ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 22' 12.4738"
14.3701316
Longitude : E 100° 8' 52.5055"
100.1479182
No. : 195241
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
Proposed by. สุพรรณบุรี Date 7 January 2022
Approved by. สุพรรณบุรี Date 7 January 2022
Province : Suphan Buri
0 1562
Description

กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ความหมายของชาวไทยพวน

พวน เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีเชื้อชาติ ไท หรือคนเผ่าไท (Tai) ซึ่งเป็นชนชาติโบราณกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาชาวพวนได้มีการสร้างบ้านแปลงเมืองโดยอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบสูงเชียงขวาง (Chiang Khwang) หรือตรันนันท์ (Tranninh) แล้วเรียกชื่อเมืองของพวกตนเองว่า “เมืองพวน” ในอดีตเป็นรัฐอิสระ ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของเมืองเวียงจันทน์ และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงพระบาง

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าชาวไทยพวน สามารถสรุปออกได้ 2แนวคิด คือ

1สันนิษฐานว่าได้ชื่อจากสายน้ำแห่งหนึ่งที่ไหลผ่านบริเวณตั้งถิ่นฐานของชาวซาติพันธุ์นี้

2 สันนิษฐานว่าได้ชื่อจากชื่อภูเขาที่ชื่อว่า “ภูพวน”

ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์

ไทยพวน คือ กลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวพวนในเมืองพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองพวนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่เขตเชียงของ ทางตะวันออกของหลวงพระบาง
ทิศเหนือของเวียงจันทน์ติดกับประเทศเวียดนาม ชนกลุ่มนี้ถ้าอยู่ในลาว เรียกว่า “ลาวพวน” เมื่ออยู่ในประเทศไทยเรียกว่า “ไทยพวน”

เมืองพวน คือ หนึ่งในจำนวนหลาย ๆ เมืองในประเทศลาว ที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อฝรั่งเศสเปิดศึกอินโดจีน ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชาวลาวพวนกลุ่มหนึ่ง จึงดิ้นรนย้ายมาอยู่ในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อนหน้านั้น ก็มีชาวลาวพวนมาอยู่ก่อนแล้ว พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงกำหนดพื้นที่ให้ชาวลาวพวนตั้งถิ่นฐาน ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ คือ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร ลพบุรี นครนายก สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี หนองคาย สระบุรี ฉะเชิงเทรา อุดรธานี เชียงราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมี ไทยพวนอยู่อย่างหนาแน่น และอาศัยอยู่อย่างประปรายที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม อ่างทอง จันทบุรี สมุทรปราการและกรุงเทพฯ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารว่า ในสมัยบ้านเมืองไม่เรียบร้อย ชาวไทยพวนถูกกวาดต้อนไปไว้ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย จากบัดนั้นจนถึงบัดนี้ ชาวไทยพวนก็ได้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยอย่างสงบสุข มีวิถีชีวิตและแบบแผนในการดำรงชีพ ผสมผสานกับชาวไทยอย่างสนิทสนมกลมกลืน อาจจะทั้งโดยใกล้ชิดเสมือนญาติพี่น้องหรือโดยการสืบเผ่าพันธุ์ด้วยการแต่งงาน

ชาวพวนเป็นผู้ฝักใฝ่ในศาสนาและยึดมั่นต่อขนบธรรมเนียมประเพณี ดังนั้นจึงมีการกำหนด ระเบียบแบบแผนให้สังคมยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติพันธุ์
ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของชาวพวนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณีของชาวไทย
เช่น พิธีการบวช การตาย ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น

พื้นที่ชุมชน

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

จำนวนประชากร

บ้านท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่ม

3,085 คน

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชุมชน ชาติพันธุ์

ลาวพวน เป็นคำเรียกของชุมชนไทยพวนในอดีตเมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายและมีความเห็นว่าการเรียกชื่อที่มีคำนำหน้าว่า "ลาว" เป็นการแบ่งชนชั้นประชากร ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเกิดในไทยได้สัญชาติไทยจึงควรใช้คำว่า "ไทย" นำหน้าทุกชาติพันธุ์ จึงเป็นที่มาของ ไทยพวน ไทยเวียง ไทยทรงดำฯลฯ เหมือน ๆ อนึ่งคำว่าไทยพวน สรุปคือคนพวน ที่เกิดในไทย เป็นมติที่ประชุมสัมมนาปี ๒๕๔๕ ที่จังหวัดสุโขทัย โดยพลเอกสายหยุด เกิดผล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาลรัฐบาล

