ประวัติความเป็นมา
ชุมชนบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า เป็นพื้นที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุดในพื้นที่ประสบภัย ๖ จังหวัด ความเสียหายอันหนักหน่วง ที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านน้ำเค็ม เป็นผลมาจากภูมิประเทศของที่ตั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบติดทะเล และไม่มีแนวป่าใดๆกั้น รวมทั้งมีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น จากการสำรวจพบว่าระดับความสูงของคลื่นอยู่ประมาณ ๘ เมตร วัดจากร่องรอยความเสียหายของต้นสนริมทะเล ซึ่งข้อเท็จจริงอาจจะมีความสูงกว่านี้ก็ได้ดูจากคราบของน้ำที่ปรากฏอยู่ ระดับน้ำสูงสุดที่วัดได้ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ ๖๐ เมตร และมวลน้ำได้เดินทางเข้าไปในระยะทาง ๑,๖๗๓ เมตร จากแนวชายฝั่ง ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ บ้านน้ำเค็ม ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก นอกเหนือจากภาพชีวิต ที่สูญเสียและซากบ้านเรือนที่พังทลายจากคลื่นยักษ์ที่โหมกระหน่ำยังมีภาพจากซากเรือประมง ขนาดใหญ่มากมายที่ถูกซัดมาเกยตื้นในชุมชนบ้านน้ำเค็ม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของกระแสคลื่นที่ทำลายวิถีชีวิตอันสงบสุขของชุมชนชาวประมงบ้านน้ำเค็มให้แหลกสลายไปในพริบตา
ซากเรือประมงที่ถูกคลื่นยักษ์พัดพาขึ้นมาเกยตื้นบนฝั่งในชุมบ้านน้ำเค็ม เปรียบเสมือนอนุสรณ์บันทึกความทรงจำจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ที่คอยเตือนใจให้ระลึกถึงชีวิตที่สูญเสียไปกับพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในยามที่โหดร้าย ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างบาดแผลลึกไว้ในหัวใจของสูญเสียหาย แต่ยังเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์แห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งสำคัญของมนุษย์ชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรณีพิบัติ ณ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ให้ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุงเพื่อสร้างความสุขและความเจริญ อันยังยืน คณะกรรมการอำนวยการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากเหตุการณ์ภัยพิบัติ สึนามิเพื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา จึงได้ดำเนินงานที่เกี่ยวกับเรือประมง เกยตื้น บ้านน้ำเค็ม จากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ และได้ ของบกลางซื้อเรือและวัสดุที่เสียหายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ในพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภัยพิบัติจากสึนามิ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิฯ จำนวน 64,818,000.-บาท ณ บริเวณที่เรือเกยตื้น ทั้ง ๒ ลำ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เฉพาะพื้นที่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา และในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตกแต่งภายในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิฯ จำนวน 30,000,000.-บาท โดยดำเนินการฟื้นฟูแบบบูรณาการและมุ่งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน สำหรับรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ บริเวณก่อสร้างมีพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปบริเวณต่างๆ ของบ้านน้ำเค็มได้ แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วนหลัก ได้แก่ ๑. ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง โดยจำลองภาพของเรือที่พบในเหตุการณ์ภัยพิบัติไว้ ส่วนที่ ๒. ภูมิทัศน์และพืชพันธุ์มีความเป็นเอกลักษณ์ทำให้รู้สึกสงบ และมีความเคารพในสถานที่ ส่วนที่ ๓. ส่วนบริการข้อมูล มีลักษณะเปิดโล่ง สำหรับกิจกรรมของชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยว อนึ่งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้ จะได้เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ภัยคลื่นยักษ์ที่บ้านน้ำเค็ม อีกทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์-ท่องเที่ยวเชิงความรู้ โดยเสนอความรู้เชิงศิลปวัฒนธรรม สังคม สถาปัตยกรรมพื้นที่ วิถีชีวิตชาวบ้าน โดยเน้นพัฒนาศักยภาพที่ยั่งยืนระหว่างชุมชน
เพื่อให้การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงาจึงได้ทำโครงการค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ และพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาขึ้น