ในอดีต การใช้แสงสว่างเวลากลางคืนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำมันสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเพื่อจุดเป็นแสงของตะเกียง ต้องใช้แสงสว่างจากแสงเทียน โดยการนำขี้ของตัวผึ้งที่อาศัยอยู่ในป่ามาต้มรวมกันแล้วนำมากรองแยกสิ่งสกปรกออกไปเสร็จแล้ว จึงนำมาหลอมใส่พิมพ์จนสำเร็จเป็นแท่งเทียนขี้ผึ้ง นำมาจุดให้ความสว่างในเวลากลางคืนสำหรับบ้านเรือน และถวายให้พระใช้เวลาต้องการแสงสว่างในการอ่านพระไตรปิฎกท่องบทสวดมนต์หรือปฏิบัติกิจของสงฆ์ยามค่ำมืด จึงเรียกว่าเทียนขี้ผึ้ง ต่อมาขี้ผึ้งหายากขึ้น จึงเปลี่ยนมาเป็นไขของปลาวาฬแทน เรียกว่าเทียนไข นอกจากนี้การหล่อเทียนยังเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของพุทธศาสนิกชน เป็นการร่วมกันทำพิธีบุญเพื่อเป็นพุทธบูชามักจัดทำกันที่วัดต่าง ๆ ก่อนวันเข้าพรรษา
สำหรับโครงการหล่อเทียนหลอมใจของชมรมผู้สูงอายุตำบลโพธิ์ไทรงาม อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร เกิดมาจากลุงจวน ผลเกิด ผู้สูงอายุซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถด้านต่าง ๆ มากมาย เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน หมู่ที่ ๓ บ้านทุ่งทอง ตำบลโพธิ์ไทรงาม และหมู่บ้านใกล้เคียง แม้จะเป็นครอบครัวที่อพยพมาจากจังหวัดสิงห์บุรีก็ตาม ด้วยความเป็นคนทุ่มเทมุ่งมั่นริเริ่มการฟื้นฟูกิจกรรมพัฒนาประเพณีการหล่อเทียนครั้งแรกขึ้นที่หมู่บ้านทุ่งทอง โดยการรวมกลุ่มชักชวนกันของลุงจวน คนในชุมชนทุกกลุ่ม ครูและนักเรียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พิธีการหล่อเทียนให้คนรุ่นหลังได้เห็นและเป็นแบบอย่างต่อไป แล้วจึงนำเทียนที่หล่อเสร็จแล้วนำมาตกแต่งและนำไปถวายให้วัดต่าง ๆ ในหมู่บ้านใกล้เคียง แสดงถึงความสามัคคี เชื่อมโยงของสังคมรุ่นใหม่และประเพณีแบบโบราณให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่ดีงามและกำลังจะหมดไปเพราะกระแสของโลกาภิวัฒน์ ในปัจจุบันนิยมซื้อเทียนหล่อสำเร็จแล้วจากร้านค้ามาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแทนการหลอมรวมกันจากความร่วมแรงร่วมใจ ร่วมบุญกันแบบก่อน ๆ มา ลุงจวนเกิดความคิดขยายผลจัดกิจกรรมในกลุ่มชมรมผู้สูงอายุระดับตำบลโพธิ์ไทรงามในปี พ.ศ. ๒๕๔๘
ผู้ทำพิธีหล่อเทียนจะต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลายฝ่าย ไม่เจาะจงว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือเฉพาะคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ขึ้นอยู่กับศรัทธาของแต่ละคน มีทั้งประชาชน พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. กรรมการหมู่บ้าน) อสม. นักเรียน ข้าราชการ ครู เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นายก อบต. ต่างมาร่วมพิธีด้วยความเต็มใจ โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นแกนนำได้นิมนต์พระสงฆ์เพื่อประกอบพิธีพร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลในพิธี พร้อมทั้งกล่าวอธิบายถึงความเป็นมาของการหล่อเทียนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณให้ลูกหลาน คนรุ่นใหม่ได้ฟัง และตอบข้อซักถามต่าง ๆ
คนทำพิธีคือ ปู่ ย่า ตา ยาย คนรุ่นเก่า เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ปิติ ยินดี มีความสุขที่ได้ถ่ายทอด ภูมิปัญญา สืบสานวัฒนธรรมประเพณีให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมพิธีรู้สึกตระหนัก ดีใจ สำนึกในบุญคุณที่ผู้สูงอายุได้สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดีงามนี้ไว้ให้พวกตน เกิดความรักและอยากจะเรียนรู้ จดจำ อนุรักษ์และหวงแหนไว้ให้ถึงรุ่นลูกหลานของตนบ้างตลอดไป
