ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 32' 46.8205"
16.5463390230225
Longitude : E 104° 43' 33.3521"
104.725931127808
No. : 195095
ภาษาโซ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
Proposed by. มุกดาหาร Date 25 November 2021
Approved by. มุกดาหาร Date 23 Febuary 2022
Province : Mukdahan
0 3416
Description

ความหมายและความสำคัญของภาษา

ความหมายของภาษาพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๖๒ ได้ให้ความหมายของ “ภาษา”ไว้ว่า ภาษาหมายถึง ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม

ความสำคัญของภาษา

ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ เป็นสื่อที่ใช้ติดต่อกันและทำให้วัฒนธรรมอื่นๆเจริญขึ้น แต่ละภาษามีระเบียบของตน ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางยืดคนทั้งชาติ ดังข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ความเป็นชาติโดยแท้จริง" ว่า ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งไรที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันดี หรือแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน ดังนั้นภาษาก็เปรียบได้กับรั้วของชาติ ถ้าชนชาติใดรักษาภาษาของตนไว้ได้ดีให้บริสุทธิ์ ก็จะได้ชื่อว่า รักษาความเป็นชาติคนไทยทุกคนใช้ภาษาไทยเป็นสื่อความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ควรจะรักษาระเบียบความงดงามของภาษา ซึ่งแสดงวัฒนธรรม และ เอกลักษณ์ประจำชาติไว้อีกด้วย ดังพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งว่า"ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องสื่อสาร แสดงความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลก แล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรม และเอกลักษณ์ ประจำชาติอีกด้วย ไทยเป็นประเทศซึ่งมีขนบประเพณี ศิลปกรรมและภาษา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล เราผู้เป็นอนุชนจึงควรภูมิใจ ช่วยกัน ผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้ อุตส่าห์สร้างสรรค์ขึ้นไว้ให้เจริญสืบไป "

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ https://www.gotoknow.org/posts/452510

ภาษาถิ่น

ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่พูดกันในท้องถิ่นต่างๆ ตามปกติ เป็นภาษาที่คนในถิ่นนั้นๆ ยังคงพูดและใช้อยู่จำนวนมาก คำบางคำในภาษากลางได้เลิกใช้ไปแล้ว แต่ในภาษาถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไว้ เป็นอย่างดี

ความสำคัญของภาษาถิ่น

ในการศึกษาภาษาถิ่นย่อมจะศึกษาท้องถิ่นในด้านที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมได้ เพราะภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ภาษาถิ่นจะรักษาคำเดิมได้ดีกว่า ภาษามาตรฐาน เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรมน้อยกว่า นอกจากนี้การศึกษาในท้องถิ่น มีประโยชน์ในการศึกษาด้านวรรณคดีอีกด้วย เพราะวรรณคดีเก่าๆ นั้น ใช้ภาษาโบราณ ซึ่งเป็นภาษาถิ่น จำนวนมาก เช่น วรรณคดีสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้าเราไม่เข้าใจภาษาถิ่นที่ใช้ ก็จะตีความไม่ออกและยากต่อการศึกษาวรรณคดีนั้นๆ ได้ ฉะนั้นเราจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาภาษาถิ่นทุกถิ่น จึงจะมีความรู้กว้างขวาง เช่น ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ว่า“เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า”

คำว่า “เข้า” แปลว่า ปี สิบเก้าเข้า คือ อายุเต็ม 18 ย่าง 19“ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ขุนสามชนพ่ายหนี” คำว่า แพ้ ในที่นี้ เป็นภาษาถิ่นเหนือ แปลว่าชนะ คำว่า พ่าย จึงแปลว่า แพ้ ถ้าเป็นภาษากลาง คำว่า พ่าย หรือคำว่า แพ้ แปลเหมือนกันคือไม่ชนะข้อความนี้หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงทรงไสช้างเข้าชน กับช้างของขุนสามชนตัวที่ชื่อมาสเมือง และพระองค์ทรงสามารถรบชนะขุนสามขนจนขุนสามชนแพ้แล้ว ไสช้างหนีไป

