค์นี้ ได้จากเมืองศรีสัชนาลัย เป็นเครื่องสังคโลกที่ใช้ประดับตกแต่งอาคาร เคลือบน้ำยาสีขาวขุ่น ทำเป็นลักษณะยืน มือทั้งสองคุมกระบอง หัวและลำตัวมีเครื่องประดับ ซึ่งประกอบด้วยมงกุฎ สร้อยคอ กำไลแขน และกำไลข้อมือ ชักชายผ้าออกด้านหน้าคล้ายหางปลา
ความเชื่อเรื่องยักษ์ในคติโบราณคดีคือ มีหน้าที่เฝ้าสมบัติในแผ่นดิน ส่วนนาคมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินในน้ำ ทวารบาลหรือตุ๊กตารูปคล้ายยักษ์ประเภทนี้ มักพบมากที่แหล่งเตาป่ายาง
14. มกร : ในสมัยสุโขทัย เครื่องสังคโลกได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในการใช้ประดับ และตกแต่งงานด้านสถาปัตยกรรม โดยทำเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย เช่น มกร ซึ่งมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสม คือ สิงโต นาค มังกร ช้าง แพะ จระเข้ ปลา ควาย เป็นต้น
15. กระปุกทรงสูง : กระปุกทรงสูงคล้ายขวด ได้จากเตาทุเรียง บ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะหูจับตรงส่วนคอ 2 หู ปากแคบ คอสั้นและคอดเข้า ไหล่ลาด ลำตัวผายออกไม่มากนัก ส่วนก้นจะเรียวสอบเข้ามา และมีเชิงซึ่งผายออกเล็กน้อย เคลือบน้ำยาสีน้ำตาลเข้ม จากส่วนก้นขึ้นมาเล็กน้อยจะไม่เคลือบ มองเห็นเนื้อดิน และโดยรอบกระปุกจะมีลายร่องเล็กๆ
16. ตุ๊กตา : ตุ๊กตาสังคโลกรูปมวยปล้ำนี้ หม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต ประทานให้ เป็นตุ๊กตามวยปล้ำเคลือบน้ำยาสีเขียว (เซลาดอน) เป็นรูปลักษณะบุคคลชายกอดกัน พบที่เตาบ้านเกาะน้อย การทำตุ๊กตาในสมัยสุโขทัยแพร่หลายมาก นอกจากจะทำเป็นรูปบุคคลแล้ว ยังทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ด้วย ตุ๊กตาดังกล่าวทำขึ้นเพื่อเป็นของเล่นเด็ก และใช้ในการสะเดาะเคราะห์ให้กับคนที่เจ็บป่วย พบมากที่กลุ่มเตาบ้านป่ายาง เรียกว่า "เตาตุ๊กตา"
17. บานประตูไม้จำหลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์ : บานประตูไม้แกะสลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์นี้ เดิมเป็นบานประตูพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ลักษณะของเทวดายังคงมีอิทธิพล ศิลปะสุโขทัย พระพักตร์รูปไข่ สวมเทริด คิ้วต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวเล็ก พระกรรณทรงกุณฑล ทรงกรองศอ ทองพระกร เทวดาองค์ขวาพระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทอดแนบพระองค์ ทรงผ้า 2 ชั้น ชักชายด้านในออกมาด้านข้าง ประทับยืนอยู่ในซุ้มพันธุ์พฤกษา ส่วนองค์ด้านซ้ายพระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายหักหายไป
บานประตูไม้จำหลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์ คล้ายคลึงกับรูปเทวดาทรงพระขรรค์ จากซุ้มคูหาสถูปวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่างกันที่เทวดาวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้น พระวรกายไม่อวบอ้วนเหมือนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองศรีสัชนาลัย และทรงสวมกรองศอ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอยุธยา