ประวัติความเป็นมา
พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยของพญาสารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่านพระองค์ที่ 17 ในราชวงศ์ภูคา เมื่อปี พ.ศ. 1969 - 1970 ในคราวนั้นพระองค์ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปจำนวนทั้งสิ้น 5 พระองค์ โดย 3 องค์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ส่วนอีก 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพญาภู พระอารามหลวง
ขนาด
สูง 196 เซนติเมตร
วัสดุที่ใช้สร้าง
สำริด
พุทธลักษณะ
เป็นพระพุทธรูปลีลา (อิริยาบถเดิน) ก้าวพระบาทขวาออกมาด้านหน้า พระบาทซ้ายอยู่เบื้องหลัง พระกร (แขน) และพระหัตถ์ (มือ) ซ้ายวางแนบพระวรกาย พระกรขวายกขึ้น พระหัตถ์แสดงอภัยมุทรา (ปางประทานอภัย) พระพักตร์ (หน้า) เป็นรูปไข่ พระรัศมีเป็นทรงเปลวไฟ พระขนง (คิ้ว) โก่ง พระเนตรหรี่ลงต่ำ พระนาสิกโด่งค่อนข้างงุ้ม พระโอษฐ์หยักเป็นคลื่น ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี (ท้อง) ปลายแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ ขอบสบงตัดตรง แต่เดิมน่าจะเคยประดิษฐานอยู่บนฐานหน้ากระดานที่มีจารึก ปัจจุบันฐานดังกล่าวได้ชำรุดหายไป ส่วนล่างขององค์พระจึงสิ้นสุดที่ส่วนพระบาท
ศิลปะ
สุโขทัย (สกุลช่างน่าน)
สถานที่ประดิษฐาน
พระอุโบสถวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ 103 ตอนที่ 79 หน้าที่ 8
แหล่งอ้างอิง
สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. (2529). ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. ในเมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ(หน้า 39-241). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.