ข้อความนี้หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงทรงไสช้างเข้าชนกับช้างของขุนสามชนตัวที่ชื่อมาสเมือง และพระองค์ทรงสามารถรบชนะขุนสามขนจนขุนสามชนแพ้แล้วไสช้างหนีไป (ระวีวรรณ อินทร์แหยม, 2542, หน้า 10)

นอกจากนี้ ฉันทัส ทองช่วย (2534, หน้า 13-15) กล่าวว่า ภาษาถิ่น เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาไทยถิ่นเป็นภาษาของกลุ่มชาวไทย ซึ่งอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษาถิ่นของชนกลุ่มใดย่อมเป็นภาษาที่มีความสำคัญต่อชนกลุ่มนั้นมากที่สุด เพราะเป็นภาษาที่ใช้พูดติดต่อสื่อสารร่วมกันมาตั้งแต่เกิด โดยสามารถพิจารณาจากเจ้าของภาษาและผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับภาษาได้ดังนี้

๑. ภาษาถิ่นเป็นภาษาประจำถิ่นของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นภาษาที่ต้องใช้ติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เป็นภาษาที่ใช้มาตั้งแต่แรกเกิด ได้เรียนรู้ จดจำ สืบทอดและร่วมรับในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เป็นภาษาที่มีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ภาษาถิ่น จึงมีความสำคัญต่อกลุ่มชน ผู้เป็นเจ้าของภาษานั้นๆ มากที่สุด

๒. ภาษาถิ่นเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ควรศึกษา เพราะการศึกษาภาษาถิ่นจะช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้ทางหนึ่ง ภูมิปัญญาของชาวบ้านด้านต่างๆ เช่น เพลงกล่อมเด็ก นิทาน ปริศนาคำทาย ชื่อบุคคล ชื่อพืชและชื่อสัตว์ ชื่อสิ่งของเครื่องใช้ ชื่ออาหารเครื่องดื่ม บทสวดในพิธีกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่นต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารถ่ายทอดทั้งสิ้น

๓. ภาษาถิ่นเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชน เราอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มระดับชาวบ้าน ที่ใช้ภาษาเดียวกันในชีวิตประจำวันสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนจะต้องมีประวัติความเป็นมาร่วมกัน เช่น ชาวไทยถิ่นตากใบกับชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในอำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งพูดภาษาไทยถิ่นตากใบในชีวิตประจำวันอยู่ในขณะนี้ จะต้องมีประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนร่วมกันมาในอดีต ปัจจุบันก็ต้องเกี่ยวข้องกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แสดงว่าเราสามารถใช้ภาษาถิ่นเป็นหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนได้

๔. ภาษาถิ่นเป็นบ่อเกิดของวรรณกรรมท้องถิ่น ผลการสำรวจวรรณกรรมท้องถิ่น ที่สืบทอดกัน ด้วยวาจา หรือเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาปากต่อปาก (มุขปาฐะ) และวรรณกรรมที่ได้มีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วรรณกรรมสมุดข่อย วรรณกรรมใบลานและ ศิลาจารึก พบว่ามีจำนวนมหาศาล วรรณกรรมเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น วรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ นิทานประโลมโลก ตำนาน เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ เป็นวรรณกรรมที่ใช้ภาษาถิ่นเป็นสื่อในการถ่ายทอด ดังนั้นถ้าไม่มีภาษาถิ่นวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังนั้น ภาษาถิ่นจึงมีความสำคัญคือ เป็นภาษาประจำถิ่นของกลุ่มชนที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ และสืบทอดต่อเนื่องมายังลูกหลาน โดยผ่านวัฒนธรรมทางภาษาที่เป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์ และเป็นบ่อเกิดของวรรณกรรมท้องถิ่น

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/dialect/01.html

ภาษาในจังหวัดมุกดาหาร

ลักษณะการใช้ภาษาในจังหวัดมุกดาหาร

ภาษาถิ่นมุกดาหารภาษาในจังหวัดมุกดาหาร จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครพนม สกลนคร อำนาจเจริญ เพราะโดยทั่วไป ภาษาในจังหวัดมุกดาหารจะออกเสียงช้าเนิ่น มักออกเสียงสระเสียงยาว ในการออกเสียงสระเสียงสั้นจะมีน้อยมาก อาทิ

