ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 18° 44' 38.5717"
18.7440477
Longitude : E 99° 43' 23.7623"
99.7232673
No. : 192613
โคมลอย
Proposed by. ลำปาง Date 30 March 2020
Approved by. ลำปาง Date 5 July 2021
Province : Lampang
0 546
Description

โคมลอย

คำว่า “โคมลอย” แปลได้ง่ายๆว่า เครื่องที่ให้กำเนิดแสงสว่างลอยตัวอยู่ซึ่ง “โคม” ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้อาจลอยอยู่ได้ทั้งในน้ำและในท้องฟ้าก็ได้ทั้งสองกรณีแต่ในที่นี้จะเริ่มกล่าวถึง “โคมลอย”ที่ลอยอยู่ในน้ำหรือลอยไปตามสายน้ำเสียก่อน “โคมลอย”นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลลอยกระทง เมื่อต้องการทราบความหมายของคำนี้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนลงไป ก็ต้องไปดูที่ต้นตำหรับของการลอยกระทง ซึ่งก็คือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ และจากเอกสารชื่อนี้ที่กรมศิลปากรอนุญาตให้ศิลปาบรรณาการพิมพ์ จำหน่ายครั้งที่ 14 เมื่อ พ.ศ. 2513 หน้า 96 บอกว่าในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้น จะมีพระราชทานประเพณีจองเปรียง ซึ่งเป็น “นักขัตฤกษ์ ชักโคมลอย” ที่มีการฉลองกันถึงสามวัน ครั้งหนึ่งนางนพมาศได้ประดิษฐ์คมลอยเป็น “รูปดอกกระมุท (ดอกบัว) บานกลีบรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากระแทะ (ล้อเกวียน) ”ประดับด้วยดอกไม้และผลไม้สลักเป็นรูปนก แกะอยู่ตามกลีบดอกบัวซึ่ง “พระร่วง” ก็พอพระทัยมาก จึงมีการราชบำหยัดสาปสรรค์ว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ ในสยามประเทศ ถึงกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทบาน ก็ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงกระทีป...

จากความที่ยกมานี้สรุปได้ว่า โคมลอยก็คือกระทงทรงประทีป หรือกระทงที่รองรับประทีปซึ่งจุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปบนอากาศ

เมื่อดูจากพระราชพิธี 12 เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ. 2514 ในตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงระบุว่า พระราชพิธีในเดือน 12 ซึ่งมีมาในกฎมณเฑียรบาลว่า พิธีจองเปรียงชุดลอยโคมนั้น “มีความแปลกออกไปนิดเดียว แต่ว่าการพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และเติม “ลงน้ำ” เข้าอีกคำหนึ่ง...การก็ตรงกับลอยกระทง ลางทีจะสมมตว่า ลอยโคม... “และทรงกล่าวต่อไปว่า”..การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดิน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงส์พิภพ และบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่า นะมะทานทีเป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่...”

ในพระราชพิธี 12 เดือน ยังระบุต่อไปว่าในเดือนสิบสองนี้มีการลอยประทีปด้วย โดยทรงอธิบายว่า “........การลอยพระประทีปที่ปล่อยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงของชนทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจตรงกับคำว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรนับได้ว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามสมัยโบราณ........ ” และความในพระราชนิพนธ์ช่วงนี้ ยังมีพระราชาธิบายที่ยืนยันถึงข้อความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า “.....การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้ากับเรื่องนางนพมาศ ซึ่งว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นสนมเอกแต่ครั้งพระเจ้าอรุณราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่ตั้งอยู่เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในฤดูเดือนสิบสอง เป็นเวลาเสร็จประพาสในลำน้ำ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีพระสนมฝ่ายในตามเสร็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตร การนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้มารับราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัว และรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล มีข้อความที่พิสดารยืดยาว ถ้อยคำก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัดซึ่งได้กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า หรือพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศนั่นเอง.....” จากความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์และพระราชพิธีสิบสองเดือนที่กล่าวมาแล้ว อาจสรุปได้ว่า “โคมลอย” ของนางนพมาศนั้นคือกระทงที่รองรับพระประทีป การที่นำโคมลอยที่ว่านี้ไปลอยน้ำ ก็เรียกว่า “โคมลอย”ดังนั้นในพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า “ลอยพระประทีป” และการที่ลอยพระประทีปหรือลอยกระทงนี้อย่างน้อยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ที่น่าสังเกตคือ พระราชาธิบายที่ว่า การลอยประทีปนี้ “...แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจตรงกับคำที่ว่า ลอยโคมลงน้ำ เช่นที่กล่าวมาแล้ว...” และเมื่อพิเคราะห์ดูความจากบทพระราชนิพนธ์ในตอนที่กล่าวถึงเทียนที่จุดในพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงกล่าวว่า “.........แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือ ตั้งแต่เริ่มพระราชพิธีพราหมณ์ก็เข้าพิธีในโรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และ เวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ ตลอดจนวันลดโคมเทียนที่จุดในโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโค ซึ่งพระพราหมณ์นำมาถวายทรงทาการที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อพระโคนี้ ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆพระราชพิธีส่วนขนาดของกระทงนั้น นอกเหนือจากกระทงของนางนพมาศที่ใหญ่เท่ากระแทะ คือ กงเกวียนแล้ว”

