ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 12° 47' 52.4231"
12.7978953
Longitude : E 102° 9' 47.7785"
102.1632718
No. : 193817
คำขวัญจังหวัดจันทบุรี
Proposed by. จันทบุรี Date 15 June 2021
Approved by. จันทบุรี Date 15 June 2021
Province : Chanthaburi
0 731
Description

เก็บรวบรวมโดย “ปราณ ปรีชญา”

“น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี”

พัฒนาการคำขวัญของจังหวัดจันทบุรี

คำขวัญของจังหวัดจันทบุรีในปัจจุบันได้นำเอกลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจของจังหวัด และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชของชาติไทยรวบรวมไว้ในความยาว ๘ วรรค ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓

ก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จังหวัดจันทบุรีมีคำขวัญครั้งแรกเพียง ๕ วรรค และเพิ่มเป็น ๘ วรรค [รุ่นที่ ๑] เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อมาได้มีการปรับเพิ่มคำใน ๒ วรรคสุดท้าย คงไว้ ๘ วรรคตามเดิมถือเป็นรุ่นที่ ๒ [พ.ศ. ๒๕๔๓] และได้ใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

ที่มาของคำขวัญ

กำเนิดคำขวัญจังหวัดจันทบุรีเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ ๑๙ ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ ในสมัยของนายสมพงศ์ พันธ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี [๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒]

ได้มีคำสั่งจังหวัดจันทบุรีที่ ๑๕๒๕/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน ๖ ท่าน เพื่อสรรหาและจัดประกวดคำขวัญขึ้น คณะกรรมการประกอบด้วย

๑. นายละออ วรรณทอง ประธานกรรมการ

๒. หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยรำไพพรรณี กรรมการ

๓. หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี กรรมการ

๔. หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนศรียานุสรณ์จันทบุรี กรรมการ

๕. หัวหน้าศึกษานิเทศก์ภาษาไทย การประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี กรรมการ

๖. นายมนูญ วรรณภูธา กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการได้คัดเลือกคำขวัญสำนวน 'น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร’ จากจำนวนผู้ส่งเข้าประกวดหลายราย คำขวัญที่ชนะเลิศเป็นผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนศรียานุสรณ์

• ความหมายในคำขวัญ

คณะกรรมการส่วนใหญ่เลือกสำนวนนี้เนื่องจากเขียนได้ความยาวไม่เกินตามข้อกำหนด บรรจุของดีและเอกลักษณ์ของจันทบุรีไว้ครบด้านทุกวรรคตอน การใช้คำมีความคล้องจอง สละสลวย ซึ่งความหมายในคำขวัญทั้ง ๕ วรรค มีดังนี้

น้ำตกลือเลื่อง จันทบุรีมีน้ำตกธรรมชาติหลายแห่ง แต่ละสถานที่มีชื่อเสียงและความงดงามตามธรรมชาติแตกต่างกัน อาทิ น้ำตกพลิ้ว น้ำตกสอยดาว น้ำตกกระทิง ฯลฯ

เมืองผลไม้ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ความอุดมสมบูรณ์ และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกพืชผลได้หลากหลายชนิด ทำให้ผืนดินของจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้นานาพันธุ์ป้อนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

พริกไทยพันธุ์ดี พริกไทยจัดเป็นพืชสกุลเดียวกับพลู และเป็นพืชเศรษฐกิจจำพวกเครื่องเทศมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จันทบุรีมีเกษตรกรและพื้นที่ปลูกพริกไทยจำนวนมาก จึงถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเทศที่สำคัญของประเทศ

อัญมณีมากเหลือ จันทบุรีเป็นแหล่งอัญมณีที่มีชื่อเสียงก้องโลก และพลอยแดง ‘ทับทิมสยาม’ ถือว่ามีราคาที่สูงมาก

เสื่อจันทบูร ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้ชาวจันท์ในเรื่องฝีมือที่ประณีต มีความสวยงาม เสื่อจันทบูรทอมาจากกกพืชในธรรมชาติ อาชีพดั้งเดิมที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน และได้รับการผลิตเป็นของใช้หลายชนิด ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชีในรัชกาลที่ ๗

การเปลี่ยนแปลงคำขวัญครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๓๙

คำขวัญของดีเมืองจันท์ ๕ วรรค ดังกล่าวได้ใช้กันเรื่อยมาทั้งในหนังสือแนะนำจังหวัด หนังสือท่องเที่ยว ป้ายประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ส่งผลให้จังหวัดจันทบุรีมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำของสาธารณะและประชาชนทั่วไป จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นายอมร อนันตชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี [๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑] มีดำริว่าเมืองจันทบุรีเป็นดินแดนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกใช้เป็นสถานที่รวบรวมไพร่พลเพื่อไปกอบกู้เอกราช สมควรเทิดพระเกียรติของพระองค์โดยจารึกไว้ในคำขวัญของจังหวัดด้วย จึงมีการเพิ่มวรรคต่อท้ายในคำขวัญอีก ๓ วรรค ดังปรากฏคำอธิบายถึงเหตุผลในหนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๘ ‘ตากสินเกม’ ดังนี้

ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ คุณภาพและศักยภาพของชาวจันท์ จึงมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า ‘น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินกู้ชาติ รวมญาติที่จันทบุรี’

ด้วยความภาคภูมิใจของชาวจันท์ในประวัติศาสตร์ การกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และการได้รับเกียรติจากกรมพลศึกษา ให้จัดการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๘ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้การแข่งขันกีฬาในครั้งนี้เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกนักกีฬา และเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล กล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีความเสียสละและเห็นประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง อันเป็นการปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงตั้งชื่อการแข่งขันครั้งนี้ว่า ‘ตากสินเกม’

คำขวัญจังหวัดจันทบุรี ๘ วรรค [รุ่นที่ ๑] มีความว่า ‘น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินกู้ชาติ รวมญาติที่จันทบุรี’ จึงปรากฏใช้เป็นครั้งแรกในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา ‘ตากสินเกม’ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และลงพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๘ ‘ตากสินเกม’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙

การเปลี่ยนแปลงคำขวัญครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๓

เมื่อนายอัครพงศ์ พยัคฆันตร ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี [๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔] ได้พิจารณาวรรคที่ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินกู้ชาติ’ นั้นควรมีคำว่า ‘มหาราช’ ต่อท้ายด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้เทิดพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ และคำขวัญเดิมมีความหมายผิดเพี้ยนในวรรคที่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินกู้ชาติ รวมญาติที่จันทบุรี

คนอาจสับสนตีความหมายไปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรวบรวมญาติแล้วกู้ชาติที่จันทบุรี ซึ่งเหตุการณ์ที่แท้จริงคือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกระทำการกู้เอกราชของชาติโดยรวบรวมญาติจากจังหวัดจันทบุรียกพลไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น นายอัครพงศ์ จึงได้ให้แก้ไขเพิ่มคำว่า ‘มหาราช’ ต่อท้ายในวรรคที่ ๗ และสลับคำในวรรคที่ ๗ และ ๘ คำขวัญจังหวัดจันทบุรีจึงมีข้อความใหม่ดังนี้ 'น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี'

---------------------------------------

• บางส่วนของลำดับการแกะร่องรอยคำขวัญจันทบุรี

- จุดประกายเริ่มต้น

"คำขวัญน่าจะเกิดประมาณปี ๒๕๓๐ ก่อนหรือหลังผมไม่ค่อยแน่ใจ มีการประกวดคำขวัญกันคนที่น่าจะรู้เรื่องดีคือคุณอำนาจ เพ่งจิตต์ คงจะชนะประกวดด้วยแต่ได้รางวัลอะไรผมไม่แน่ใจนะลองไปสอบถามคุณอำนาจดูอีกทีนะ" นายมนตรี พงษ์เจริญนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจันทบุรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๐

นายอำนาจ เพ่งจิตต์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไผ่ล้อม [๓๑ มีนาคม ๒๕๒๙ - ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๕],อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี [พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙-๑๐ กันยายน ๒๕๖๐ “ที่มีชื่อว่าผมเป็นผู้ชนะเลิศคำขวัญนั้นขอปฏิเสธว่าไม่ใช่ น่าจะเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนศรียานุสรณ์ ผมเขียนเอกลักษณ์ของเมืองจันท์ไว้ก่อนที่จะมีการประกวดเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๙ ปี ผมได้นำของดีเมืองจันท์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เขียนบนป้ายผ้าให้ขบวนพาเหรดถือเข้าสู่สนามกีฬาที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่จำไม่ได้ว่ามีกี่ข้อความ แต่มีข้อความหนึ่งที่จำแม่นเลยคือทะเลงามตา”

- ข้อมูลกำเนิดคำขวัญครั้งแรก [ข้อมูลขณะสัมภาษณ์ยังไม่ชัดเจนเรื่องปี พ.ศ. ซึ่งเข้าใจว่ามีการประกวดประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐]

