ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 30' 32.067"
16.5089075
Longitude : E 100° 12' 16.9132"
100.2046981
No. : 193524
หลวงพ่อขวัญ กับมหัศจรรย์แหวนพิรอด
Proposed by. พิจิตร Date 30 March 2021
Approved by. พิจิตร Date 30 March 2021
Province : Phichit
0 3083
Description

หลวงพ่อขวัญ กับมหัศจรรย์แหวนพิรอด

ประวัติความเป็นมา

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) เดิมชื่อ ขวัญ หมอกมืด เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ที่บ้านไร่ หมู่ที่ ๑๒ (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ ๑๐) ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร บิดาชื่อ นายเหลือ มารดาชื่อ นางเอี้ยง มีพี่น้องร่วมสายโลหิตจำนวน ๔ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๑ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรงกับเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันอยู่ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โดยมี พระครูศีลธรารักษ์ (หลวงพ่อยิ้ม) วัดท่าหลวง พระอารามหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์ชิต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฟัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาปวโร(แปลว่า ผู้ประเสริฐ) ท่านจบการศึกษาชั้นสามัญระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ สอบได้นักธรรมชั้นโทได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอสามง่าม (กิตติมศักดิ์) และเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการาม ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรพระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโนรักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการาม หรือวัดบ้านไร่ เล่าว่าพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)มีอุปนิสัยเรียบร้อย ไม่ค่อยพูด นิ่ง ความจำดีมาก ทำงานละเอียด รอบคอบ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ครั้งหนึ่งหลวงพ่อขวัญเล่าให้พระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโน ฟังว่า “ออกไปเลี้ยงควายกับเพื่อน ๆ ในเวลาเที่ยงวันเพื่อนๆ จะจับปู จับปลา มาทำอาหารกินกัน แต่ไม่ทำตามเหมือนเพื่อนๆ กลับไปกินอาหารกลางวันที่บ้านกับพ่อและแม่” ท่านว่าเป็นบาป แสดงถึงความเมตตา กรุณา ตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้ หลวงพ่อขวัญยังเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องงานช่างฝีมือ โดยเฉพาะช่างปูน และช่างไม้ ท่านจะก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดเทพสิทธิการามหรือวัดบ้านไร่ โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้ก่อสร้างมณฑปจตุรมุข เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ท่านบรรพชน ผู้ให้กำเนิดบ้านไร่น่าสวะอุด และท่านผู้ให้กำเนิดวัดบ้านไร่เทพสิทธิวราราม เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๖๙ ถึงพ.ศ.๒๕๓๖ เป็นเวลาล่วงมาได้ ๖๖ ปี (ข้อความตามป้ายที่ติดหน้ามณฑป) ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บสรีระสังขารของพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) เคยเป็นศิษย์ ของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติพระเกจิชื่อดังระดับประเทศแห่งวัดบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร และหลวงพ่อขวัญ ยังได้รับการยอมรับจากครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ว่าเป็นพระที่มีพุทธานุภาพและอาคมแรงกล้าพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ได้มรณภาพลงด้วยด้วยโรคชรา ขณะที่มีอายุ ๙๘ ปี โดยก่อนหน้านี้ หลวงพ่อขวัญได้ล้มป่วยลงด้วยโรคชราและได้เข้ารักษาตัวในห้องไอซียูของโรงพยาบาลพิจิตร ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ หลังจากที่รักษาตัวนานกว่า ๒ เดือน อาการกลับไม่ดีขึ้นและคณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ คณะกรรมการวัดและญาติโยมจึงนำตัวออกจากโรงพยาบาลพิจิตร ช่วงบ่ายของวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ ก่อนจะที่จะละสังขารในเวลา ๑๗.๐๐ น. วันเดียวกัน

ตำแหน่งทางสงฆ์

๑. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จนถึงพ.ศ.๒๕๔๘

๒. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสามง่าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๙๔

๓. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสงฆ์อำเภอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๖

๔. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงพ.ศ.๒๕๔๘

๕. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอสามง่าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๕๓๓