อีกเนื่องด้วยกรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ในหนังสือ "ม่วนชื่นเมืองลาว" ปี ๒๕๓๕ ทรงพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านก็ใช้คำว่า "ไทยพวน" เป็นสิริมงคลสำหรับกลุ่ม "ไทยพวน" ชื่อ "กลุ่มไทยพวน" ถือเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และถูกนำไปอ้างอิงในรายงาน วิทยานิพนธ์ทั่วไทย จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น "ไทพวน" ได้ ส่วนการนำไปใช้จริง ในภาษาเขียนนั้น จะใช้คำว่า ไทพวน คนพวน เมื่อพูดเขียนถึงอดีต หากพูดคนพวนปัจจุบัน ในไทยจะใช้คำว่า"ไทยพวน" ถือเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการและทางวิชาการ

จังหวัดสุพรรณบุรี มีชุมชนไทยพวนอยู่ที่อำเภอบางปลาม้าเจ็ดตำบล การดำรงเอกลักษณ์ของพวนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันจะนำมาซึ่งความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ความสามัคคีในหมู่คณะก็จะสามารถกระทำได้โดยง่ายเพราะความที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แสดงเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรีได้อย่างโดดเด่น โดยการนำประเพณีและวัฒนธรรมทางภาษามาเชื่อมโยงกัน จะทำให้การทำการสิ่งใดก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็เพราะความเป็นเชื้อสายเดียวกัน โดยมีภาษาพวนเป็นสื่อกลาง

ชาวพวนบ้านท่าตลาดเดิมเรียกว่าบ้านหางตลาด ผู้เฒ่าเล่าว่า เมื่อมาตั้งบ้านอยู่แล้วได้ไปจับจองที่ทำมาหากินสุดแล้วแต่ใครจะจับจองทางทิศไหนแล้วก็ฟันเผาพงป่าแซงเพื่อทำนา ไปพบเศษเครื่องปั้นดินเผาท่านผู้เฒ่าสันนิษฐานว่าคงจะเป็นของพวกคนมอญมาตั้งตลาดเผาหม้อ เผาไห เพราะสถานที่เป็นลำรางยาวไปเชื่อมหลายหมู่บ้าน สถานที่พบอยู่ท้ายหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้มต่างจึงพร้อมกันเรียกว่า “บ้านหางตลาด” ต่อมาทางราชการจึงเปลี่ยนเป็น “ท่าตลาด” ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะอยู่ริมลำรางท่าน้ำจนถึงปัจจุบันนี้

การประกอบอาชีพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์

ในอดีตชาวบ้านจะปลูกข้าวและปลูกอ้อย เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันจะประกอบอาชีพค้าขายเนื่องจากในนี้มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่เนื่องจากในสมัยโบราณมีการค้าขายและสัญจร ผ่านทางทำให้ชาวบ้านไทยพวนได้รับความรู้ทักษะต่าง ๆ จากเหล่าพ่อค้าที่สัญจรผ่านทางทำให้ชาวไทยพวนมีทักษะการทำการเกษตรและงานหัตถกรรม ที่หลากหลายซึ่งจะผลัดเปลี่ยนช่วงในการทำกันไปในแต่ละหน้าฤดูเช่น หลังจากช่วงการทำนาข้าวเวลาว่างจะมีการทอผ้า และ การทำเครื่องสานเพื่อใช้ในครัวเรือนหรือ นำไปขายและแลกเปลี่ยนกันในชุมชน

สถานการณ์ของชุมชน

ปัจจุบันชาวไทยพวนในจังหวัด สุพรรณบุรีได้มีการกระจายตัวออกไปใน อำเภอต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน ณ บ้านท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นชุมชนไทยพวนดั่งเดิมที่อาศัย อยู่มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๕ และยังคงอนุรักษ์ วัฒนธรรมดั่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง พิธีกรรม งานฝีมือ และ ภาษาดั่งเดิม

วิถีชีวิต / วัฒนธรรม

ในอดีตชาวไทยพวนจะมีวัฒนธรรมการทำนาปีแบบนาดำ คือ วิธีการทำนาที่มีการนำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลงที่เตรียมไว้ (แปลงกล้า)ให้งอกเป็นต้นกล้า แล้วถอนต้นกล้าไปปักดำในกระทงนาที่เตรียมไว้ และมีการดูแลรักษาจนให้ผลผลิต และเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชาวไทยพวนทำให้วัฒนธรรมบางอย่างนั้นจางหายไป เช่นการทำยุ้งข้าว งานหัตถกรรมจักรสาน ซึ่งจะทำกันในช่วงว่างหลังจากการทำนาซึ่ง ปัจจุบันชาวบ้านจะหันไปทำงานรับจ้าง และการปลูกพื้นผักและการเลี้ยงสัตว์ เพื่อขาย และประเพณีการแต่งงานแบบชาวพวนที่ได้หายไป

