บ้านรายชะโด ตำบลสามง่าม มีพื้นที่ครอบคลุม หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๗ โดยในหมู่บ้านมีวัดชื่อ วัดราชศรัทธาธรรม ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ ๗ ในสมัยนั้นวัดราชศรัทธาธรรม ซึ่งเป็นวัดตั้งติดกับแม่น้ำยมไหลผ่าน บริเวณหน้าวัดจะมีบันไดทอดยาวลงไปในแม่น้ำ และในแม่น้ำที่บริเวณเขตของวัดนั้นได้มีปลาชะโดชุกชุมมาก เมื่อวันพระ พระสงฆ์จะนำอาหารที่เหลือจากการฉันไปเลี้ยงปลา เมื่อมองเห็นปลาชะโดที่มากินอาหาร มีลวดลายสวยงาม ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ จากวัดราชศรัทธาราม มาเป็นวัดรายชะโดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมามีผู้มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วจึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น คือ บ้านรายชะโด จนถึงสมัยปัจจุบัน
วิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นสังคมชนบท สมาชิกในครอบครัวอยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทำให้ครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีอาชีพทำการเกษตร และประมง ปศุสัตว์ มีประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ คือ ประเพณีแข่งขันเรือยาว เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มักจัดในฤดูน้ำหลาก ประมาณต้นเดือนกันยายนของทุกปี ที่วัดรายชะโด,การทำบุญทานสลากภัตร ซึ่งยังคงอนุรักษ์การจัดสลากภัตรหมู่บ้านรายชะโด ยังได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นร่วมใจสู่ภัยเศรษฐกิจ ประจำปี 2562 ของจังหวัดพิจิตร จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีผลงานด้านการทำเครื่องจักสานที่โดดเด่น สวยงาม และประณีต
นอกจากนี้ หมู่บ้านรายชะโด เป็นหมู่บ้านที่นิยมทำขนมกงสำหรับใช้ในงานมงคลต่างๆ วันพระใหญ่ และในช่วงเทศกาลต่างๆ มานาน ๑๐๐ ปีกว่าแล้ว และได้สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันชาวบ้านรายชะโด ได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มขนมไทยบ้านรายชะโด ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีสมาชิก จำนวน ๑๕ คน โดยมีนางเสนาะ อ้นอินทร์ อายุ ๗๕ ปี เป็นประธานกลุ่มฯ
“ขนมกง” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ขนมกงเกวียน” เป็นขนมไทยโบราณ มีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกันคล้ายรูปล้อเกวียน มีความหมายเป็นสิริมงคล หมายถึงการหมุนไปข้างหน้า หรือการก้าวไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระธรรมจักร และตัวขนมจะมีลักษณะเป็นตุ่มๆ เรียกว่า เกล็ดเพชร เกล็ดพลอย จึงนิยมใช้ในพิธีแต่งงาน เพื่อแทนความหมายให้คู่บ่าวสาวครองคู่อยู่ชั่วนิจนิรันดร์
วัตถุประสงค์ของการทำขนมกงบ้านรายชะโด
๑) เพื่อสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับชุมชน
๒) เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ด้านความเชื่อ ความศรัทธา งานประเพณี และเทศกาลต่างๆ ๓) เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ ไม่ให้สูญหาย
วัสดุ/อุปกรณ์/ส่วนผสม
