ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 0' 12.2087"
14.0033913
Longitude : E 100° 39' 52.9564"
100.6647101
No. : 192492
นางศรีนวล ขำอาจ
Proposed by. ปทุมธานี Date 17 March 2020
Approved by. ปทุมธานี Date 17 March 2020
Province : Pathum Thani
0 1648
Description

ประวัติส่วนตัว

นางศรีนวล ขำอาจ ปัจจุบันอายุ 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2490 ณ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายผ่อง และนางใบ ขำอาจ บิดา-มารดาประกอบอาชีพทำนา เป็นบุตรคนที่ 8 ในจำนวน 12 คน สมรสแล้วมีบุตรหญิง 1 คน คือ นางสาวนิรามัย นิมา

ปัจจุบัน นางศรีนวล ขำอาจ อยู่บ้านเลขที่ ๑๙/๔ หมู่ ๓ ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี 12140 โทร ๐8-1874-8615

นางศรีนวล มีความสนใจใฝ่รู้ในศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยสามารถจดจำคำร้อง ท่ารำ และฝึกฝนด้วย ตนเอง หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดกลางทอง (วัดปุรณาวาส) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี จึงได้เริ่มฝึกหัดการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) จากครูเต๊ะ นิมา ซึ่งเป็นบิดาของนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) ต่อมาได้เรียนรู้การขับร้องเพลงพื้นบ้านเพิ่มเติมจากครูเพลงอีกหลายท่าน อาทิ แม่ทองอยู่ รักษาพล แม่ทองหล่อ ทำเลทอง พ่อพรหม เอี่ยมเจ้า แม่บัวผัน จันทร์ศรี แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (นางเกลียว เสร็จกิจ) และ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ใน พระบรมราชูปถัมภ์ นางศรีนวล ขำอาจ ออกแสดงลำตัดเป็นครั้งแรกกับคณะบุญช่วย และด้วยความเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบ และลีลาการร้องการรำอันสวยงาม จึงทำให้แม่ทองเลื่อน คุณพันธ์ครูลำตัดอาวุโสสนับสนุนให้เข้าร่วมในคณะลำตัด ของหวังเต๊ะ นับแต่นั้นเป็นต้นมา รับบทนางเอกทำหน้าที่แม่เพลงร้องนำ ด้วยความรักในงานแสดงจึงพยายามศึกษา เพิ่มเติมจากครูเพลงรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียง ทำให้พัฒนาฝีมือในการแสดงมากขึ้น รวมถึงได้รับคำแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการแสดงลำตัดจากนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) หัวหน้าคณะซึ่งเป็นทั้งครูและคู่ชีวิต ในช่วงเวลาเกือบ ๖ ทศวรรษ นางศรีนวลได้สร้างสรรค์ผลงานการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) มาอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถด้านการขับร้อง ด้นสด การประพันธ์บทร้องลำตัด สร้างสรรค์ท่ารำประกอบการแสดงลำตัด จนเป็นมาตรฐานให้กับศิลปินลำตัดทั่วไป เผยแพร่การแสดงผ่านสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบสู่สังคม รักษากฎเกณฑ์การใช้ภาษาที่สุภาพ และปรับวิธีการแสดงให้ เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นผู้สร้างศิลปินลำตัดรุ่นใหม่และถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัล ต่างๆ มากมาย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติจึงนับได้ว่าเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านชั้นนำที่สามารถอนุรักษ์สืบสาน ศิลปะและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ผ่านบทร้องรำที่ไพเราะ มีอารมณ์ขัน เป็นผู้ใฝ่รู้ พัฒนาตนเองอยู่ เสมอ นำความรู้ในโลกปัจจุบัน ปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เพื่อปลุกจิตสำนึกและภาคภูมิใจใน ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) ผ่านการแสดง การส่งเสริม การฝึกอบรม โดยเปิดบ้านพักให้เป็น “แหล่งเรียนรู้เพลง พื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล” ถ่ายทอดแก่เยาวชน และประชาชน ผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มความรู้ความสามารถ และ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้กับสถาบันทางการศึกษาหลายแห่ง ตลอดจนให้การช่วยเหลืองานสาธารณกุศลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ นางศรีนวล ขำอาจ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน - ลำตัด) พุทธศักราช ๒๕๖๒