ความรู้ / ภูมิปัญญา

ภาษาพวน เป็น ภาษาไทยดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากยูนานเชียงแสน ราวพันกว่าปีมาแล้ว
ชาวไทยพวน คือชนชาติไท ที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาสู่แผ่นดินไทยนานกว่าสองศตวรรษ กระจัดกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมยี่สิบห้าจังหวัด ภาษาพวน มีบทบาทที่สำคัญและมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งในด้านจิตวิทยา
สังคมวิทยา และมานุษยวิทยาวัฒนธรรมตลอดจนความเจริญในด้านต่าง ๆ คนไทยพวน ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อพยพมาจากประเทศลาวราวสองร้อยปี ยัง ใช้ภาษาพวน สืบทอดมาประเพณีและวัฒนธรรม มาจนถึงปัจจุบัน

ชาวไทยพวนอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ถือกำเนิดตั้งแต่กำเนิด ขุนบรม ผู้ครองเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู มีโอรส ๗ องค์ ปี พ.ศ. ๑๒๗๔ ขุนบรมได้ให้โอรสทั้ง ๗ แยกย้ายกันไปครองเมือง
โอรสองค์ที่ ๗ ขุนเจ็ดเจือง จึงแยกย้ายกันตั้งอาณาจักรของตนเอง ได้ตั้งชื่ออาณาจักรของตนเองว่า“พวน”
ที่“เมืองเชียงขวาง” ไทยพวนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพราะถูกกองทัพไทย ที่ชนะสงครามกวาดต้อนมาเพื่อเพิ่มพลเมืองไทย และตัดกำลังอพยพกันมาเองตามความสมัครใจเพื่อหลบลี้หนีภัยสงครามมาหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ปี.พ.ศ.๒๓๒๒ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๗๒ กระจายกันอยู่ในอำเภอบางปลาม้า รวม ๗ ตำบล ดังนี้

- ตำบลไผ่กองดิน ๑ ชุมชน ได้แก่ บ้านบ่อหัวกรวด

- ตำบลโคกคราม ๒ ชุมชนได้แก่ บ้านลานคา บ้านวัดดอกบัว(บ้านสีคูน)

- ตำบลบางปลาม้า ๑๐ ชุมชน ได้แก่ บ้านหมู่ที่ ๒ (บ้านสูตร-บ้านเก่า-เก้าห้อง) บ้านหมู่ ๒ (บ้านหมี่-กกม่วง) บ้านหมู่ ๔ (บ้านด่าน,วัดทุ่งอุทุมพร ) บ้านโพธิ์ศรีหมู่ ๓,บ้านโพธิ์ศรี หมู่ ๑๒,บ้านโพนไร่ หมู่ ๑๑

- ตำบลวัดดาว ๑ ชุมชน ได้แก่ บ้านโพธิตะควน

- ตำบลวังน้ำเย็น ๒ ชุมชน ได้แก่ บ้านไผ่เง,บ้านดอนยอ

- ตำบลวัดโบสถ์ ๑๐ ชุมชน ได้แก่ บ้านดอนหนามแดง, บ้านท่าตลาด, บ้านดอนขาด, บ้านคลองขุด
บ้านรางบัว,บ้านบางจิก,บ้านดอนไข่เต่า, บ้านไผ่เดี่ยว, บ้านดอนทอง,บ้านท่าตลาด

- ตำบลมะขามล้ม ๙ ชุมชน ได้แก่ บ้านมะขามล้ม ๔ ชุมชน ,บ้านโคกโก,บ้านตะลุ่ม ๒ ชุมชน,
บ้านวัดโบสถ์ ๒ ชุมชน

จำนวนชาวไทยพวนจังหวัดสุพรรณบุรีชาย ๗,๘๖๐ คน หญิง ๘,๔๕๓ คน รวม ๑๖,๓๑๓ คน
(หนึ่งหมื่นหกพันสามร้อยสิบสามคน)

