ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 23' 32.9906"
16.3924974
Longitude : E 99° 31' 16.9878"
99.5213855
No. : 196218
ภูมิปัญญาการปักผ้าของชาวเมี่ยน บ้านจอมแขวน
Proposed by. กำแพงเพชร Date 16 March 2022
Approved by. กำแพงเพชร Date 16 March 2022
Province : Kamphaeng Phet
0 519
Description

เมี่ยน (MiEN) หรือเย้าเป็นเชื้อชาติมองโกลอยด์ (mongoloid) จีน ธิเบต(Sino–Tibetan)ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน เรียกว่า ม่อเย้า และเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศจีน จึงได้อพยพลงมาสู่ทางใต้เข้าสู่ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว และประเทศไทยในจังหวัดกำแพงเพชร “เมี่ยน” ได้อพยพเข้ามาเมื่อประมาณ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา โดยชาวเมี่ยนได้นำเอาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมาใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น ประเพณี ความเชื่อ อาหาร การแต่งกายฯ โดยเฉพาะผู้หญิงมีการนำภูมิปัญญาการปักผ้าที่สืบทอด ต่อกันมานับพันปีมาใช้จนถึงปัจจุบัน จากตำนานที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขา (เกีย เซ็น ป๊อง) ที่ชาวอิ๊วเมี่ยนคัดลอกกันต่อๆมาจนถึงทุกวันนี้ โดยกำหนดให้ลูกหลานเมี่ยน ปกปิดร่างกายของ “ผันหู” ผู้ให้กำเนิดของเมี่ยน โดยใช้เสื้อลายห้าสีคลุมร่างเข็มขัดรัดเอว ผ้าเช็ดหน้าลายดอกไม้ผูกที่หน้าผาก กางเกงลายปิดก้น ผ้าลายสองผืนปิดที่ขา เชื่อกันว่า จากตำนานนี้เองทำให้เมี่ยนใช้เสื้อผ้าคาดเอว ผ้าโพกศีรษะและกางเกงที่ปักด้วยผ้าห้าสี

บ้านวังตะเคียน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เมื่อก่อนมีคลองน้ำตามธรรมชาติและมีต้นตะเคียนมากมายและมีต้นตะเคียนใหญ่ล้มอยู่ในคลอง มีต้นตะเคียนใหญ่ ๑ ต้น ล้มพาดวังซึ่งวังอยู่ในลำคลองท่าส้มอยู่หลังวัดเก่าวังตะเคียนเลยหมู่บ้านนี้ จึงเรียกว่าวังตะเคียนจึงตั้งชื่อว่า“บ้านวังตะเคียน”พื้นเพดั้งเดิมย้ายมาจากพิจิตรและทางภาคอีสาน และจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีคำสั่งจากทางราชการ แต่งตั้งนายปลั่ง คงกล้า ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนแรก”ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอแยกหมู่บ้านใหม่ เนื่องจากบ้านวังตะเคียนเป็นหมู่บ้านใหญ่มีการดูแลปกครองไม่ทั่วถึง เป็นหมู่ที่ ๑๗ชื่อหมู่บ้านจอมแขวน เดิมมีคนดังเดิมอาศัยอยู่ชื่อนายถ่าย เรียกว่า “จอมแขวน” ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ย้ายมาจากจังหวัดลำปาง เข้ามาอยู่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ เดิมขึ้นกัน หมู่ที่ ๑๓ ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอปางศิลาทอง เนื่องจากไม่สะดวกการติดต่อราชการ จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่หมู่ ๕ ตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ได้แยกหมู่บ้านจาก หมู่ที่ ๕ เดิมเป็นหมู่ ๑๗ บ้านจอมแขวน

แนวคิดภูมิปัญญาลวดลายการปักผ้ากลุ่มชาติพันธ์ชาวเมี่ยน

ลวดลายที่ปักลงไปได้แนวคิดมาจากปรัชญาลัทธิเต๋าที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน รวมไปถึงประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์ ตลอดจนความสำนึกที่ว่าตนเองนั้นสืบเชื้อสายมาจากพระจักรพรรดิของจีน ซึ่งชาวเมี่ยนเคยได้รับสิทธิพิเศษในการตั้งหลักแหล่งที่ใดก็ได้ในประเทศจีน โดยไม่ต้องเสียภาษี จะเห็นได้จากลายปักชื่อเทพสุนัขมังกร ลายองครักษ์ ลายเครื่องประดับยศ เป็นต้น ซึ่งลายเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิและตำนาน ซึ่งถือว่าเป็นลายที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมี่ยน ซึ่งผ้าเมี่ยนทุกผืนจะต้องมีลายปักทั้ง 3 ลายที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเมี่ยนในพื้นที่ใดก็ตาม

สตรีชาวเมี่ยนผู้ที่ปักผ้ายังได้ใส่จิตวิญญาณและศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์และได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นลงไปในขณะที่ปักด้วย กล่าวคือ การปักผ้าเมี่ยนนั้นมีแบบแผนที่ชัดเจน ค่อนข้างตายตัวซึ่งมีองค์ประกอบของลายปักดังนี้

ลายที่แสดงถึงความเป็นเผ่าพันธุ์เมี่ยน ถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวที่ผู้ปักทุกคนจะต้องปักลงบนผ้า ได้แก่ ลายองครักษ์ ลายเครื่องประดับยศ และลายเทพสุนัขมังกรหรือลายอุ้งตีนแมว ซึ่งแสดงถึงความเป็นชาติพันธุ์อันทรงเกียรติที่สืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิ โดยในตำนานที่ปรากฏในสาสน์หรือหนังสือที่ใช้หมึกจีนเขียนลงบนผ้าผืนยาวเล่าถึงลูกสาวของพระจักรพรรดิ คือพระเจ้าผิงหวางที่ต้องแต่งงานกับสุนัข แล้วต้องออกจากเมืองไปหาที่อยู่ใหม่ ในหนังสือดังกล่าวได้เขียนไว้ด้วยว่า ไม่ว่าผู้ที่ถือหนังสือม้วนนี้จะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็ตามในอาณาจักรจีน อนุญาตให้อยู่ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เพราะคนเหล่านี้เป็นคนในตระกูลของพระจักรพรรดิ ซึ่งพระเจ้าผิงหวางได้พระราชทานให้เมี่ยน 12 ตระกูล ที่เข้ามาอยู่ในไทย ลายที่แสดงถึงความเชื่อและวิถีชีวิต คือเป็นลายปักบังคับที่ผ้าปักเมี่ยนทุกผืนจะต้องปักลายเหล่านี้ลงไป เป็นลายที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ดอกไม้ อุปกรณ์ในการดำเนินชีวิต เช่น ลายฟันเลื่อย ลายข้าวตอก ลายรอยเท้าเสือ ลายดอกฟักทอง เป็นต้น ลายที่ออกมาจากการสร้างสรรค์ของผู้ปัก ลายปักที่เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยผู้ปัก ซึ่งการสร้างสรรค์นี้ก็ยังอยู่ในกรอบ กล่าวคือ เป็นการนำเอาลายบังคับที่มีอยู่มาร้อยเรียงในรูปแบบต่างๆ หรืออาจจะสร้างลายขึ้นมาใหม่แต่ก็ต้องอยู่ในเรื่องของวิถีชีวิต หรือสิ่งที่ใกล้ตัว เช่น ลายดอกไม้ ที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ออกมาจากความนึกคิด จินตนาการ และวางแผนการปักของผู้ปัก ความละเอียดประณีต การเลือกผ้าสำหรับปัก ถ้าผ้ามีความละเอียดมากเท่าใด การปักก็จะละเอียดและยากเท่านั้น การปักผ้าในองค์ประกอบนี้แสดงให้เห็นถึงความอดทน ความอุตสาหะและอีกหลายๆอย่างของผู้ปัก การเลือกคู่ครองของชายชาวเมี่ยนจึงมักจะดูแลและตัดสินที่งานปักบนกางเกงที่สตรีนั้นสวมใส่ เพราะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นอุปนิสัยได้ ส่วนนี้เองที่ทำให้ผ้าแต่ละผืนจะประกอบไปด้วยลายปักองค์ประกอบที่ 1 และ 2 : 70% และองค์ประกอบที่ 3 : 30%

เทคนิคการปักผ้าของชาวเมี่ยน

การปักผ้าเมี่ยนเป็นการปักผ้าที่ปักจากด้านหลัง (ขณะปักผ้าด้านหลังจะอยู่บน ผ้าด้านหน้าจะอยู่ล่าง) เพื่อให้ได้ลายออกมาด้านหน้า คือ เมื่อปักเสร็จแล้วใช้ลายที่ปรากฏในผ้าด้านหน้าโชว์ โดยชาวเมี่ยนส่วนใหญ่จะนิยมใช้สีปักลายเพียง 5 สีเท่านั้น คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว และสีขาว ซึ่งมีเทคนิคและวิธีปักอยู่ 4 แบบ คือ