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2505 (อายุ 15 ปี) ด้วยความสนใจและมีใจรักศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน (ลำตัด) มาตั้งแต่เด็ก ๆ หลังจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้ศึกษาต่อเนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงไปขอฝึกหัดการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) จากครูเต๊ะ นิมา ซึ่งเป็นบิดาของนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) นับเป็นครูคนแรกในสายศิลปะการแสดง จากการเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบ มีความสามารถในการใช้ภาษามาแต่เยาว์วัย หลังจากศึกษาและฝึกซ้อมการร้องลำตัดจากครูเต๊ะ นิมา ได้เพียง 3 เดือน ก็สามารถออกแสดงลำตัดเป็นครั้งแรกได้ ใน “คณะบุญช่วย” ผู้เป็นน้องชายของนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) โดยแสดงร่วมกับแม่อุ่นเรือน ยมเยี่ยม (น้องสาวแม่ประยูร) พ่อบุญปลูก และพ่อมนตรี

พ.ศ. 2506 แม่ทองเลื่อน ครูลำตัดอาวุโสซึ่งเป็นที่เคารพของคนในวงการเพลงพื้นบ้าน เห็นความสามารถที่ปรากฏออกมาอย่างเด่นชัดในฐานะ “แม่เพลงลำตัด” จึงสนับสนุนให้นางศรีนวล เข้าร่วมกับคณะลำตัดของพ่อหวังเต๊ะ นิมา และแม่ประยูร ยมเยี่ยม เพื่อให้เป็นนักแสดงหลักอีกคนหนึ่งของคณะนับแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2512 ร่วมแสดงลำตัดคณะ “หวังเต๊ะ” ในรายการวิทยุในส่วนกลางคือ สถานีวิทยุ 1 ปณ.และในส่วนภูมิภาคเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยรูปแบบรายการจะใช้การแสดงลำตัดดึงดูดใจของผู้ฟังเนื้อหา จะมีการประชาสัมพันธ์สินค้าไปในตัวซึ่งเป็นที่ชื่นชมของผู้ฟังมาก

พ.ศ. 2513 ร่วมแสดงลำตัดคณะ “หวังเต๊ะ” หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในงานเปิดอนุสาวรีย์ พระเจ้าอู่ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พ.ศ. 2516 (อายุ 26 ปี) สมรสกับนายหวังดี นิมา แสดงลำตัดคณะ “หวังเต๊ะ” เป็นอาชีพในฐานะนางเอกของคณะเป็นคนร้องนำ ร้องซักให้คนอื่นร้องต่อได้อย่างมีไหวพริบปฏิภาณเฉพาะตัว

พ.ศ. 2518 แสดงในรายการโทรทัศน์ “ลำตัดคณะหวังเต๊ะ” ครั้งแรกทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม และออกรายการเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางช่อง 5 ร้องลำตัดให้ประชาชนดู โดยเนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงการทำนา ชีวิตความยากเข็ญของชาวนา นอกจากนั้นยังได้ออกรายการโทรทัศน์ตามสถานีต่าง ๆ เช่น ช่อง 5 ที่ขอนแก่น ช่อง 8 ที่ลำปาง เป็นต้น

พ.ศ. 2520 บันทึกการแสดงลำตัดในรูปแบบของเทปคาสเซ็ต ลำตัดคณะหวังเต๊ะแม่ศรีนวล ชุด “ลำตัดตลก” และลำตัดคณะหวังเต๊ะแม่ศรีนวล ชุด “ลำตัดสิบสองภาษา” โดยลำตัดชุดจุดเทียนระเบิดถ้ำออกราว พ.ศ. 2524 - 2525 ขายได้เป็นแสน ๆ ตลับ ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีมาก

พ.ศ. 2524 บันทึกการแสดงลำตัดในรูปแบบของวีดิโอ ชุดแรกคือชุดจุดเทียนระเบิดถ้ำ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ควบคู่กับการออกเทปเสียงเพื่อจำหน่ายคนมีรายได้น้อย

พ.ศ. 2526 รับหน้าที่แต่งบทร้องสำหรับแม่เพลงในคณะลำตัด “หวังเต๊ะ” เพื่อร้องโต้ตอบพ่อเพลง โดยสามารถใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะคมคาย และสอดแทรกไปด้วยอารมณ์ขันที่เป็นเอกลักษณ์

พ.ศ. 2532 (10 ก.พ. 32)แสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในงานโครงการหลวง 20 ปี ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2537 (27 พ.ย. 37)แสดงเพลงพื้นบ้าน “เล่นเพลง” ร่วมกับ 3 ศิลปินแห่งชาติ ด้านเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ แม่บัวผัน จันทร์ศรี แม่ขวัญจิตต์ ศรีประจันต์ และพ่อหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) ณ วัดพังม่วง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

