พระครูพิพัฒน์พลาทร เจ้าอาวาสวัดโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ผู้ให้ข้อมูล
ที่บริเวณใต้ฐานเสาธงหน้าโรงเรียนวัดโขมง [แจงพิทยาคาร] มีปืนใหญ่โบราณติดตั้งอยู่กระบอกหนึ่ง พระครูพิพัฒน์พลาทร เมตตาเล่าให้ฟังว่า “เดิมปืนใหญ่กระบอกนี้ติดตั้งไว้ที่ปากคลองค่าย เป็นคลองสามแยกก่อนออกสู่ปากแม่น้ำ ชาวบ้านไปช่วยกันขนมาไว้ที่นี่ คนที่ไปขนที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้อายุ ๙๐ กว่าแล้ว ชื่อสำราญ บ้านอยู่ตรงทางไป อบต. โขมง”
สำราญ เจนการ เป็นอดีตกำนันตำบลโขมง ชาวบ้านเรียกว่า 'กำนันถวน' เกิดเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุใกล้จะครบ ๑๐๐ ปีเต็ม ยังมีสายตาและความจำดี เล่ารำลึกเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้นให้ฟังว่า [สัมภาษณ์เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑]
“บริเวณปากคลองค่ายเป็นจุดสกัดพวกญวนในสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุคราวเดียวกันกับค่ายที่เนินวง [พ.ศ. ๒๓๗๗] เขาสร้างไว้เป็นคันดินสี่เหลี่ยมขนาดครึ่งไร่ มีช่องปืน ๔ ช่อง ปืนใหญ่วางที่ช่อง หันปากกระบอกไปทางปากน้ำแขมหนู คนรุ่นเก่าเขาบอกว่ามี ๒ กระบอก แต่น่าจะตกน้ำหายไปกระบอกหนึ่ง”
‘ปากคลองค่าย’ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'ปากคลองตอง' เป็นจุดบรรจบของคลองวังโตนดกับคลองท่าใหม่แล้วไหลไปลงทะเลที่อ่าวเกาะนก [ทิศใต้ของบ้านโขมง] อ่าวนี้มีความยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร บริเวณปากอ่าวเรียกว่า 'ปากน้ำแขมหนู'
เถา เวชประสิทธิ์ ชาวบ้านตำบลโขมง วัย ๗๕ ปี [เกิด พ.ศ. ๒๔๘๖] อธิบายเพิ่มเติมว่า “บริเวณมันเป็นคลองสามแยกทางซ้ายไปท่าใหม่ ทางขวาไปออกทะเลที่ปากน้ำแขมหนู จึงมีการสร้างค่ายปืนไว้ป้องกันข้าศึกที่จะยกทัพทางทะเลทะลุมาถึงโขมงได้ สมัยเด็กผมยังเห็นเนินดินที่ถมขึ้นมาเป็นฐานริมคลอง แต่เหลือด้านเดียว แล้วมีปืนใหญ่วางไว้บนคันดินหันไปทางปากน้ำแขมหนู พื้นที่โดยรอบ ๆ ก็เป็นป่าโกงกาง”
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องระยะทางเสด็จประพาสจันทบุรี ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ [พ.ศ. ๒๔๑๙] เป็นการเสด็จฯ จันทบุรีครั้งที่ ๒ ทรงบรรยาย 'ว่าด้วยเมืองจันทบุรีแต่เดิม แลปัจจุบัน' ความตอนหนึ่งกล่าวถึงด่านทางน้ำที่บ้านโขมงไว้ดังนี้
"...ในเมืองจันทบุรีนี้ มีเมืองขึ้น ๒ หัวเมือง คือเมืองขลุงเมือง ๑ เมืองแกลงเมือง ๑ ด่านจันทบุรีมี ๖ ด่าน เป็นด่านบก ๓ ตำบล ด่านน้ำ ๓ ตำบล ด่านบกนั้น ตำบลด่านโป่งแห่ง ๑ ด่านช่องแคบตำบล ๑ เป็นทางไปเมืองพระตะบอง ทั้ง ๒ ตำบล ด่านหางแมวนั้นเป็นทางไปเมืองปราจีนบุรี มีไพร่สำหรับด่าน ๓๐ คน ด่านน้ำ ๒ ตำบลนั้น ด่านปากน้ำแหลมสิงห์ตำบล ๑ ด่านแขมหนูมารวมลำน้ำเมืองจันทบุรีตำบล ๑ มีขุนด่านหมื่นด่านไพร่สำหรับรักษา ๔๐ คนเศษ..."