ในพระราชพิธี 12 เดือน ให้คำอธิบายสรุปรวมได้ว่า กระทงหลวงสำหรับใหญ่ที่ทำถวายนั้น “ต่อเป็นถังบ้างทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอก สิบเอ็ดศอก ทำประกวดประชันกันต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิงประดิษฐ์ขนาดใหญ่ที่ลอยน้ำได้ และในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีการใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือนชัยแทน กระทงใหญ่สองลำ ตั้งเทียนขนาดใหญ่ และยาวตามกระทงเรือทุกทุกกระทง ส่วนในรัชกาลที่ 5 ก็มีการใช้เรือสุพรรณหงส์แทนเรือชัย และมีกระทงใหญ่ที่ตกแต่งอย่างอลังการอีกด้วย แต่ก็ไม่โปรดให้จัดทำทุกปี ส่วนการลอยพระประทีปนั้น เห็นได้ว่ามีถึงปีล่ะ 2 ครั้ง โดยมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “….พิธีลอยพระประทีปกลางเดือน 11 ก็เหมือนกับลอยพระประทีปในเดือน 12 ซึ่งมีข้อความพิศดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์พิธีประจำเดือน 12 ผิดกันแต่เดือน 11 ไม่มีกระทงใหญ่...” (น.639) น่าสังเกตว่า ในพระราชพิธี 12 เดือนนี้ทรงจำแนกว่า “ประทีป” และ “กระทง” เป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับทรงลอยที่ต่างกัน โดย “กระทง” ที่ทรงกล่าวถึงนั้นมีขนาดใหญ่มาก แต่เสียดายที่ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ไม่ได้บอกขนาดของพระประทีปที่ทรงลอยไว้ด้วย คาดว่า “พระประทีป” ที่ทรงลอยน่าจะมิได้มีขนาดใหญ่โตเหมือนกระทง แต่อาจจะมีขนาดใกล้เคียงกับกระทงของนางนพมาศก็ได้เมื่อเอาความทุกส่วนที่กล่าวแล้วมารวมกันเพื่อสรุป ก็จะเห็นได้ว่าการ “โคมลอย” หรือ “ลอยกระทง” ซึ่งมามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วนี้ เป็นประเพณีที่มิใช่พิธีพราหมณ์ หรือพิธีในพุทธศาสนาแต่การลอยกระทงซึ่งเป็นการลอยโคมอันเป็นเครื่องสักการะ เพื่อให้ไปบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏอยู่ริมฝั่งน้ำนัมทานนทีดังกล่าวเป็นคติที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง แต่ความที่ยังค้างคาใจ ก็คือ ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปว่า “โคมลอย”หมายถึงประทีปที่จุดไฟแล้ววางบนกระทงและปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำแต่ทุกวันนี้ก็ยังมี “โคมลอย”ที่มีลักษณะเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ทำด้วยกระดาษบางเบาที่ปล่อยให้ลอยไปบนฟากฟ้านั้นคืออะไรกันแน่ คำอธิบายที่เก่าที่สุด ที่กล่าวถึง “โคมลอย”ในแง่โคมที่ลอยขึ้นฟ้านั้น พบในหนังสืออักขราภิธานศรัพท์ Dictionary of the Siamese Language Dr.B.Bangkok 1873 หรือพจนานุกรมภาษาสยามที่ ดร.แคน บีช แบรดเลย์ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 โดยกล่าวว่า โคม หรือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้แสงสว่าง ทำด้วยแก้วบ้างทำด้วยเกล็ดปลาบ้าง และ โคมลอย คือประทีปเครื่องที่สำหรับจุดไฟนั้นให้สว่างแล้วควันไฟก็กลุ่นอบอยู่ในนั้นพาโคมให้ลอยขึ้นไปได้บนอากาศคำอธิบาย ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ที่ว่า “โคม น.ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่ง ที่จุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศ ”และพจนานุกรมฉบับนี้ ได้ให้ความหมายของเครื่องใช้อีกอย่างหนึ่งว่า “ตะเกียง น.เครื่องใช้สำหรับตามไฟมีรูปต่างๆบางชนิดมีหลอดบังลม, ลักษณะนามว่าดวง” โดยคำอธิบายของพจนานุกรมทั้งสองฉบับนี้ ชวนให้เข้าใจว่า “โคมลอย”ควรจะให้ความสว่างไว้ด้วย

