ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 11' 13.9268"
16.1872019
Longitude : E 100° 20' 59.2422"
100.3497895
No. : 194053
ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว (พวงกุญแจ)
Proposed by. พิจิตร Date 1 September 2021
Approved by. พิจิตร Date 1 September 2021
Province : Phichit
0 1080
Description

ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นตำนานของปราชญ์ท้องถิ่น วิถีชีวิตชาวบ้าน ตลอดจนวัฒนธรรมที่ดีงามของการเรียนรู้ เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถพัฒนาสังคมแห่งการเรียนสังคมเอื้ออาทร สังคมภูมิปัญญา มนุษย์รู้จักมะพร้าวมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มะพร้าวเป็นอาหาร ทำน้ำมัน และทำเป็นเครื่องปรุงอาหารหวานคาวนานาชนิด มะพร้าวจึงถือเป็นพืชที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในสมัยโบราณกะลามะพร้าว ได้รับการประดิษฐ์เป็นจับปิ้งเพื่อห้อยเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะเพศของเด็ก ผู้หญิง โดยทั่วไปเครื่องปกปิดอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิงนั้น ในหมู่ผู้มีฐานะจะทำด้วยเงินทองหรือนาก แต่ชาวบ้านที่มีความเป็นอยู่ไม่ดีนัก ก็ใช้จับปิ้งกะลา มะพร้าวจึงมีอรรถประโยชน์นานาประการ กะลามะพร้าวนั้นเคยทำเป็นของใช้ประเภทขันตักน้ำ กระบวยตักน้ำ และทำเป็นป้อยตวงข้าวสารสำหรับหุงข้าวกันมาช้านาน หากเป็นกะลาใหม่ ๆ ก็สามารถนำมาใส่อาหารรับประทาน โดยเมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็สามารถทิ้งไปได้เลยเช่นเดียวกับการใช้ถ้วยชามโฟมหรือกระดาษที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน ปัจจุบันมะพร้าวหรือกะลามะพร้าวสามารถนำมาประดิษฐ์ จัดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าได้มากมาย นอกจากทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถประดิษฐ์เป็นของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายสุภาพสตรี และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย

ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านไดรัง วัดธรรมสังเวช อำเภอดงเจริญเกิดขึ้นจากอำเภอดงเจริญ ทำนาได้ปีละ ๑ ครั้ง เมื่อเว้นว่างจากการทำนา จึงต้องหาอาชีพเสริม และเห็นวัสดุเหลือใช้มีจำนวนมาก คือกะลามะพร้าว สามารถที่จะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ จึงเริ่มต้นจากการนำกะลามะพร้าวมาผลิตเป็นของใช้ในครัวเรือน เช่น ที่ตักน้ำ ที่ตักข้าวสาร ต่อมาจึงเริ่มคิดประดิษฐ์ทำเป็นเครื่องประดับ เช่น ทำเข็มขัด สร้อยข้อมือ ต่างหู เข็มกลัดติดเสื้อ ยางรัดผม ปิ่นปักผม เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวเป็นงานหัตถกรรม โดยต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือ และความละเอียด โดยนายนิคม แก้วชาลี และนางสุภาพ แก้วชาลี คู่สามรภรรยาเป็นผู้ประดิษฐ์ และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบพัฒนาขึ้นให้มีความหลากหลาย ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ภายในบ้าน ของตกแต่ง และของที่ระลึก

๑. วัตถุประสงค

๑) เป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน

๒) เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาของปราชญ์ท้องถิ่น วิถีชีวิตชาวบ้านที่มีมานาน

๓) เพื่อให้ตระหนักและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น

๔) เป็นการส่งเสริมพัฒนาต่อยอด โดยการนำทุนทางวัฒนธรรม วัสดุจากธรรมชาติ จากสิ่งที่เหลือใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สร้างมูลค่าและอาชีพให้กับคนในชุมชน

รางวัล/เกียรติคุณที่ได้รับ

เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอดงเจริญ ได้รับรางวัล OTOP ระดับ ๕ ดาว

วัสดุ/อุปกรณ์ (พวงกุญแจการกะลามะพร้าว)

๑) กะลามะพร้าว

๒) วงเลื่อยฉลุ

๓) ใบเลื่อยฉลุ

๔) กระดาษทรายแดง เบอร์ ๘๐

๕) กระดาษทรายละเอียด เบอร์ ๒๘๐

๖) กาวลาเท็กซ์

๗) แล็คเกอร์เคลือบเงา

๘) ห่วงพวงกุญแจ

กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)

๑) คัดเลือกกะลามะพร้าวให้เหมาะสม โดยเลือกใช้กะลาแก่จัด

๒) ขัดผิวกะลา นำกะลาที่คัดแล้ว ขูดขุยให้เกลี้ยงตัดด้านบนเพื่อนำน้ำและเนื้อมะพร้าวออก ให้เหลือเฉพาะเนื้อกะลา จากนั้นนำไปขัดด้วยกระดาษทราย ให้ผิวกะลาเรียบทั้งในและนอกตัวกะลา

๓) นำกะลาที่ได้ไปตากแดดให้แห้งสนิท

๔) ออกแบบแต่ละชิ้นงาน โดยวาดลวดลายตามต้องการให้สวยงาม หากจะทำเป็นพวกกุญแจสามารถออกแบบลายพวกกุญแจที่ต้องการลงในกระดาษก่อน แล้วค่อยนำกาวลาเท็กซ์มาทาบนกระดาษที่ได้ร่างลายไว้ แล้วนำมาแปะไว้บนกะลา จากนั้นนำกะลามาเจาะรู ฉลุลวดลายตามแบบที่ร่างไว้ โดยใช้วงเลื่อยฉลุ