และทรงบรรยายตอน 'ตามทางไปเขาพลอยแหวน' เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีชวด ไว้ดังนี้
"...เวลา ๒ โมงครึ่ง เลี้ยวแหลม มาเห็นเขาพลอยแหวนสนัดทีเดียว ๓ โมงเช้ามาถึงคลองไปแขมหนูออกถึงทะเล มีด่านตั้งไว้แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาอีกหน่อยหนึ่งข้างฝ่ายตะวันออกมีคลองครุ ไปตกบางโตนด..."
ด่านแขมหนูที่ทรงกล่าวถึงน่าจะหมายถึงด่านที่ปากคลองค่าย หรือปากคลองตอง
ปัจจุบันปากคลองค่ายไม่เหลือเค้าเดิมของคันดินตามแนวชายคลองแล้ว ปืนใหญ่นั้นชาวบ้านได้นำไปไว้ที่ใต้ฐานเสาธงหน้าโรงเรียนวัดโขมง [แจงพิทยาคาร]
“ผมระดมคนที่มาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวไปช่วยกันเอามา” ลุงสำราญ เล่าว่า นำเรือ ๒ ลำ ชื่อ ‘อีโศกกา’ กับ ‘อีเก๋ง’ จากวัดโขมงพร้อมชายฉกรรจ์เกือบ ๖๐ คน ช่วยกันนำปืนใหญ่มาจากปากคลองค่าย
วิธีการนำปืนใหญ่จากปากคลองค่ายมาที่วัดโขมงนั้น ลุงสำราญอธิบายให้ฟังว่า
“เอาเรือมาตีคู่กันให้มีช่องว่างตรงกลางระหว่างเรือไว้หน่อย แล้วเอาไม้พาดเรือทั้งหัวท้ายมัดเชือกผูกติดกันให้แน่น แล้วก็ชักรอกปืนใหญ่มาที่เรือเอาเชือกมัดปืนใหญ่ไว้ตรงร่องกลางระหว่างเรือ ๒ ลำให้มันห้อยราน้ำไป แล้วก็ช่วยกันพายไปจนถึงวัดโขมง พอจะชักรอกเอาปืนขึ้นฝั่งมันพลัดตกน้ำ คนเกือบหกสิบคนก็ฉุดเอาขึ้นไม่ได้ต้องทิ้งไว้อย่างนั้น” ลุงสำราญเล่าถึงตรงนี้ก็หัวเราะชอบใจ
“ผ่านไปไม่นานมีรถที่เขามารับจ้างไถดิน บอกว่าจะช่วยลากขึ้นให้ขอแค่เหล้าขวดเดียว ก็เลยดึงเอาขึ้นมาได้แล้วก็เอาไปไว้ที่โรงเรียน”
ลุงสำราญ บอกว่าสาเหตุที่ไปเอาปืนใหญ่มานั้นต้องการจะทำเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานชาวโขมงได้ภูมิใจในท้องถิ่นเพราะราชการเห็นความสำคัญของพื้นที่นี้จึงต้องมาสร้างค่ายปืนไว้ป้องกันข้าศึกรุกราน นอกจากค่ายนี้แล้ว ในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีด่านสะพานหินใต้น้ำในคลองวังโตนดอีกชั้นหนึ่งหากข้าศึกผ่านค่ายปืนนี้ไปได้ ด่านสะพานหินชาวบ้านโขมงเรียกว่า ‘สะพานเมรี’ จะกั้นกลางลำน้ำขวางทางการเดินเรือขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปบ้านโขมง แต่มีช่องผ่านได้ริมตลิ่งทั้งซ้าย – ขวา ซึ่งคนในพื้นที่จะรู้ช่องทางการเดินเรือให้ปลอดภัยได้เพื่อหลีกเลี่ยงด่านสะพานหินนี้