คุณครูสมเสริฐ รัตนานนท์ ข้าราชการบำนาญ โรงเรียนศรียานุสรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินคำขวัญจังหวัดจันทบุรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐ “ผู้ที่ชนะคำขวัญนั้นเป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนศรียานุสรณ์ที่เขียนส่งในนามส่วนตัว เสียดายที่ดิฉันจำชื่อไม่ได้ เวลามันผ่านมาตั้ง ๓๐ ปีแล้ว จำได้คร่าวๆ ว่ารางวัลชนะเลิศได้รับเงินรางวัลประมาณ ๕๐๐ บาท แล้วก็มีที่ ๒ ที่ ๓ รางวัลชมเชย กรรมการตอนนั้นที่จำได้มีพี่มณีรัตน์ เวชทรัพย์ และใครอีกจำไม่ได้ประมาณเกือบ ๑๐ ท่านที่ร่วมเป็นกรรมการจากคำสั่งแต่งตั้งของจังหวัด คำขวัญที่ส่งเข้าประกวดก็มีเป็นร้อยสำนวน ได้คัดเลือกไว้รอบสุดท้ายเกือบ ๑๐ สำนวน กรรมการทั้งหมดได้ลงมติเลือกสำนวนนี้ ยกเว้นดิฉันที่ไม่ได้เลือก”

- การเปลี่ยนแปลงคำขวัญครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙

นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ระดับชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๒-๑๓ กันยายน ๒๕๖๐ “ปี ๒๕๓๙ จันทบุรีเป็นเจ้าภาพกีฬาตากสินเกม ผมได้เป็นคณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก ท่านผู้ว่าอมรบอกว่าเมืองจันท์เรามีธรรมชาติที่สมบูรณ์มากมาย แผ่นดินก็เป็นที่รวมพลของสมเด็จพระเจ้าตากสินคราวไปกู้เอกราชของชาติ ท่านจึงให้เพิ่มสมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินกู้ชาติ รวมญาติที่จันทบุรี และนำไปใช้ในงานกีฬาเป็นครั้งแรก”

- การเปลี่ยนแปลงคำขวัญครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ - ๒๕๔๔

นายมนตรี ธนภิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านแผนงาน กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดจันทบุรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐ “ผมย้ายมาประมาณปี ๒๕๔๒ ถึงสมัยท่านผู้ว่าอัครพงษ์ ได้มีการเพิ่มมหาราชต่อท้ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน แล้วก็แก้ไขซึ่งใช้มาถึงปัจจุบัน”

- พบเอกสารสำคัญที่แสดงถึงจุดกำเนิดคำขวัญจังหวัดจันทบุรี พ.ศ. ๒๕๒๙

คุณครูสมเสริฐ รัตนานนท์ ได้พบเอกสารคำสั่งที่ ๑๕๒๕/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน ๖ ท่านเพื่อสรรหาและจัดประกวดคำขวัญ ซึ่งท่านเป็น ๑ ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย

บทความนี้ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน เนื่องจากยังขาดชื่อของผู้ที่ชนะการประกวดคำขวัญ หากมีเอกสารที่คณะกรรมการได้ส่งรายงานผลการประกวดให้กับจังหวัด ก็จะทราบชื่อและบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติต่อไป ....ปราณ ปรีชญา ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐....

>>>บรรณานุกรม<<<

คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก ๘๐ ปี ศรียานุสรณ์. ครบรอบการสถาปนา ๘๐ ปี โรงเรียนศรียานุสรณ์ จันทบุรี- - กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์, ๒๕๔๓.

คะนอง พิลุน. นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี- -กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๗.

จังหวัดจันทบุรี. ที่ระลึกการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๘ ‘ตากสินเกม’- -จันทบุรี : จังหวัดจันทบุรี, ๒๕๓๙.

จังหวัดจันทบุรี. สูจิบัตรการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๙ จังหวัดจันทบุรี- -จันทบุรี : จังหวัดจันทบุรี, ๒๕๒๙.

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย- -กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, ๒๕๕๔.

Category
Etc.
Location
จังหวัดจันทบุรี
Province Chanthaburi
Details of access
facebook ปราณ ปรีชญา (คนอาสาบันทึกจารึกแผ่นดิน)
Reference ปราณ ปรีชญา (นามแฝง)
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี Email chantaboon_culture@hotmail.com
Tambon วัดใหม่ Amphoe Mueang Chanthaburi Province Chanthaburi ZIP code 22000
Tel. 039303298
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่