๖. ยกเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาคณะสงฆ์อำเภอสามง่าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ถึงพ.ศ.๒๕๔๘

ผลงานด้านการก่อสร้าง และร่วมบริจาคเงินก่อสร้างเสนาสนะในพระพุทธศาสนา

พ.ศ.๒๕๑๘ก่อสร้างศาลาพระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ วัดปทุมรัตนาราม ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มูลค่า ๕๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๒๕ก่อสร้างอุโบสถวัดปทุมรัตนาราม ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โดยนำพระภิกษุสามเณร และประชาชนร่วมก่อสร้าง และบริจาคเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ.๒๕๒๗ก่อสร้างอุโบสถวัดกระทิง ตำบลประชาสุขสันต์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โดยนำพระภิกษุสามเณร และประชาชนร่วมก่อสร้าง และบริจาคเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๒๙ก่อสร้างอุโบสถวัดคงคาราม (วัดโขน) ตำบลหนองคล้า อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชรร่วมบริจาคเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๓๓- ก่อสร้างอุโบสถวัดวังตะขบ ตำบลวังโมกข์ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร บริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท

- ก่อสร้างศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ วัดนิคม ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร บริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ.๒๕๓๕ร่วมก่อสร้างวัดบึงหวายพระองค์ ตำบลไทรงาม อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๒๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ.๒๕๓๖- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างอุโบสถวัดบึงบัวใน ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๕,๐๐๐.- บาท

- ร่วมบริจารเงินสร้างศาลา วิหาร เมรุ วัดงิ้วสองนาง (หนองทอง) ตำบลหนองทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๑,๐๘๗,๖๕๗.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลาการเปรียญวัดแม่บัว ตำบลหนองคล้า อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๕,๐๐๐.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๐,๐๐๐.- บาท(ปัจจุบันอยู่อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร)

- ก่อสร้างมณฑปจตุรมุข สำหรับเก็บสรีระสังขารของหลวงพ่อขวัญ
พ.ศ. ๒๕๓๗- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างอุโบสถวัดวังแดง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๓๐,๐๐๐.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดสวนทศพลญาณ ตำบลโนนพลวง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๓๘- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างอุโบสถ เมรุ วัดมาบแฟบ ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๓๓๒,๖๐๐.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลาการเปรียญวัดรายชะโด ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๕,๓๒๕.- บาท

- ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดหลังถนน ตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จำนวน ๑๑๓,๔๐๑.- บาท

ผลงานการก่อสร้าง และร่วมบริจาคเงินก่อสร้างเพื่อสาธารณประโยชน์

พ.ศ. ๒๕๓๗- ก่อสร้างประปาใช้ในวัดเทพสิทธิการาม และบริการประชาชนใกล้เคียง จำนวนเงิน ๘๐,๐๐๐.- บาท

- ก่อสร้างสะพานพิมลธรรมานุศิษฐ์ ข้ามคลองบ้านไร่ จำนวนเงิน ๖๐๐,๐๐๐.- บาท

พ.ศ. ๒๕๓๘ก่อสร้างอาคารปวโร ตึกอาพาธ โรงพยาบาลสามง่าม จำนวนเงิน ๕,๑๑๒,๑๓๒.-บาท

พ.ศ. ๒๕๐๕สร้างอาคารเรียน จำนวน ๑ หลังให้กับโรงเรียนวัดบ้านไร่ เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ใต้ถุนโล่ง

รางวัลที่ได้รับ

พ.ศ. ๒๕๓๙พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการสงเคราะห์ประชาชน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) ในงานสัปดาห์ ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๓๙