ไปไหน /มุกดาหารจะออกเสียง /ไปซิใด

มาหรือเปล่า /มุกดาหารจะออกเสียง /มาแหละบ้อ

ข้า(ข้าพเจ้า) /มุกดาหารจะออกเสียง /ข่อย

ไม่ /มุกดาหารจะออกเสียง /บ่อ

พ่อ แม่ /มุกดาหารจะออกเสียง /พอ แม

เขา /มุกดาหารจะออกเสียง /คาเจ้า

อำเภอดอนตาล

การออกเสียงจะแตกต่างจากที่อื่นอันเป็นเอกลักษณ์ว่า ถ้าออกเสียงอย่างนี้มาจากอำเภอดอนตาล เสียง ด ออกเสียงเป็น ล และเสียง ล ออกเป็นเสียง ด เช่น

ดอนตาล /ออกเสียงเป็น /ลอนตาล

ดีมาก /ออกเสียงเป็น /ลีมาก

อำเภอนิคมคำสร้อย เดิมคือ เขตนิคมสร้างตนเอง

จะเป็นดินแดนที่มีภาษาถิ่นที่ออกเสียงหลากหลายแตกต่างกันมากที่สุด ในจังหวัดมุกดาหาร เช่น ย้อ ข่า โซ่ ผู้ไทย อีสาน จากแหล่งภาษาที่แตกต่างกัน

อำเภอคำชะอี และอำเภอหนองสูง

ร้อยละ ๘๐ จะใช้ภาษาผู้ไทย มากกว่าภาษาอื่น

อำเภอดงหลวง

จะมีภาษาผู้ไทย ย้อ ภาษาอีสาน ส่วนภาษาโซ่ ข่า จะมีอยู่เพียงประปราย เพราะเกิดการปรับปรุงทางภาษามากขึ้น และบางกลุ่มไม่กล้าพูดภาษาโซ่ ข่า แสก เพราะมีคนพูดน้อยทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้พอถึงชั้นลูกหลาน จะอายไม่พูดภาษาถิ่นของตนเองกับคนแปลกหน้า นอกจากคนในครอบครัว

ส่วนในอำเภออื่น ๆโดยทั่วไปจะใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนมาก และใช้ภาษากลางบางส่วน

ถึงแม้ว่า จังหวัดมุกดาหารจะมีคนหลายเผ่าพันธุ์ และมีภาษาใช้เฉพาะกลุ่มคนก็ตาม แต่ในภาพรวมแล้ว ภาษาถิ่นในจังหวัดมุกดาหารจะใช้พูดกันมากนั้น มีอยู่ ๒ ภาษา คือ ภาษาไทยอีสาน รองลงมา คือ ภาษาผู้ไทย ซึ่งทั้งสองกลุ่มภาษานี้ ผู้คนสามารถพูดคุย สื่อสาร กันได้รู้เรื่องทั่วไป

สำเนียงภาษาถิ่นมุกดาหาร

ภาษาถิ่นมุกดาหาร ทั้งภาษาไทยอีสานและผู้ไทย จะแตกต่างจากภาษาถิ่นนครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด หรือภาษาถิ่นในจังหวัดใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เพราะภาษาถิ่นมุกดาหารจะมีท้ายเสียงเป็นสระเสียงยาว ไม่ค่อยจะลากหางเสียง หากจะเทียบภาษาถิ่นมุกดาหารว่ามีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นใดนั้น ชาวมุกดาหารเองคงบอกได้ว่า ภาษาถิ่นมุกดาหารนั้นมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นเมืองสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) ประเทศลาว