๕) นำกระดาษทรายมาขัดกะลาให้เกลี้ยง

๖) นำชิ้นงานมาเจาะรูเพื่อเตรียมไว้เพื่อใส่ห่วงพวงกุญแจ

๗) นำชิ้นงานที่ได้มา เคลือบเงาเพื่อให้สวยงาม และตากแดดให้แห้ง

๘) ประกอบชิ้นงาน โดยการนำตัวพวงกุญแจ มาใส่ห่วงพวกกุญแจให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว

- เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ มีสีลวดลายธรรมชาติของกะลามะพร้าวที่สวยงาม

- เป็นงานแฮนด์เมด

- เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาที่ดั้งเดิมจากวิถีชีวิต

- เป็นงานละเอียด แข็งแรงทนทาน

- สามารถนำมาประดิษฐ์ จัดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าได้มากมาย

ราคาสินค้า

- พวงกุญแจ ราคา ๑๐ บาท

- กำไลข้อมือ ราคา ๒๐-๓๐ บาท

- ที่มัดผม ราคา ๒๐-๓๐ บาท

- เข็มขัด ราคา ๑๕๐-๒๐๐ บาท

- กระเป๋ากะลา ๓๕๐-๖๐๐ บาท

หมายเหตุ :ราคาสินค้าขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท และความยากง่ายในการผลิตสินค้า

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากกะลามะพร้าวของชุมชนคุณธรรมฯ วัดธรรมสังเวช อำเภอดงเจริญ สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่แสดงถึงวิถีการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม จารีต ประเพณี และภูมิปัญญาของคนในชุมชน อันบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์อันสะท้อนถึงวิถีชีวิต อันเรียบง่าย ที่ได้นำทุนทางวัฒนธรรม วัสดุจากธรรมชาติ จากสิ่งที่เหลือใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สร้างมูลค่าและอาชีพให้กับคนในชุมชน

๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากกะลามะพร้าวของชุมชนคุณธรรมฯ วัดธรรมสังเวช อำเภอดงเจริญ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ของนางสุภาพ แก้วชาลี สมาชิกกลุ่มอาชีพของตำบลห้วยร่วม อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร จากการว่างงานจากการทำนา ปีละ ๑ ครั้ง และสภาพพื้นที่ก็เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทำนาได้ปีละ ๑ ครั้ง เมื่อเสร็จจากการทำนา ก็ว่างงาน นางสุภาพจึงเกิดความคิดว่า วัสดุสิ่งของเหลือใช้ในพื้นที่มีมากมาย สามารถที่จะนำมาประดิษฐ์เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในครอบครัว จึงคิดว่ากะลามะพร้าวที่เป็นวัสดุเหลือใช้สามารถนำมาต่อยอดในการทำสิ่งประดิษฐ์เป็นของใช้ในครัวเรือน และต่อมาทำเป็นของตกแต่งบ้าน เช่น ทำโคมไฟ จากนั้นเกิดความคิดสร้างสรรค์นำผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น เข็มขัด สร้อยคำ กำไลข้อมือ ฯลฯ และนำมาจำหน่ายเปิดตลาด จนได้เข้าร่วมพิจารณาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอดงเจริญ ได้รับรางวัล OTOP ระดับ ๕ ดาว และปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวเป็นสินค้าที่ส่งออกจำหน่าย ไปยังต่างประเทศ มีออเดอร์จากต่างประเทศเป็นประจำ

การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านไดรัง วัดธรรมสังเวช อำเภอดงเจริญ มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาองค์ความรู้เกี่ยวกับการประดิษฐ์ และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกะลามะพร้าว ซึ่งถือเป็นของเหลือใช้ นำมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าทำให้เกิดรายได้ โดยเด็กและ เยาวชน ประชาชน และผู้ที่สนใจในพื้นที่ สามารถที่จะรวมกลุ่มกันประมาณ ๕-๑๐ คน เพื่อขอเข้ารับการอบรมเรียนรู้ถึงวิธีและขั้นตอนในการประดิษฐ์ชิ้นงานต่างๆ จากกะลามะพร้าว กับคุณลุงนิคม แก้วชาลี และคุณป้าสุภาพ แก้วชาลี ซึ่งเป็นวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการประดิษฐ์ และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกะลามะพร้าว ได้ที่บ้านของคุณลุงนิคมและคุณป้าสุภาพ นอกจากนี้ทั้งคุณลุงนิคมและคุณป้าสุภาพ ยังเป็นวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการประดิษฐ์ และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกะลามะพร้าวให้กับหน่วยงานต่างๆ ของอำเภอดงเจริญอย่างสม่ำเสมอ

โดยหน่วยงานในท้องถิ่น คือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ รวมทั้งผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นของอำเภอดงเจริญ ได้ให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนในการพัฒนาและสืบสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว และภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไปอย่างเข้มแข็งและมั่นคง

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอดงเจริญ สถานศึกษา และส่วนราชการส่วนท้องถิ่น

สถานภาพปัจจุบัน

๑)สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้

มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย

๒)สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ที่สนใจ ทำได้น้อยลง

ข้อเสนอแนะ

การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ทันสมัย เป็นการขยายฐานการตลาดและฐานของกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ควรเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและรายได้อีกทางหนึ่ง

Location
ศูนย์เรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์จากะลามะพร้าว
No. ๑๗ MooSoi - Road -
Province Phichit
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
Reference นางสาวชมพูนุช นาคไพรัช Email i_am_chompu8@hotmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร Email culture.phichit01@gmail.com
No. - Moo - Soi - Road บุษบา
Amphoe Mueang Phichit Province Phichit ZIP code 66000
Tel. 056-612-675 Fax. 056-612-675
Website www.m-culture.go.th/phichit
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่