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) เป็นที่ปรึกษาพิเศษของพระครูพินิตธรรมภาณ เจ้าคณะอำเภอสามง่าม (ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดวังแดง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ปัจจุบัน พระครูพินิตธรรมภาณ มรณภาพแล้ว นอกจากนี้ หลวงพ่อขวัญยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นที่รู้จักของชาวพุทธทั่วประเทศพระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโนรักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพสิทธิการาม หรือวัดบ้านไร่ เล่าว่า หลวงพ่อขวัญ สร้างวัตถุมงคล สำหรับแจกให้กับประชาชนเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ประชาชนได้บริจาคไม้ สำหรับก่อสร้างเสนาสนะ โรงเรียน เป็นต้น วัตถุมงคลที่สร้างชื่อ คือแหวนพิรอด(หลวงพ่อขวัญจะเรียกแหวนที่ท่านทำเองว่า“แหวนพิรอด”ซึ่งลักษณะการสานเหมือนตะกร้อ ประชาชนจึงมักเรียกว่า“แหวานตะกร้อ”จนถึงปัจจุบัน) มีทั้งหมด ๓ แบบ คือ ทอง เงิน และทองแดง โดยจะนำวัตถุทั้งสามมาสานเป็นรูปตระกร้อครึ่งซีกมีพุทธานุภาพในทางเมตามหานิยมและป้องกันอสรพิษทุกอย่าง โดยเฉพาะแหวน ตระกร้อเนื้อทองเหลือง รุ่น ๙๗ เป็นแหวนที่หลวงพ่อขวัญปลุกเสกเอง นอกจากนี้ยังมีตะกรุด เหรียญ พระพงสมเด็จ พระพงนางพญา พระพงนางกวัก สติ๊กเกอร์รูปเหมือนหลวงพ่อ เป็นลักษณะวงรียันล้อมรอบ สติ๊กเกอร์ ดังกล่าวเป็นที่โจษขานกันในทางแคล้วคลาด ผู้ที่ออกรถใหม่มักจะบูชาไปติดไว้ที่รถ แต่จะเป็นที่รู้กันว่าหากออกรถมาใหม่จะต้องรอประมาณ ๓ เดือน จึงจะบูชาไปติดได้ เพราะที่ผ่านมามีผู้ที่บูชาสติ๊กเกอร์ไปติดทันทีเมื่อซื้อรถใหม่ ปรากฏว่าประสบอุบัติเหตุแทบทุกราย แต่คนขับจะไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย ทำให้เชื่อกันว่าใครที่นำไปติดรถใหม่ทันทีจะเป็นการลองของ ขณะที่พระสมเด็จรุ่นสะพานหัก เป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคลที่โด่งดัง

สถานที่ตั้งขององค์ความรู้: (เช่น วัด, กลุ่มอาชีพ เป็นต้น)

วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่) เลขที่ ๑๖๑ หมู่ที่ ๑๐ บ้านไร่ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรรหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๔๐

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑. คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)เป็นพระผู้ประเสริฐโดยธรรมอย่างแท้จริง ท่านเป็นพระนักพัฒนาและพระนักก่อสร้าง ท่านให้ความช่วยเหลือสังคมโดยการบริจาคทรัพย์ในการก่อสร้างที่ศาสนสถาน สถานศึกษา โรงพยาบาล และหน่วยงานทางราชการต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นพระสังฆาธิการที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่งหลังได้เป็นอย่างดี

๒.บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

อำเภอสามง่าม ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ร่วมจัดงานประเพณี จำนวน ๒ ครั้ง ดังนี้

1.วันที่ ๑๘ กันยายน ของทุกปี งานวันคล้ายวันเกิด พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)ช่วงแรก ๆ ที่หลวงพ่อขวัญยังมีชีวิต จะจัดพิธีทำบุญตักบาตร ต่อมาเมื่อหลวงพ่อขวัญมรณภาพ คณะกรรมการวัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่) ร่วมใจกันจัดงานเหมือนเช่นทุกปี แต่เพิ่มกิจกรรมด้วยการเปลี่ยนจีวรให้หลวงพ่อขวัญ

๒. วันที่ ๑๙ ธันวาคม ของทุกปี จะตรงกับวันที่พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร) มรณภาพ คณะกรรมการวัดพร้อมใจกันจัดงานสมโภชหลวงพ่อขวัญ ปวโร เพื่อเป็นการนมัสการและรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของหลวงขวัญที่มีต่อประชาชนชาวอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร

พระครูพิมลธรรมานุศิษฐ์ (หลวงพ่อขวัญ ปวโร)เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดพิจิตร ทุกวันที่ ๑๘ กันยายน และวันที่ ๑๙ ธันวาคม คณะกรรมการวัดเทพสิทธิการาม จะจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้หลวงพ่อขวัญเป็นประจำทุกปี และเป็นพระเกจิที่ชาวจังหวัดพิจิตรรู้จักเพราะท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพระนักพัฒนา ไม่ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ตลอดชีวิตได้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองจนสิ้นอายุขัย

ข้อเสนอแนะ

ควรจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในการศึกษา เรียนรู้ บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

วัตถุมงคล (แหวนพิรอด)

แหวนพิรอด หรือแหวนตะกร้อ พุทธคุณ นอกจากความแคล้วคลาดแล้วยังมีความเชื่อเรื่อง การกลับร้ายเป็นดีด้วยเช่นกัน ถ้าคนมีเคราะห์กรรมหรือดวงชะตาไม่ดี แหวนหลวงพ่อขวัญจะช่วยให้เคราะห์หนักกลายเป็นเบาหรือทำให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จแคล้วคลาดปลอดภัยคำอารธนา คาถาหัวใจยันต์ตะกร้อ บูชาแหวน ๓ จบ. " ติละปาตุลังเต มะกันติ หะเนติ อุรุปัตตานิ มะยังติภันเต"

เกร็ดความรู้เรื่องแหวนพิรอด

ตำนาน แหวนพิรอด

เครื่องรางของขลังที่คนโบราณนิยมกันว่าเป็นมงคลอีกอย่างหนึ่งก็คือ "แหวนพิรอด" ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างหายาก และอาจารย์ที่ทำดูจะหายากตามไปด้วย นับเป็นวัฒนธรรมเครื่องรางของขลังโบราณอีกชนิดหนึ่งที่กำลังจะหายไปกับยุคโลกาภิวัฒน์ หรือยุคเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะนำพาสังคมไทยไปในรูปแบบใดจะเป็นการสร้างชาติ หรือสิ้นชาติที่หมาย ถึงการสูญเสียวัฒนธรรมเก่าๆไปแลกกับวัฒนธรรมขยะยุคไอ.ที. (I.T.) ที่วัยรุ่นปัจจุบันมักมีพฤติกรรมแปลกให้เห็นอยู่เสมอๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ฝากข้อคิดไว้นิดว่าชาติจะมีความหมายอะไร ถ้าหากเราไม่สามารถรักษาเอกลักษณ์คือวัฒนธรรมเอาไว้ได้

แหวนพิรอดว่ามีสองชนิด
ตามตำราไสยศาสตร์นั้นบอกเล่าเรื่องราวของ แหวนพิรอดว่ามีสองชนิด คือชนิดเล็กใช้สวมนิ้ว ชนิดใหญ่ใช้สวมแขน ซึ่งมักเรียกว่า “สนับแขนพิรอด” (ชนิดนี้บางทีทำด้วยโลหะผสมก็มี ตรงหัวทำเป็นเหมือนหัวแหวนพิรอด) ซึ่งสนับแขนนี้เดิมยังใช้เป็นอาวุธของนักมวยในการกอดปล้ำที่เข้าวงใน เพราะแหวนแขนที่ทำจากด้ายดิบหากลงรักจะแข็งและคม ซึ่งใช้ถูกับผิวหนังนักมวยฝ่ายตรงข้ามทำให้เจ็บและไม่อยากเข้าต่อสู้ด้วยการกอดปล้ำ เป็นการจำกัดรูปมวยฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าพาให้เขาเข้าทางมวยฝ่ายเรา ซึ่งทำให้ได้เปรียบในเชิงการต่อสู้ ในปัจจุบันจะพบเห็นในการแข่งขันชกมวยไทย แต่ปัจจุบันคงเป็นแค่เครื่องรางอย่างหนึ่งเท่านั้น