ภาษาของกลุ่มชนในจังหวัดมุกดาหาร

ภาษาถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีลักษณะเด่นเป็นตัวของตัวเองในแต่ละแห่ง ซึ่งในจังหวัดมุกดาหารมีภาษาถิ่นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีมากกว่า ๗ ภาษา/กลุ่มภาษา ประกอบด้วย ภาษาอีสาน กะเลิง ญ้อ ผู้ไทย ข่า(บรู) โซ่ และภาษาเวียดนาม(ในกลุ่มชาวเวียดนาม) ซึ่งการใช้ภาษาดังกล่าว จะใช้ในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง เพื่อใช้ประกอบการสื่อสารในกลุ่ม ส่วนการติดต่อสื่อสารกับคนต่างกลุ่ม จะใช้ภาษาไทยอีสาน และภาษาไทยกลางในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นเอกเทศ ดังนั้น ชาวจังหวัดมุกดาหาร จึงเป็นกลุ่มชนที่มีการสื่อสารกันอยู่หลายภาษา

ภาษาโซ่มุกดาหาร

เป็นภาษาที่ใช้มากอีกกลุ่มหนึ่ง ใช้กันมากในพื้นที่ อำเภอดงหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด และกันดารมากที่สุดของจังหวัดมุกดาหาร ชาวโซ่เป็นกลุ่มที่มีความเหนียวแน่นในการรักษาวัฒนธรรมทางภาษาของตนเอง โดยเน้นจุดเด่นเป็นตัวของตัวเอง

ลักษณะของภาษาโซ่

ชาวโซ่ หรือ กะโส้ หรือ กะโซ่ เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีบรรพบุรุษที่อาศัยในพื้นที่อีสานมานาน และมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในเขตการปกครองของแขวงสะหวันนะเขต กลุ่มชาติพันธุ์โซ่นี้ได้อพยพเข้าสู่พื้นที่ภาคอีสานเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จากเมืองคำหม่วน เมืองอ่างคำ เมืองเซโปนเซกอง ซึ่งปัจจุบัน บางส่วนยังไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันอยู่ การเดินทางมาที่จังหวัดมุกดาหารนั้น มีการเดินทางมาเป็นกลุ่ม ๆ ตามเส้นทางหมายเลข ๙ เดิม (ในปัจจุบันปรับปรุงเป็นเส้นทางเดินรถที่สะดวกที่สุดเส้นทางหนึ่งในการเชื่อมท่าเรือแก่งกะเบา – ด่านลาวเบ๋า – กวางตริ – ดานัง ระยะทาง ๒๔๖ กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดในประเทศ) และข้า (ชาวข่า) ที่แก่งกะเบา เข้ามาสร้างบ้านเมืองครั้งแรกที่บ้านหนองนาง จากนั้น ก็ไปสร้างบ้านใหม่ที่ดงหลวง มีบางส่วนได้ขึ้นไปตามไหล่เทือกเขาภูพาน การเดินทางมาครั้งนั้นนำโดยหลวงวาโนไพรพฤกษ์ ท้าวเดช ท้าวเสด็จ ท้าวเคน ท้าวแพ นายเพีย นายพรม นายพา ซึ่งลำดับต่อมาเป็นต้นตระกูล วงศ์กระโซ่ โซ่เมืองแซะ คำมงคุณ เชื้อคำฮด ฯลฯ

ชาวโซ่ หรือ กะโซ่ อาศัยอยู่กระจายตามภาคอีสาน เช่น อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย อำเภอท่าอุเทน อำเภอปลาปาก อำเภอศรีสงคราม และอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดปราจีนบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ส่วนที่อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอดอนตาล อำเภอคำชะอี อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ชาวโซ่มีลักษณะเด่นที่เป็นตัวของตัวเอง คือ มีความเชื่อ มีภาษาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม

ภาษาโซ่หรือกะโซ่มีลักษณะที่นักภาษาศาสตร์จัดให้อยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ ตระกูลภาษาออสโต – เอเชียติก กลุ่มมอญ – เขมร ซึ่งจัดเข้าพวกกับภาษาข่า

ระบบเสียง

ระบบเสียงในภาษาโซ่ที่ชาวดงหลวงใช้กันนั้น แยกเป็นหน่วยเสียงตามระบบได้ดังต่อไปนี้ คือ หน่วยเสียงพยัญชนะ หน่วยเสียงสระ และหน่วยเสียงวรรณยุกต์