อักษรพวน หรือ โตธรรม ลักษณะอักษรพวน มีลักษณะกลม ๆ ป้อม ๆ อักษรตัวธรรมของลาว
ตัวธรรมของอีสานหรือโตธรรมของไทยพวน มีลักษณะอย่างเดียวกัน เพราะเกิดมาจากแหล่งเดียวกัน
คือ มาจากล้านช้างมีต้นกำเนิดมาจากภาษามอญคนพวนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกลุ่มใหญ่ที่อำเภอบางปลาม้า ยังคงใช้ภาษาพวนในการสื่อสาน ภาษาพวน หรือบางแห่งอาจจะเรียกว่า ภาษาลาวพวน เป็นภาษาในตระกูลไท-กะได เป็นภาษาของชาวไทพวนหรือลาวพวน คำศัพท์ใกล้เคียงกับภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสานมากกว่าภาษาไทยภาคกลางและเป็นภาษาที่ใกล้เคียงกันกับภาษาผู้ไทมาก เป็นภาษาหนึ่งในเจ็ดกลุ่มใหญ่ของภาษาไทยดั้งเดิม สืบทอดมาจากยูนานเชียงแสน ราวพันกว่าปีมาแล้ว ชาวไทยพวน คือชนชาติไท ที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาสู่แผ่นดินไทยนานกว่าสองศตวรรษ กระจัดกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย รวม ๒๕ จังหวัด

ภาษาพวน นำมาใช้เป็นภาษาของตนเมื่อสร้างอาณาจักพวนของตน เมื่อปี พ.ศ.๑๒๗๔
ที่เมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน คนไทยพวนอำเภอบางปลาม้า
จังหวัดสุพรรณบุรี ติดต่อพูดจากันแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยพูดภาษาเดียวกัน คือ ภาษาพวน

ประเพณี / เทศกาล

ประเพณีที่สำคัญของชาวพวนได้แก่ ประเพณีกำฟ้า คำว่า “กำ” เป็นคำพวน หมายถึงการสักการะ
คำว่า “ฟ้า” หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน หรือผู้ที่อยู่สูงเทียมฟ้า คือพวกเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจเห็นได้ คำว่า “กำฟ้า ” หมายถึง การนับถือการสักการบูชาฟ้า ซึ่งจะถือเอาวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ เป็นวันกำฟ้า ก่อนวันกำฟ้า ๑ วัน คือวันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๓ จะถือเป็นวันสุกดิบ ในวันที่เป็นช่วงของประเพณี ชาวไทยพวนจะไม่ประกอบกิจกรรมทางอาชีพ จะไม่เข้าสวนเข้าไร่ จะหยุดกิจกรรมที่เคร่งเครียด แต่เดิมจะมีการปิดหมู่บ้านเพื่อทำกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน อาทิเช่น วัวชน ไก่ชน การเล่นสะบ้า เล่นเบี้ย

ประเพณีทำบุญหมู่บ้าน

เป็นประเพณีที่อยู่ในเดือนหกของทุกปี เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวพวนยังถือกัน อย่างเคร่งครัด
โดยกำหนดเอาบริเวณแห่งหนึ่งภายในหมู่บ้าน เป็นที่รวมของสมาชิกในหมู่บ้านมาร่วมกันประกอบพิธีกรรม
อีกนัยยะหนึ่งเพื่อเป็นบูชาผีประจำหมู่บ้าน ตามปกติจะทำในเดือน 6 กลางเดือน 6 ณ ที่ตั้งศาลปู่ตา

ชาวพวนชุมชนบ้านเขาพระ จะจัดประเพณีแห่ปลาช่อนในงานประเพณีทำบุญกลางบ้าน
โดยจัดมีการจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 8 - 9 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี ซึ่งการทำบุญกลางบ้านมีความ เชื่อว่าจะทำให้
ฝนตก และจะประกอบพิธีแห่ปลาช่อนคู่กัน ซึ่งกิจกรรมทั้งสองมีการจัดกันมานานแล้ว ในอดีตจะใช้แมวมาแห่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ประเพณีแห่นางแมว แต่เห็นว่าเป็นการทรมานแมว จึงเปลี่ยนจะแมวมาเป็นปลาช่อนในช่วงประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา

ประเพณีทำบุญตักบาตรเทโว

ประเพณีทำบุญตักบาตรเทโว จัดขึ้นในช่วงเดือน 11 หลังเทศกาลออกพรรษา มีการกำหนด
งานบุญมหาชาติ แต่ละหมู่บ้าน จะกำหนดทำบุญไม่ตรงกัน หากหมู่บ้านใดมีการกำหนด ทำบุญก่อน แต่ละบ้านที่เหลือก็จะทำขนมจีน ข้าวต้มมัด และผลไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม เป็นต้น ไปช่วยเหลือหมู่บ้านที่มีงาน