ส่วนในพระราชพิธี 12 เดือนนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อปีชวด พ.ศ. 2431 มีข้อความส่วนที่พระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์อธิบายศัพท์แผลงว่า “โคมลอย”มีความหมายเดียวกับ “โพยมยาน”และโพยมยานแปลมาจาก air ship คือยานที่ลอยไปในอากาศโดยใช้อากาศร้อน หรือแก๊สที่เบากว่าอากาศ ยกเอายานนั้นลอยไปได้ แต่เมื่อเทียบกับคำแปลของหมอแบรดเลย์แล้ว “โพยมยาน”ในที่นี้น่าจะเหมายถึง balloon “โคมลอย” ในที่นี้ “…..มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษที่ชื่อว่าฟัน (Fun-ผู้เขียน) ที่ใช้รูปโคมลอยหลังใบปกหนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกันเมื่อใครเห็นตลกไม่ขบขันจึงว่าเรากับหนังสือพิมพ์ฟัน บ้างว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้างจะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่ “โคม” ตามนัยของพระราชพิธี 12 เดือน กับของหนังสืออักขราภิธานณัพท์แม้จะดูเหมือนว่าไม่ตรงกัน แต่พอจะอธิบายให้เห็นได้ว่า วัตถุทรงกลมที่อาศัย ความร้อนที่กักไว้ภายในพยุงให้ลอยไปในอากาศได้ก็เป็นอันว่า “โคมลอย”ของนางนพมาศนั้นลอยน้ำแต่ “โคมลอย”ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และของหมอแบรดเลย์นั้น ลอยฟ้า พอบอกว่า “โคมลอย”นั้นลอยฟ้าได้ ชาวเหนือก็บอกว่า “แม่นแล้ว”เพราะวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นนอกเหนือจะมีการ “ตั้งธรรมหลวง” แล้วบุคคลที่เกิดในปีจอซึ่งควรจะไป นมัสการพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีซึ่งบรรจุมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะที่เชือดออกด้วยพระขรรค์ แล้วดำรงเพศนักบวชก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แม้อยากไปก็ไปไม่ได้ เพราะพระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ชาวเหนือที่เกิดปีจอก็อาศัย “โคมลอย”นี้แหละที่เอากระบะเครื่องบูชาลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าไปให้สูงสุด เพื่อจะบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ กิจกรรมดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพระบรมราชาธิบายที่ว่า “...การยกโคมขึ้นนี้ ตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเจ้าทั้งสาม คือพระอีศวร พระนารายณ์ พระพรหม การบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าทรงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงส์พิภพ และบูชาพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายที่เรียกว่านะมะทีเป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่...” (พระราชพิธี 12 เดือน น.9) แต่พอพูดว่าสิ่งประดิษฐ์ที่พอเอากระบะเครื่องบูชาขึ้นฟ้าไปนั้นชื่อว่า “โคมลอย”บรรดาผู้เฒ่าทั้งหลายไม่ค่อยพอใจนัก เพราะสิ่งนั้นในยุคของท่านเรียกว่า “ว่าว, ว่าวลม, ว่าวรม/ฮม หรือว่าวควันโดยอธิบายว่าเครื่องเล่นที่ปล่อยให้ลอยในอากาศนั้นเรียกว่า “ว่าว” เมื่อว่าวนั้นใช้ควันเป็นเครื่องใช้พยุงขึ้นฟ้า ก็เรียกว่าวนั้นว่า ว่าวตะวัน และในกลางคืนที่ใช้ก้อนเชื้อเพลิงแขวนไว้ที่ปากของว่าวความร้อนจากที่จุดไฟนั้น นอกจากจะยกว่าวให้ลอยฟ้าได้แล้วยังมองเห็นไฟที่ลุก และลอยไปในท้องฟ้าแทรกกับกลุ่มดาวได้ ท่านเรียกของท่านว่า ว่าวไฟ พอเห็นเด็กน้อยหนุ่มสาวเรียกสิ่งประดิษฐ์ของท่านว่า “โคมลอย” ท่านก็บอกว่าไม่ใช่ ครั้งถามผู้เฒ่าว่า ชาวเหนือเรียกว่าวของท่านว่า “โคมลอย” มาแต่เมื่อใด ท่านก็ตอบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารไทยมาประจำการที่ภาคเหนือ พอเห็นว่าวตะวันลอยขึ้นฟ้าก็เรียกสิ่งนั้นว่า “โคมลอย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจสรุปได้ว่า “โคมลอย”ของภาคกลางนั้นทำได้ทั้งลอยฟ้าและลอยน้ำ เพื่อจุดประทีปโคมไฟให้ลอยไปตามน้ำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทในพิภพ และยกโคมขึ้นให้สูง เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี แล้วชาวเหนือเล่า มีการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำ เพื่อไปบูชาพระพุทธบาทหรือไม่ ผู้เฒ่าก็จะถามว่าลอยประทีปโคมไฟเมื่อใด