๑. หน่วยเสียงพยัญชนะส่วนมากในภาษาโซ่จะขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ /ก/ /อ/ และ /ต/ และยังมีพยัญชนะควบกล้ำคล้ายภาษาไทยกลาง เช่น /ตร/ /ปร/ /ปล/ และ /กว/ นอกจากนี้แล้ว หน่วยเสียงพิเศษที่เป็นทั้งหน่วยเสียงพยัญชนะและสระ คือ เสียงของ /ย/ และ /ญ/ แต่จะออกเสียงขึ้นจมูกเป็นเสียงนาสิก ตัว /ล/ ที่เป็นตัวสะกดในภาษาโซ่จะออกเสียง /แอน/ หรือ /แอล/ ในภาษาอังกฤษ ดังรายละเอียดและจำนวนคำต่อไปนี้

จำนวนร้อยละเก้าสิบ พยัญชนะที่ขึ้นต้นด้วย /ก/ /อ/ /ต/ เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

แกะ / แก๋ะ

หนู / กุไน

กิ้งกือ / กงก้วย

ถาม /อะมรึ

แตก / อะละ

ประตู / อันตัง

แก้ม / ตะแมง

คอ / ตะออง

เรือ / ต้วก

ส่วนพยัญชนะทาบ หรือพยัญชนะควบกล้ำ เมื่อเทียบกับภาษาไทยกลาง ซึ่งมีพยัญชนะต่อไปนี้ คือ /ตร/ /ทร/ /ปล/ /ปร/ /กว/ เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

ไก่ / ตรวย

ทำไม / โตรว

ผ้าเช็ดหน้า / เปรมน

ช้า / กวาย

ข้าวเหนียว / ทรงสะบัด

ประตู / อันตัง

๒. หน่วยเสียงสระหน่วยเสียงสระในภาษาโซ่ ส่วยใหญ่เป็นสระเสียงสั้น เช่น ภาษาไทยกลางจะออกเสียง /ไอ/ ภาษาโซ่จะออกเสียง /เออะ/ หรือ /เออ/ ภาษาไทยกลางจะออกเสียงยาว ภาษาโซ่จะออกเสียงสั้น และประโยคคำถามในภาษาโซ่จะมีเสียง /เอาะ/ / เออะ/ ภาษาไทยกลางออกเสียง /ไอ/ /อัว/ ภาษาโซ่ออกเสียง /เอาะ/ /ออ/ พิเศษ สระเอียในภาษาโซ่จะลากเสียงยาวและต่อท้ายด้วย /อา/ เสียงเบา ๆ ดังรายละเอียดและจำนวนคำต่อไปนี้

มีทั้งเสียงสั้นและเสียงยาว เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

บ่า ไหล่ / สะว้าก

มือ / อะที

ไต / ขลัง

ถาม / อะมรึ

เทียบเสียงสระภาษาไทยกลางออกเสียง /ไอ/ เสียงภาษาโซ่จะออกเสียง /เออะ/ และ /เออ/ เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

ไป / เปอะ

ไม่ / เท่อ

ใคร / เมอะ

ถ้าเป็นประโยคคำถามจะมีเสียงพิเศษ ออกเสียง /เอาะ/ และ /เออะ/ รวมอยู่ด้วย เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

บ้านคุณอยู่ไหน / ดุงเอิ๊ดเมาะ

คุณมากับใคร / ไม้เงอะกับอะเมอะ

ภาษาไทยออกเสียงสระ ลากเสียงยาว ภาษาโซ่จะออกเป็นเสียงสั้น เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

น้ำหมึก / นำหมึก

ปากกา / ปักกา

ถ้าประโยคภาษากลางออกเสียง /อ/ หรือ /อัว/ ภาษาโซ่จะออกเป็นเสียงสระ /เอาะ/ หรือ /ออ/ เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

โต๊ะ / เตาะ

ป่วย / มะเราะ

เสียงสระ /เอีย/ ในภาษาโซ่ มักจะรากเสียงยาว มักต่อท้ายคล้ายอุทานด้วยเสียง /อา/ เสมอ

