กำแพงเมืองกาญจนบุรี ตั้งอยู่ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ เพื่อใช้ตั้งรับศึกสงครามกับพม่า
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเปลี่ยนชัยภูมิตั้งรับศึกจากเมืองกาญจนบุรีเก่าที่ตำบลลาดหญ้า
มาตั้งเมืองใหม่ในบริเวณที่เป็นกำแพงเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกัน เรียกว่า “ปากแพรก”มีข้อความในพงศาวดารระบุว่า
“ครั้นเสร็จการโสกันต์แล้วจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่
สมุหพระกลาโหม ออกไปดูที่สร้างป้อมกำแพงขึ้นที่เมืองกาญจนบุรี เกณฑ์ให้พวกรามัญทำอิฐ
ปักหน้าที่เลขเมืองราชบุรี เลขเมืองกาญจนบุรีก่อกำแพง พระยากาญจนบุรีเป็นแม่กองทำเหมือง...”(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, ๒๕๔๒ หน้า ๑๕๒ – ๑๕๔)
โสมชยา ธนังกุล (๒๕๖๓) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นของกำแพงเมืองกาญจนบุรี ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๒๐ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ประตูเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้ถูกน้ำท่วม
และพังทลายลงมา
พ.ศ. ๒๔๗๘ มีการขอใช้พื้นที่ภายในเมืองกาญจนบุรีฝั่งด้านใต้ก่อสร้างโรงงานกระดาษ
พ.ศ. ๒๔๘๑ มีการรื้อกำแพงเมืองกาญจนบุรี เพื่อสร้างโรงงานกระดาษ
พ.ศ. ๒๔๙๘ จังหวัดกาญจนบุรี ขออนุญาตรื้อกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกเพื่อปลูกสร้างค่ายกองร้อยศูนย์ฝึกสมาชิกอาสารักษาดินแดน
พ.ศ. ๒๕๐๑ จังหวัดกาญจนบุรี ขออนุญาตเจาะกำแพงเมืองเพื่อขยายถนนเป็นช่อง ๒ ช่อง บริเวณ ๒ ข้างของประตูเมืองด้านหน้าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ โสมชยา ธนังกุล อ้างถึงใน กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร (๒๕๖๒) ได้มีระบุถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ กำแพงเมืองกาญจนบุรี ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมศิลปากรบูรณะประตูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และกำแพงเมือง
ด้านทิศตะวันออก(ส่วนที่อยู่ในโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์)
พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘กรมศิลปากรร่วมกับเทศบาลเมืองกาญจนบุรี และสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดกาญจนบุรี บูรณะและเสริมความมั่นคงให้กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก(บางส่วน)รวมถึงการบูรณะป้อมกึ่งกลางกำแพงด้านทิศตะวันตก ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณประตูเมืองด้านตะวันตก และพื้นที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๓
พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมศิลปากรทำการขุดศึกษาทางโบราณคดีบริเวณแนวกำแพงเมืองกาญจนบุรี ด้านทิศใต้และป้อมมุมกำแพงจำนวน ๒ ป้อม
พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมศิลปากรบูรณะป้อม จำนวน ๒ ป้อม และบูรณะกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ความยาว ๓๑๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๖๓ กรมศิลปากรบูรณะป้อม จำนวน ๒ ป้อม และบูรณะกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้ ความยาว ๔๒๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๖๔ บูรณะป้อม จำนวน ๒ ป้อม และบูรณะกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก
ทิศตะวันตก ทิศใต้ ความยาว ๑๒๙ เมตร
ทั้งนี้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนกำแพงเมืองกาญจนบุรี ในราชกิจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๗๙ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม
ข้อมูลจากแผ่นป้ายแสดงรายละเอียด “กำแพงเมืองใหม่”ของสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ระบุว่ากำแพงเมืองกาญจนบุรีมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒๑๐ เมตร
ยาว ๔๙๔ เมตร หันหน้าออกสู่แม่น้ำแม่กลอง ตลอดแนวกำแพงมีใบบังรูปสี่เหลี่ยม มีป้อมปราการรูปแปดเหลี่ยม ๖ป้อม ตั้งอยู่มุมกำแพงทั้งสี่มุมและตรงกึ่งกลางแนวกำแพงด้านหน้า และด้านหลังด้านละ ๑ ป้อม มีซุ้มประตูเมืองด้านหน้าและด้านหลังด้านละ ๒ ซุ้ม และที่กำแพงด้านข้างข้างละ ๑ ซุ้ม และประตูช่องกุดใต้ป้อมกลางกำแพงป้อมละ ๑ ประตู รวมเป็น ๘ ประตู เมื่อสงครามระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลง กำแพงเมืองกาญจนบุรีจึงหมดบทบาทและถูกทิ้งร้าง มาถึงปัจจุบัน
สภาพปัจจุบัน และลักษณะการใช้งานปัจจุบัน
ปัจจุบันกำแพงเมืองที่ยังเหลืออยู่และได้รับการบูรณะเป็นกำแพงเมืองและประตูด้านหน้า (ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) เหนือประตูมีข้อความว่า “เมืองกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๓๗๔”และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเยี่ยมชมทุกวัน และบริเวณท่าน้ำ ห่างจากประตูเมืองกาญจนบุรี ประมาณ ๒๐๐ เมตร มีร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวเรือบริการนักท่องเที่ยว (จังหวัดกาญจนบุรี, ๒๕๖๕)