พอบอกว่าวันเพ็ญเดือนยี่ ท่านก็บอกว่าวันเพ็ญเดือนยี่นั้น ชาวบ้านจะปล่อยว่าวควันขึ้นฟ้าในตอนสาย และจุดประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน ดังนั้นปรากฏว่ามีคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ ผางประทีปบอกถึง ผู้ที่กระทำจะได้รับจากการจุดประทีปโคมไฟดังกล่าว และการจุดประทีปโคมไฟนี้ก็สอดคล้องกับการ “เผาเทียนเล่นไฟ” ในกรุงสุโขทัยอีกด้วย ไม่มีธรรมเนียมการลอยกระทงหรือจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำและผู้เฒ่าจะสำทับว่าพิธีกรรมทั้งหลายของชาวเหนือนั้น จะหันหน้าเข้าวัด ถ้าหันหน้าออกวัดไปทำกิจกรรมยังที่อื่นแล้วพิธีกรรมดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฏในวีถีชีวิตของชาวเหนือ ครั้นถามว่าแล้ว “ลอยกระทง” ท่านผู้เฒ่าที่คุ้นเคยกับชีวิตในคุ้มในวัง โดยเฉพาะ “วังท่าเจดีย์กิ่ว” ซึ่งเป็นที่ประทับของ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีนั้น เป็นที่วังอยู่ใกล้กับลำน้ำปิง (ปัจจุบันคือสถานกงสุลอเมริกัน) พระราชชายาองค์นี้เป็นพระราชชายา ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าพระมเหสีในพระเจาอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยที่พระองค์ท่านเข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวังเมื่อพระชนมายุ 13 ชันษา (พ.ศ. 2429) และประทับอยู่ในวังหลวงหลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2453 แล้งพระราชชายาฯก็เสด็จมาประทับอยู่ใน “คุ้ม” หรือ “วังท่าเจดีย์กิ่ว” ดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2457 พระราชชายาฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมโดยเฉพาะพระราชพิธีต่างๆ เป็นอย่างดี ดังนั้นพระองค์ท่านถึงได้เริ่มการ “ลอยพระประทีป” ในลำน้ำปิง ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2460 – 2470 แต่ “พระประทีป” นอกวังหลวงนี้พระประทีปทำขึ้นอย่างง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติ คือพระองค์ท่านใช้ชิ้นส่วนกาบมะพร้าวกว้างขนาดเท่าฝ่ามือตัดโค้งงอนตามสัณฐานของมะพร้าว เพื่อทำหน้าที่เป็น “กระทง” วางประทีปลงบน “กระทง”นั้น แล้วจุดไฟและปล่อยให้ลอยไปคืนวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวเหนือ (ตรงกับเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง) สิ่งที่ลอยไปตามสายน้ำนั้นจึงจัดได้ว่าเป็นการ “ลอยพระประทีป”และกิจกรรมนี้สอดคล้องกับ “ลอยโคม”หรือ “ลอยกระทง ทรงประทีป” ของนางนพมาศอีกด้วย ภายหลังมีผู้นิยมลอยกระทงตามพระราชชายาฯ มากขึ้น ดังพบว่าในครั้งที่ นายนิยม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ. 2490 นั้นก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยว โดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้นและมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพโดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถานการลอยกระทงแบบกรุงเทพฯนั้นมีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยเริ่มจัดให้มีการ ลอยกระทงสองวัน คือ ในวันเพ็ญเดือนยี่ และลอกระทงเล็ก และรุ่งขึ้นในคืนแรมหนึ่งค่ำจะมีการลอยกระทงหรือมีการประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ไปสิ้นสุดที่สะพานนวรัฐ และหลังจากนั้นก็มีการลอยกระทงกันอย่างกว้างขวาง ดังที่จะพบว่ามีการประกวดนางนพมาศกันทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ยังมีการทำ "ประตูป่า" อันเนื่องกับการ "ตั้งธรรมหลวง" อยู่เหมือนกัน แต่ยิ่งมีแสงสี่ที่กระทงกับประตูป่าและประทีปโคมไฟที่ประดับตามบ้านเรือนถนนหนทาง มีความงามที่รงเสนของสาวน้อยนางนพมาศมากขึ้น และมีแสงสีจากว่าวไฟที่ลอยฟ้าเจิดจรัสมากขึ้นเท่าใด ความเข้มของวัฒนธรรมใหม่นี้ย่อมมีส่วนขับให้บรรยากาศของการ "ตั้งธรรมหลวง" และกิจกรรมตามวิถีของชาวเหนือดั้งเดิมให้โรยแรงลงเพียงนั้น โคมลอย หรือในบางท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง เรียกว่าว่าวมี๒ชนิดคือว่าวลม และว่าวไฟ ว่าวลม คือว่าวที่ปล่อยในเวลากลางวัน ส่วนว่าวไฟ ใช้ปล่อยในเวลากลางคืน

อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์

การทำว่าวจะใช้กระดาษเนื้อบาง ติดประกอบกันเป็นรูปทรงต่างๆ ส่วนใหญ่ทำเป็นลักษณะของ

ถุงลมก้นใหญ่วงปากแคบกระดาษที่ใช้ทำนั้น จะใช้กระดาษสีเดียวหรือหลายสีก็ได้ แล้วแต่ความพอใจของเจ้าตำรา(เจ้าตำรับ) ในสมัยก่อนนิยมมาช่วยกันทำที่วัด เพราะต้องใช้สถานที่ทำเป็นลานกว้าง โดยมีเจ้าตำราเป็นผู้ควบคุมดูแล

เมื่อถึงเวลาปล่อยว่าว ชาวบ้านก็จะล้อมวงเข้ามาดูอย่างใกล้ชิด บ้างก็จะมาช่วยถือไม้ค้ำยัน เพื่อ

ช่วยให้ว่าวทรงตัวได้ จากนั้นถ้าเป็นว่าวไฟก็จะเอาเชื้อเพลิง คือผ้าชุบน้ำมันยางผา หรือใช้ชันหรือที่เรียกว่าขี้ขะย้าเผา เพื่อให้เกิดควันแล้วปล่อยควันไฟเข้าไปอัดในว่าว จนว่าวลอยตัวและตึงเต็มที่ เมื่อถึงตอนนี้ชาวบ้าน ก็ช่วยกันมากขึ้น บางคนก็ถือวงปาก บางพวกก็คอยให้กำลังใจอยู่รอบข้าง โดยมีขบวนแห่กลองสิ้งหม้อง และฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อว่าวลอยตึงเต็มที่ ก็จะนำประทัดหรือหางว่าวมาผูกติดกับวงปาก ปลดไม้ค้ำยันออก และปล่อยขึ้นไป ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะดูว่าว่าวหรือโคมของใครสวยหรือไม่ โดยดูตั้งแต่ ขนาด รูปทรง สีสันของว่าว การลอยตัว และลูกเล่นต่างๆ ที่ผูกติดวงว่าวหรือโคมลอย

โอกาส หรือเวลาที่เล่น

การปล่อยว่าวหรือโคมลอยนั้น นิยมเล่นหรือแข่งขันกันในเทศกาลงานประเพณีสำคัญๆ ของหมู่บ้าน เช่นวันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณียี่เปิงหรืองานบุญต่างๆ ไม่มีข้อจำกัด

คุณค่า / แนวคิด / สาระ

การปล่อยว่าวหรือโคมลอยนี้ชาวบ้านมีความชื่อกันว่าเพื่อให้ว่าวได้นำเอาเคราะห์ภัยพิบัติต่างๆ

ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไป ถ้าไปตกในบ้านใครบ้านนั้นต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนานสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านอีกด้วย

หมายเหตุการเล่นโคมลอย และโคมไฟ ให้ระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสภาพแวดล้อมด้วย

Location
Amphoe Mueang Lampang Province Lampang
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
Reference ศุขฐิ์เกษม ฝั้นคำอ้าย
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง Email culture_lampang@hotmail.com
No. 409 Moo 3 Road พระเจ้าทันใจ
Tambon ต้นธงชัย Amphoe Mueang Lampang Province Lampang ZIP code 52000
Tel. 0 5422 8763 Fax. 0 5482 4182
Website https://www.m-culture.go.th/lampang/main.php?filename=index
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่