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

ร้อยไห้ / เยีย – อาม

หน้าอก / อะ - เตีย – อา

กิจ / เจีย – อา

การใช้เสียงสระ /อะ/ /อัง/ /อัน/ นำหน้าคำต่าง ๆ เสียงดังกล่าวนั้นจะออกเสียงเป็นเสียงสั้นเป็นลักษณะเฉพาะ เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

วัว / อัน – เตราะ

ช้าง / อะ – เจียง

กลอง / อัง – เกิล

เสียงพยัญชนะตัวท้าย ที่มีสระตัว /ล/ สะกด เสียงที่ออกมาจะเป็นเสียง /แอล/ ในภาษาอังกฤษ เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

หญิงสาว / กะมูล

ตะปูล / จำนวนเจ็ด

๓. หน่วยเสียงวรรณยุกต์หน่วยเสียงวรรณยุกต์ในภาษาโซ่มีหน่วยเสียงคล้ายกับภาษาไทย ซึ่งประกอบด้วย เสียงสามัญ เอก โท ตรี และจัตวา ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับภาษาไทยได้ คือ ในภาษาโซ่ มีหน่วยเสียงวรรณยุกต์ตรีเป็นส่วนมาก โดยเทียบได้ คือ ภาษาโซ่เสียงสามัญ (เสียงต่ำ) ภาษาไทยกลางจะเป็นเสียงจัตวา ถ้าภาษาโซ่มีเสียงตรีเป็นเสียงตรี (เสียงสูง) ภาษาไทยกลางจะเป็นเสียงเอก ถ้าภาษาโซ่มีเสียง เป็นเสียงเอก หรือสามัญแล้ว ภาษาไทยกลางจะเป็นเสียงตรี เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

สวน / ชวน

เขียน / เคียน

เสียงตรีและโท ภาษาโซ่ออกเสียงเอกหรือสามัญ ภาษาไทยเสียงเอก ภาษาโซ่เสียงสูง เช่น

ภาษาไทยกลาง /ภาษาโซ่

มุ้ง / มุง

ลวด / หลวด

โต๊ะ / เตาะ

กวาง / ละอง

เหงื่อ / อึ๊ก

ตาย / กู่จิ๊ด

สัปปะรด / มักนัด

ระบบการสร้างคำ

การสร้างคำในภาษาโซ่ เป็นการใช้คำโดดเหมือนกับภาษาไทย นำมาผสมตามลักษณะภาษาไทย อันประกอบด้วย ภาคประธาน กริยา กรรม และคำขยาย ตามลำดับ เช่น

ประธาน / กริยา / กรรม / คำขยาย

ภาษาไทยกลาง /พ่อ / ไปนา /แต่เช้า

ภาษาโซ่ /อาเปรี๊ยะ / เปอะ / ตะลิง / แตเม็ก

ตัวอย่างประโยคคำสนทนาแบบง่าย ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวโซ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

คำอ่าน – พูดความหมาย

ไมละมึดอาชาเมาะ / คุณชื่ออะไรครับ

ดุงเอิ๊ดเมาะ / บ้านคุณอยู่ไหน

อะไปเงอะแตเมาะ / คุณมาจากไหน

เจียวะเจอห่ะ / กินข้ายหรือยัง

มักอะ / ชอบหรือไม่

เชอระโวเน้อ / อย่าคุยกันเน้อ

ตะยึงอะโจน / ยกมือขึ้น

ระเอียงชำเมาะ / ราคาเท่าไร

ฮิจูไวเด้อ / ขอลาไป่ก่อน

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดมุกดาหาร

Location
สำนักงานวัฒนธรรรมจังหวัดมุกดาหาร
No. ชั้น ๒ (หล Moo ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร Road วิวิธสุรการ
Tambon มุกดาหาร Amphoe Mueang Mukdahan Province Mukdahan
Details of access
https://www.gotoknow.com
Reference นายกิตติพงศ์ คำศรี Email culture.mukdahan@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร
No. ชั้น ๒ (หล Moo ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร Road วิวิธสุรการ
Tambon มุกดาหาร Amphoe Mueang Mukdahan Province Mukdahan ZIP code 48190
Tel. 0879462169 Fax. 042614823
Website -
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่