ประเพณีทำบุญเดือนสิบสองใส่กระจาดเทศน์มหาชาติ

ประเพณีการทำบุญในช่วงเดือนสิบสอง การทำบุญเทศน์มหาชาติภาษาพวน พร้อมกับการแห่บ้องไฟ โดยวัดต่าง ๆ ที่นิมนต์พระมาเทศน์วัดเจ้าภาพจะต้องมีการนำบ้องไฟมาจุดในการบุญร่วมด้วย
การเทศน์มหาชาติพวนปัจจุบันไม่มีพระสืบต่อ จึงได้เลือนหายและไม่มีการปฏิบัติอีกในปัจจุบัน

ศาสนา

ชาวไทพวนนับถือและยึดมั่นในพุทธศาสนา มีขนบธรรมเนียมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์
เช่น ประเพณีกำฟ้า เป็นการบูชาเทพเทวดาด้วยการทำบุญใส่บาตรด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ ร่วมกับการทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีความเคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมและประเพณีอย่างมากโดยได้ถือปฏิบัติมาตามแบบอย่างของบรรพบุรุษ ส่วนความเชื่อในการนับถือผีมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่น ๆ ในล้านนา เช่น ผีเสี้ยวบ้าน ผีปู่ย่า

ศิลปะ / การแสดง

ประเพณีที่สำคัญของไทพวนได้แก่ “ประเพณีกำฟ้า” เป็นความเชื่อของชาวไทพวนในทุกพื้นที่ งานจัดขึ้นช่วงเดือนห้าของทุกปี โดยวิธีการหมุนเวียนเจ้าภาพให้คนไทพวนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มาเยี่ยมเยือนกัน ประเพณีก้ำฟ้าเป็นประเพณีของการนับถือสักการบูชาฟ้า ถือเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อฟ้าที่ได้คุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกินดี มีฝนตกตามฤดูกาล มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ โดยชาวไทพวนจะหยุดทำงานทุกอย่างเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมในวันกำฟ้า ซึ่งจะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่นในตอนกลางคืนและการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน วันกำฟ้าจะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ คนเฒ่าจะมีการพูดคุยกับสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ชาวไทพวนมีประเพณีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมภาคอีสานของไทย เช่น การแห่บั้งไฟ การเซิ้งนางแมว การลากกระดาน(กองข้าว) การสู่ขวัญข้าว ประเพณีกำเกียง ที่ยังคงอยู่ในบางพื้นที่

ตำนาน

พิธีเลี้ยงผีปู่ตานั้นจัดขึ้นปีละสองครั้ง โดยแต่ละบ้านในหมู่บ้านจะนำเครื่องเซ่นมาบูชาเช่น ไก่ต้ม เหล้า หมาก พลู บุหรี่ ธูปเทียนและเงิน 1บาท เมื่อเสร็จพิธีจะมีการถวายพระและแจกจ่ายกันร่วมรับประทาน
แต่จะไม่นำกลับบ้าน หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่วัดและทำกระทงขึ้นมาจากกาบกล้วย ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม ตัดกาบกล้วยให้เป็นรูปคนผู้หญิงหรือผู้ชาย และสัตว์ต่าง ๆ มีการปั้นข้าวดำ ปั้นข้าวแดง ให้ผีไม่มีญาติ ใส่ในกระทง ให้พระสงฆ์สวดสะเดาเคราะห์ และชาวบ้านจะร่วมกันอธิฐานว่าเศษอาหารมงคลนี้แบ่งเอามาให้ลูกหลานกินเป็นมงคล ขออย่าให้ได้เจ็บได้ป่วย ทำมาค้าขึ้น อยู่เย็นเป็นสุข
มีโชคลาภ เพื่อให้มีเงินทองมาบูรณะศาลผีปู่ตาต่อไป

หลังจากนั้นอาจมีพิธีกรรมปลุกเสกหญ้าคา น้ำ และทราย โดยทุกบ้านจะมีการนำหญ้าคามาคนละหนึ่งกำ เสียบเอาไว้ที่หลังคาบ้าน น้ำหนึ่งแก้ว และทรายหนึ่งกระป๋อง นำไปหว่านรอบๆ บ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีจะเข้าบ้าน

Location
Amphoe Bang Pla Ma Province Suphan Buri
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
Reference นางสาวทิพย์สุดา อิ่มใจ Email spbcul@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
Amphoe Mueang Suphan Buri Province Suphan Buri ZIP code 72000
Tel. 035536058
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่