วัสดุที่ใช้ทำแหวนพิรอด

วัสดุที่ใช้ทำแหวนพิรอดโดยมากทำด้วยกระดาษว่าวกับถักด้วยเชือก ตำนานแหวนพิรอดเมื่อย้อนยุคไปเมื่อสักเกือบศตวรรษนั้น แหวนพิรอดของหลวงพ่อม่วง วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อมากขนาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่๕) ได้ทรงกล่าวถึงอาจารย์ที่สร้างแหวนพิรอดที่ขึ้นชื่อลือชาในสมัยที่พระองค์ประสบพบเห็น โดยทรงพระราชนิพนธ์บันทึกไว้นี้สองท่านคือ รูปหนึ่งคือ เจ้าอธิการเฮง วัดเขาดิน เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้นำแหวนพิรอดมาถวายพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ได้ทรงวิจารณ์ไว้ว่า "เอาแหวนถักพิรอดมาแจกแหวนนั้นทำนองเดียวกับขรัวม่วงวัดประดู่ แต่ขรัวม่วงถักด้วยกระดาษลงรักนี่ถักด้วยด้ายทำเรียบร้อยดี" ซึ่งพอจะคะเนได้ว่าพระเถระทั้งสองรูปน่าจะเป็นเกจิอาจารย์ของเมืองกรุงเก่า(อยุธยา) แหวนพิรอดเดิมทีนั้นใช้วัสดุที่หาได้จากใกล้ๆตัวตามวิถีชีวิตคนในสมัยนั้นคือมักทำด้วย กระดาษว่าว ก็เพราะเป็นกระดาษที่เหนียวแน่นดีกว่ากระดาษชนิดอื่น


ลงยันต์แหวนพิรอด
เมื่อจะต้องทำลงยันต์แหวนพิรอดในกระดาษยันต์นี้ประกอบด้วยรูปพระภควัม หรือเลขยันต์ตามแต่พระเกจิอาจารย์แต่ละสายจะกำหนดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นว่าเป็นกลเม็ดเด็ดพรายตามแต่สำนักใดจะสร้างขึ้น โดยมีความเชื่อกันอยู่อย่างหนึ่งถึงวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องรางแหวนพิรอด ที่สร้างขึ้นว่ามีอิทธิคุณถึงขั้นหรือยังคือเมื่อทำแล้วให้ทดลองเอาไฟเผาดู ถ้าไม่ไหม้ก็ใช้ได้ พระอาจารย์ผู้สร้างจึงจะนำมาตกแต่งเพื่อความมั่นคงทนทานและสวยงาม อันแหวนพิรอดนั้น โดยมากมักจะลงรักเพื่อป้องกันความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แหวนผุง่ายไม่คงทน

ลอร์ดออฟเดอะริงค์ อย่างไทยๆ เรา

ในตำราไสยศาสตร์นั้นยังระบุอธิบายวิธีใช้ไว้ว่า ถ้าจะเข้าสู้รบทำสงคราม ให้ถือแหวนกระดาษนี้แล้วบริกรรมด้วย "มะอะอุฯ" และถ้าจะให้เป็นตบะเดชะในสงคราม ทำให้ข้าศึกครั่นคร้าม ให้บริกรรมด้วยคาถา "โอม ยาวะ พะกาสะตรีนิสิเหฯ" ว่ากันว่าไม่แต่เพียงศึกมนุษย์ถึงศึกเทวดามาก็ไม่ต้องกลัว ซึ่งคงเป็นแบบเรื่องราวของ “ลอร์ดออฟเดอะริงค์”อย่างไทยๆ เรา