วิธีการหล่อเทียนแบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑
- เตรียมน้ำตาเทียนหรือเศษเทียนที่เกิดจากการเผาไหม้ของการจุดเทียนใช้ประโยชน์จากแสงสว่างแล้วนั้น อาจจะเก็บมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น เก็บมาจากวัด จากชาวบ้านนำมาบริจาคให้
- การแยกสิ่งสกปรกออกเพื่อทำความสะอาดเทียน โดยนำกระทะใส่น้ำตั้งบนเตาไฟ เทน้ำตาเทียน (เศษเทียนที่ใช้แล้ว) ลงไปในกระทะใช้ไม้คนไปเรื่อย ๆ ต้มจนเทียนและน้ำหลอมละลายเข้ากัน
- เตรียมอ่างใส่น้ำสะอาดไว้ เมื่อต้มเทียนละลายตามความต้องการ แล้วจึงนำเทียนที่หลอมแล้วนั้นเทผ่านตะแกรงไม้ไผ่ลงในอ่างน้ำเพื่อแยกสิ่งที่ติดมากับเศษเทียน ปล่อยทิ้งไว้จนเทียนเย็นลง จะได้ก้อนเทียนที่จับตัวกันเป็นก้อนโตมีฟองอากาศปนอยู่ด้วย
- เช็ดกระทะให้แห้งก่อนนำก้อนเทียนที่แช่อยู่ในอ่างมาต้มในกระทะเปล่าบนเตาไฟอีกครั้งโดยไม่ต้องใส่น้ำ ใช้ทัพพีคอยคนเทียนในกระทะเป็นระยะ ๆ เพื่อคอยตักฟองอากาศออกทิ้งไป จะเหลือเฉพาะเทียนที่บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน
- นำถาดมาทาภายในด้วยน้ำผึ้งแท้ให้ทั่ว แล้วรีบเทเทียนที่เคี่ยวครั้งที่ ๒ ลงไปความหนาประมาณ ๑ – ๒ นิ้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
- ใช้มีดตัดเทียนในถาดเป็นแผ่นบาง ๆ หนาประมาณ ๑ นิ้ว เก็บใส่ถุงหรือภาชนะไว้เพื่อใช้หลอมอีกครั้งก่อนหล่อลงในแท่นพิมพ์
ขั้นตอนที่ ๒
- นำหลักไม้ไผ่มาตอกเป็นเสาหลัก ๖ อัน
- ผ่าไม้ไผ่เป็นซีกยาว ๆ
- นำท่อเหล็กที่จะใช้เป็นแบบพิมพ์ของต้นเทียนมาผูกติดที่คานไม้ไผ่ที่ผ่าไว้ใช้ลวดมัดพยุงโดยมีเสาที่ตอกไว้เป็นที่ยึดให้แน่น
- นำด้ายใจมาพันเป็นเกลียวเชือกใส่ไว้ในกึ่งกลางท่อเหล็กมัดส่วนบนไว้กับ คานไม้ไผ่
- ติดเตาไฟถ่านเตรียมต้มเทียน
- นำแผ่นเทียนที่ตัดไว้ในขั้นตอนที่ ๑ มาใส่ในกระทะตั้งบนเตาไฟต้มจนเทียนหลอมละลาย
พิธีกรรมของการหล่อเทียน
โดยใช้กระบวยด้ามยาวตักเทียนที่ต้มหลอมละลายกำลังร้อนอยู่ในกระทะบนเตาไฟ เทน้ำเทียนหยอดลงในเบ้าพิมพ์ที่เตรียมไว้
ต่อจากพระสงฆ์เป็นแถวของเด็กนักเรียน เยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุข้าราชการ และผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานทยอยกันตักเทียนเทลงเบ้าพิมพ์จนเต็ม ปล่อยไว้ให้ต้นเทียนที่หล่อได้ใหม่นี้เย็นลงอีก ๑ – ๒ วัน
การตกแต่งประดับต้นเทียน
การนำเทียนที่หล่อเป็นต้นเสร็จเรียบร้อยแล้วมาตกแต่งด้วยดอกไม้ กระดาษ สีต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงาม เพราะเชื่อว่าจะได้บุญกุศลเพิ่มมากขึ้นถ้าได้นำของดี มีความสวยงามไปถวายแด่พระสงฆ์
เมื่อได้เทียนที่สวยงามเป็นที่พอใจแล้ว ทุกหมู่บ้านจะจัดเตรียมขบวนแห่โดยใช้รถยนต์ประจำหมู่บ้านนำมาตกแต่งประดับด้วยผ้า หรือดอกไม้ต่าง ๆ ให้งดงาม พร้อมกันที่หน้าสถานีอนามัยตำบลโพธิ์ไทรงาม มีการนำเด็กผู้หญิงมาแต่งตัวเป็นนางฟ้านั่งอยู่บนขบวนรถแห่ ผู้ร่วมขบวนประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ ครู นักเรียน ประชาชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อบต. ผู้นำ อสม. ร่วมกันแห่นำเทียนไปถวายยังวัดต่าง ๆ รวม ๗ วัด ดังนี้
๑. วัดทุ่งกระทั่ง หมู่ที่ ๒ ตำบลโพธิ์ไทรงาม
๒. วัดโพธิ์ไทรงาม หมู่ที่ ๑ ตำบลโพธิ์ไทรงาม
๓. วัดวังกระสูบ หมู่ที่ ๖ ตำบลโพธิ์ไทรงาม
๔. วัดบึงลี หมู่ที่ ๘ ตำบลโพธิ์ไทรงาม
๕. วัดใหม่สี่แยก หมู่ที่ ๔ ตำบลโพธิ์ไทรงาม
๖. วัดบ้านทุ่งทอง หมู่ที่ ๓ ตำบลโพธิ์ไทรงาม
๗. วัดบ้านบึงปลิง หมู่ที่ ๓ ตำบลโพธิ์ไทรงาม