พ.ศ. 2537 (11 ธ.ค. 37)แสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในงานพรรณไม้งาม อร่ามสวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2538 (11 ธ.ค. 37)แสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ในงานพรรณไม้งาม อร่ามสวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2540 (16 พ.ค. ๔0)แสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดกำแพงเพชร

พ.ศ. 2543 บันทึกเทปการแสดงลำตัดในรูปแบบของแผ่น วีซีดี ชุดแรกคือ ลำตัดมหาสนุก ชุดที่ 1-2 คณะหวังเต๊ะแม่ศรีนวล โดยบริษัท เอจี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และออกชุดอื่น ๆ ในเวลาต่อมา รวม 11 ชุด และเทปโทรทัศน์ครั้งแรกกับบริษัท วี อาร์ ซี จากนั้นบันทึกเทปกับบริษัท เอส ดี วีดีโอ บริษัท บี พี เรคคอต และบริษัท เอ จี เรคคอต ตามลำดับ

พ.ศ. 2545 ร่วมแสดงละครพื้นบ้านเรื่อง “อุทัยเทวี” ทางไทยทีวีสีช่อง 7 ในฐานะนักแสดงละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ของบริษัทสามเศียร จำกัด ละครเพลงของบริษัทดีด้า วีดีโอโปรดักชั่น จำกัด บริษัทดาราวีดีโอ จำกัด การรับงานแสดงละครพื้นบ้านด้วยมีความมุ่งหวังว่า จะได้มีโอกาสได้เผยแพร่เพลงพื้นบ้าน ในสื่อโทรทัศน์ เพื่อให้เพลงพื้นบ้านเป็นที่รู้จักและกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

พ.ศ. 2547 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณางานวิจัยระดับปริญญาโท สาขาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๗

พ.ศ. 2549 (9 มิ.ย. 49) แหล่เทิดพระเกียรติ ในงานเพลงเทิดพระเกียรติ

พ.ศ. 2549 เป็นที่ปรึกษา และผู้ฝึกซ้อมร้องเพลงพื้นบ้าน ของนักแสดงในละครย้อนยุค เรื่อง “นางรัก นางทาส” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3

พ.ศ. 2554 (24 พ.ค. 54) การแสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถในงานฟรีคอนเสิร์ต อนุรักษ์เพลงไทยพื้นบ้าน (ภาคกลาง) และเพลงร่วมสมัย ไทย - สากล ณ ศูนย์การค้า สยามพารากอน กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2557 (16 มิ.ย. 57)แสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีเปิดห้องสมุด “พร้อมปัญญา” เรือนจำกลางบางขวาง

พ.ศ. 2557 (24 ก.ค. 57)แสดงลำตัดหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีเปิดอาคารสิริวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2559 นางศรีนวล ขำอาจ ประกอบอาชีพศิลปินเพลงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวหน้าคณะผู้ดูแลควบคุมคณะลำตัด “หวังเต๊ะ” ออกแสดงในงานต่างๆ นอกจากนั้นยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านเพลงพื้นบ้านให้แก่ผู้สนใจ หน่วยงานต่าง ๆ สถานศึกษาทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจในศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน “ลำตัด” รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้าน โดยไม่คิดเรียกร้องค่าตอบแทนแต่อย่างใด

พ.ศ. 2561 เป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชานาฎดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการทำปริญญานิพนธ์ สาขาศิลปะการแสดงศึกษา การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน นางศรีนวล ขำอาจ อายุ 72 ปี เป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและยังคงแสดงลำตัดเป็นอาชีพ โดยรับหน้าที่ดูแลควบคุมคณะลำตัด “หวังเต๊ะ” รับแสดงในงานต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นวิทยากร เป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านการแสดงพื้นบ้านในหน่วยงาน สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน แต่งบทร้องและฝึกซ้อมการแสดงลำตัดให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ขอความอนุเคราะห์ และ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเปิดบ้านพักเป็น “แหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลำตัดและเพลงพื้นบ้าน ภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล” เพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงให้แก่เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

Location
Province Pathum Thani
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี
Reference นวพร นวลประดิษฐ Email Culture_pathum@outlook.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี Email culture_pathum@outlook.com
No. 33/3 Road คลองวัดโส
Tambon บางปรอก Amphoe Mueang Pathum Thani Province Pathum Thani ZIP code 12000
Tel. 02-5934406ต่อ16 Fax. 02-5934406ต่อ15
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่