ความเป็นมาของเงื่อน
เคยได้ยินคนรุ่นเก่าเล่ากันว่า แหวนหลวงพิรอด เรื่องนี้เห็นจะเป็นเพราะลากเข้าความกันมากกว่า เท่าที่อ่านพบจากการสันนิษฐานของนักปราชญ์ชาวตะวันตก(อิตาลี)ที่เข้ามารับราชการ จนเป็นถึงเจ้ากรมยุทธศึกษาของกองทัพบกไทยคนแรกในการทหารยุคใหม่คือ ยี. อี.เยรินี (พันเอกพระสารสารขันธ์)กล่าวว่า “ชื่อ พิรอด มาจากภาษาสันสกฤตว่า วิรุทธ หรือ พิรุทธ แปลว่า อันขัดกันอยู่ อันได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง อันตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาจากลายที่ถัก ก็ใช้ขัดกันแบบเงื่อนลูกเสือที่เรียกกันว่า เงื่อนพิรอด ก็ดูจะสมกับชื่อในภาษาสันสกฤตอยู่มาก เงื่อนพิรอดนั้นเป็นเงื่อนที่ใช้กันมาแต่โบราณนานมาก หลักฐานที่พอจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ก็คือรูปสลักหินโบราณของพวกขอม จะเห็นว่าผ้าคาดเอวตรงด้านหน้าทำเป็นเชือกผูกเป็นเงื่อนพิรอดอย่างนี้เหมือนกัน เงื่อนชนิดนี้ยิ่งดึงยิ่งแน่น”

คาถาอาคม ที่ใช้กับเงื่อน ขอเกจิอาจารย์ ต่างๆ
เงื่อนพิรอดนั้นจัดเป็นเงื่อนสำคัญที่ใช้ในการต่อเชือกหรือการผูกโยงเพื่อความมั่นคง แน่นหนาอย่างวิชาเชือกคาดสายหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ ที่ต่อยุคมายังหลวงปู่ธูปวัดแค นางเลิ้ง กทม. ซึ่งพระเกจิอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้ทรงคุณวิทยาสูงส่งเฉพาะด้านมหานิยมก็เข้มขลังขนาดอมตะ ดาราอย่าง คุณ มิตร ชัยบัญชายังนับถือเป็นลูกศิษย์ซึ่งวงการผู้นิยมเครื่องรางก็ทราบกันดี โดยเชือกคาดสายหลวงปู่ขันนั้นเวลาคาดต้องขัดเป็นเงื่อนพิรอด มีคาถากำกับว่า “พระพิรอดขอดพระพินัย” และเวลาแก้เชือกก็มี คาถาว่า “พระพินัยคลายพระพิรอด” อันจะเห็นได้ว่าศาสตร์การใช้เงื่อนพิรอดนั้นยังสืบมาถึงเครื่องคาดอย่างเชือกหรือการ ผูกตะกรุด พิสมรซึ่งต้องรวมถึงเครื่องรางโบราณอีกชนิดที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีเกจิอาจารย์สร้างก็คือ “ผ้าขอด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องพิรอดด้วยโดยผ้าขอดนั้นจะเป็นการขัด “พิรอดเดี่ยว” เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเรื่องผ้าขอดในยุคเก่าๆเช่นหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดอยุธยา หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ จ.อยุธยา หลวงพ่อกวย ชุตินธโร จ.ชัยนาท เป็นต้น ในส่วนเครื่องรางผ้าขอดสายวัดสะแก จ.อยุธยา ก็มีชื่อเช่นกันแต่เป็นฆารวาส ที่ชื่อว่า เฮง ไพรวัลย์ ลอยเรืออยู่ท่าน้ำวัดสะแกบางคนเรียก ว่า อาจารย์เฮงเรือลอยก็มี (ความรู้เพิ่มเติมเรื่องเงื่อนศักดิ์สิทธิ์นี้อ่านที่คอลัมมายิกไท-เทศ;อุณมิลิต เล่มที่ ๑๐ - ๑๑)...

Location
วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่)
No. 161 Moo 10
Tambon สามง่าม Amphoe Sam Ngam Province Phichit
Details of access
วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่)
Reference พระอนุลักษ์ ฐิตวฑฺฒโน
Organization วัดเทพสิทธิการาม (วัดบ้านไร่)
No. 161 Moo 10
Tambon สามง่าม Amphoe Sam Ngam Province Phichit ZIP code 66140
Tel. 084-1815540
Website www.m-culture.go.th/phichit
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่