การปักแบบหญิ่ว เป็นการปักลายเส้น งานปักเมี่ยนบนผืนผ้าทุกชนิด จะต้องมีการปักลายเส้นในส่วนที่เป็นขอบของงานปักผ้า มีวิธีปักคือ ใช้เข็มแทงลงด้านบนของผ้า ลอดเส้นฝ้ายในผ้าไป 4 เส้น จากนั้นแทงเข็มทแยงข้ามเส้นฝ้ายขึ้นมาด้านบน แล้วดึงปลายเข็มขึ้น จากนั้นปักถอยหลังไป 2 เส้น แล้วทำเหมือนเดิมคือ แทงเข็มลงด้านบนของผ้า แล้วลอดเส้นฝ้ายในผ้าไป 4 เส้น จากนั้นแทงเข็มทแยงข้ามเส้นฝ้ายขึ้นมาด้านบน แล้วดึงปลายเข็มขึ้น จากนั้นปักถอยหลังไป 2 เส้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวตามที่ต้องการ การปักแบบเจี่ยม (ลายขัด) เป็นการเดินเส้นขึ้นลงตามลวดลายที่กำหนดไปตามแนวขวาง ในงานทอผ้าเจี่ยมจะใช้ปักส่วนที่เป็นขากางเกง ซึ่งเป็นส่วนที่เริ่มต้นในการปักผ้าเปรียบเสมือนการหัดก้าวเดิน ก้าวสั้นบ้าง ยาวบ้าง การปักลักษณะนี้เป็นการสอนเรื่องการนับเพราะการปักเทคนิคนี้จะต้องนับช่อง นับเส้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ของสตรี ในเรื่องการปัก มีวิธีปักคือ แทงเข็มลงบนผ้าด้านบนแล้วสอดเข็มเข้าในช่องว่างระหว่างเส้นฝ้ายในผืนผ้าเหมือนกับการทอผ้าที่พุ่งเส้นนอนลงบนเส้นยืนซึ่งการสอดเข็มลงใต้เส้นฝ้าย จะสอดกี่เส้นและข้ามกี่เส้นขึ้นอยู่กับลาย ซึ่งจะต้องนับให้ถูกต้อง เมื่อปักเสร็จด้านหน้าและด้านหลังจะได้ลายที่แตกต่างกัน ลายปักที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ฉ่งเฉ่ ฉ่งโอ่งก้วง และฉ่งเสด เป็นลายที่ปักปลายขากางเกง โดยทั้งสามลายนี้เป็นลายบังคับที่กางเกงเมี่ยนทุกผืน ไม่ว่าจะเป็นเมี่ยนในพื้นที่ใดก็ตาม การปักแบบทิ่ว (ลายสอง) เมื่อปักเสร็จแล้วจะได้รูปคล้าย เครื่องหมายบวก (+) แต่เป็นการปักสี่เส้นที่แยกจากกันจากจุดเดียว มีวิธีปักคือ แทงเข็มลงบนผ้าด้านบนแล้วสอดเข็มลอดเส้นฝ้ายบนผืนผ้า2 เส้น ดึงปลายเข็มขึ้น จากนั้นสอดเข็มลอดเส้นฝ้ายอีก 2 เส้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตามแนวนอนขณะที่กำลังปักแนวนอน และแนวตั้ง กล่าวคือการปักลายนี้ต้องปักเดินหน้าไปเรื่อยๆ จนมาบรรจบกันเป็นลาย การปักเทคนิคทิ่วนี้ เป็นการปักที่ยากที่สุดจะต้องใช้สมาธิ และการวางแผนที่ดี จึงจะสำเร็จ ดังนั้นลายที่ใช้เทคนิคนี้ปักจึงมักเป็นลายเดี่ยว และใช้สีเดียว เช่น ลายเทพสุนัขมังกร ลายองครักษ์ ลายเครื่องประดับยศ เป็นต้น การปักเทคนิคนี้ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะได้ลายออกมาเหมือนกัน เนื่องจากเทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่ยาก สตรีเมี่ยนรุ่นใหม่จึงทำไม่ค่อยได้ และหันไปใช้เทคนิคดับญัด คือการปักไขว้ซึ่งง่ายกว่าแทน การปักแบบดับญัด คือการปักไขว้ เทคนิคการปักแบบนี้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เพราะมีการนำมาปักในงานต่างๆ มากมาย มีวิธีการปักคือ แทงเข็มลงบนผ้าขึ้นลงโดยข้ามเส้นฝ้ายบนผ้าครั้งละ 2 เส้น จะทำให้เส้นไหมที่ปักลงไปออกมาเป็นรูปกากบาท เมื่อปักเสร็จลายด้านหน้าและหลังจะต่างกัน การปักเทคนิคนี้มักจะใช้ปักทั้งลายเดี่ยว เช่น ลายฟันเลื่อย และลายที่มีการผสมผสาน เช่น ลายดอกฝักทอง ซึ่งมักจะใช้หลายสีในการปักเทคนิคนี้ไม่นิยมปักลงในชุดเจ้าสาว เพราะการปักไขว้ถือว่าเป็นการทับและถมกัน จะใช้เทคนิคเจี่ยมและทิ่วเท่านั้น อีกทั้งไม่นิยมให้ผู้ที่เริ่มหัดใหม่ปักเพราะง่าย แต่จะให้เริ่มหัดในสิ่งที่ยากก่อน โดยเริ่มจาก เจี่ยม ทิ่ว แล้วจึงมาดับญัด
Location
บ้านจอมแขวน
Moo ชุมชนบ้านจอมแขวน หมู่ที่ ๑๗
Tambon อ่างทอง Amphoe Mueang Kamphaeng Phet Province Kamphaeng Phet
Details of access
กลุ่มชาติพันธ์บ้านจอมแขวน
Reference นางสาวระวีวรรณ โตวารี
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
Tambon ในเมือง Amphoe Mueang Kamphaeng Phet Province Kamphaeng Phet
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่