อุปกรณ์
๑) กระทะ
๒) ไม้พาย
๓) เตาแก๊ซ หรือเตาไฟฟ้า หรือเตาถ่าน
๔) เครื่องโม้ถั่ว
๕) ตะแกรงร่อนแป้ง (แหร่ง ภาษาพื้นถิ่น)
๖) ถาด
๗) ตะหลิว
๘) กระชอน
๙) กระมัง อย่างหนา
ส่วนผสมแป้งสำหรับชุบ
๑) แป้งข้าวเหนียว ๑/๒ กิโลกรัม
๒) แป้งกรอบ ๒ ขีด
๓) น้ำตาลปี๊บ เพียงเล็กน้อย
๔) เกลือป่น เพียงเล็กน้อย
๕) น้ำสะอาด
กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)
๑. ล้างถั่วทอง สะเด็ดน้ำ นำไปคั่วด้วยไฟอ่อนจน มีสีน้ำตาลอ่อน และหอมดี ประมาณ ๒๕-๓๐ นาที แล้วนำไปล้างน้ำในขณะที่ยังร้อน เทใส่หวดนึ่งข้าวเหนียว ให้น้ำสะเด็ด แล้วนำไปใส่กระโล่ (กระด้ง) จากนั้นนำไปตากแดด รอจนแห้ง นำไปใส่โม้บดให้ละเอียด แล้วจึงนำไปใส่ตะแกรงร่อนแป้ง (ชาวบ้านเรียกที่ร่อนแป้งว่า “แหร่ง”) เพื่อให้ได้แป้งที่ละเอียด (ถ้าไม่ละเอียด เป็นก้อน เมื่อไปทำขนม แป้งจะแข็ง ไม่อร่อย)
๒. ทำตัวขนมกง นำกะทิ และน้ำตาลปี๊บ นำขึ้นตั้งไฟ กลางๆ พอน้ำตาลละลาย เคี่ยวต่ออีกประมาณ ๕ นาที ให้ข้นขึ้นเล็กน้อย
๓. นำแป้งข้าวเหนียว ผสมกับน้ำสะอาดเล็กน้อย แล้วนวดให้เข้ากัน ปั้นเป็นแผ่นกลมๆ (๑ โล จะได้ ๖ แผ่น) นำแผ่นแป้งใส่ลงไปในกระทะที่ต้มน้ำตาลปี๊บไว้ เมื่อแป้งที่ต้มลอย ให้รีบตักออกใส่กระมัง ใช้พายยีแป้ง แล้วค่อยๆ เอาถั่วที่บดไว้ และน้ำตาลปี๊บที่ต้ม ลงผสมทีละน้อย จนกว่าน้ำตาล และถั่วจะหมด นวดให้เข้ากัน นวดจนเนียน (ต้องนวดตอนที่ยังร้อน เพราะถ้าเย็นจะจับตัวเป็นก้อน)
๔. แบ่งส่วนผสมออกมาปั้นเป็นแท่งยาวประมาณ ๓-๔ นิ้ว จับปลายชนกันให้เป็นวง ปั้นส่วนผสมอีกส่วนเป็นแท่งยาว ตัดให้มีขนาดเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของขนม วางพาดไขว้กันให้มีลักษณะเหมือนล้อเกวียน
๕. ทำแป้งสำหรับชุบทอด โดยผสมแป้งกรอบ และแป้งข้าวเหนียว นวดให้เข้ากัน เติมเกลือ และกะทิลงไปทีละน้อย แค่พอให้แป้งจับตัวเป็นก้อนนวดให้เข้ากัน ใส่น้ำตาลลงไปเพียงเล็กน้อย (เพื่อให้เนื้อแป้งออกมาเป็นสีเหลืองอ่อนสวยน่ารับประทาน) เติมน้ำกะทิที่ละน้อย นวดให้เข้ากัน ผสมให้เนียนดี
๖. นำขนมกงที่เตรียมไว้ลงชุบนำแป้ง นำลงทอดด้วยไฟกลาง (๑๖๐ องศาเซลเซียส โดยสังเกตจากการหยอดแป้งลงไปในน้ำมัน หากแป้งลอยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แสดงว่าร้อนใช้ได้แล้ว) หย่อนตัวขนม โดยให้ด้านที่ไขว้กันอยู่ด้านบน ใช้ตะเกียบเขี่ยขนมไม่ให้ติดกระทะ ทอดจนสุกเหลืองทอง พักให้สะเด็ดน้ำมัน และเย็นตัวลง
ราคาขาย:กงละ ๑๐ บาท แป้ง ๑ กิโลกรัม จะทำขนมได้ ๘๐ กง เป็นเงิน ๘๐๐ บาท
ระยะเวลาในการทำ:ใช้เวลาในการทำประมาณ ๒ วัน
ระยะเวลาในการเก็บรักษา:ขนมกงสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ ได้เป็นเวลา ๑ อาทิตย์ ไม่ควรเข้าตู้เย็น เพราะจะทำให้แป้งแข็ง รับประทานไม่อร่อย
วิธีการสั่งซื้อขนม:สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มขนมไทย บ้านรายชะโด เบอร์โทร 081-2814814 และควรสั่งล่วงหน้าอย่างน้อย ๒ วัน และสั่งอย่างน้อย ๕๐ กง ขึ้นไป
กลุ่มขนมไทย บ้านรายชะโด เลขที่ 41 หมู่ที่ ๖ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
ประธานกลุ่ม : นางเสนาะ อ้นอินทร์ โทรศัพท์ : 081-2814814