วัดศรีอ้อมแก้ว
หมู่ที่ ๒ บ้านกลาง ตำบลคำบก อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
๑. ชื่อข้อมูลวัดศรีอ้อมแก้ว
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ประวัติความเป็นมา/สภาพทั่วไป
วัดศรีอ้อมแก้วตั้งอยู่ในพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา คือภูผากูดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และภูเขากวางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำห้วยทรายไหลผ่านในพื้นที่ บริเวณวัดมีรั้วล้อมรอบ มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่เศษ ภายในบริเวณมีเสนาสนะ ที่สำคัญได้แก่ ศาลาอเนกประสงค์ หมู่กุฏิสงฆ์ อุโบสถไม้(สิม)อยู่กลางน้ำ เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญในตำบลคำบก จากการที่เคยใช้อุโบสถ(สิม)น้ำ ตามคตินทีสีมา โดยสร้างขึ้นจากไม้ มีรูปแบบที่เรียบง่าย ขนาดไม่ใหญ่ เพื่อประกอบสังฆกรรม นับเป็นคตินิยมในการสร้างอุโบสถ(สิม)ขนาดเล็ก ที่พบได้ทั่วไปในภาคอีสานในช่วง ๒๐๐ – ๘๐ ปีที่ผ่านมา เฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถ(สิม)น้ำที่สร้างด้วยไม้ ยิ่งหายากในปัจจุบัน ควรได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
๒.๒ เส้นทางเข้าถึง
ออกเดินทางจากอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๒ (คำชะอี – หนองสูง) ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร จะถึงสี่แยกบ้านห้วยทราย เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านบาก ผ่านบ้านบาก จนถึงบ้านคำบก ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร วัดศรีอ้อมแก้วจะอยู่บริเวณสามแยกไปทางบ้านกลาง
๒.๓ เสนาสนะที่สำคัญ
๒.๓.๑ อุโบสถ(สิม)น้ำจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายประเสริฐ วังโคตรแก้ว อดีตนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลคำบก ระบุว่า อาคารไม้กลางสระน้ำในวัดศรีอ้อมแก้วเป็นอุโบสถ(สิม)น้ำ ที่มีมาพร้อมกับการตั้งวัด สร้างจากไม้ตะเคียน ปัจจุบันเลิกใช้งานแล้ว นับเป็นอุโบสถไม้โดยใช้นทีสีมาที่เหลือเพียงแห่งเดียวในบริเวณนี้
ลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงขนาด ๓ ห้อง รวมโถงด้านหน้า ตั้งอยู่ในสระน้ำด้านทิศตะวันตก ของวัด ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสะพานไม้มุงหลังคาพาดเชื่อมระหว่างโถงด้านหน้าอาคารกับผืนดิน ริมขอบสระ โถงด้านหน้าทำราวกันตกรอบ ระหว่างช่องหัวเสาใช้ไม้กระดานกรุผนังเป็นรูปวงโค้งทาสีเขียวสลับขาว ถัดเข้าไปเป็นตัวอุโบสถขนาด ๒ ห้อง มีประตูทางเข้าเป็นบานไม้ ๑ ช่องประตู มีหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง ชนิด ๒ บาน เปิดออกด้านหลัง (ด้านสกัด) กั้นไม้กระดานปิดทึบ ส่วนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องซีเมนต์ รูปแบบเป็นจั่วซ้อนกัน ๒ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ทาสีเป็นลวดลายประดับ หน้าบัน(หน้าจั่ว)ด้านหน้า เขียนเป็นภาพพุทธประวัติตอนมหาวิเนตรกรม(ออกผนวช) หน้าบัน(หน้าจั่วด้านหลัง) เขียนเป็นภาพทศชาติชาดก ตอนพระชาติที่ ๖ พระภูริทัต
๒.๓.๒ ศาลาอเนกประสงค์เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของชาวบ้านกลาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ สร้างด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง มีภาพจิตกรรมพุทธประวัติ ด้านในศาลาประดับด้วยทุง สวยงาม