๑. ชื่อข้อมูลวัดโพธิ์ศรี
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ประวัติความเป็นมา/สภาพทั่วไป
ประวัติความเป็นมา
วัดโพธิ์ศรี สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๙ - ๒๔๔๙ สมัยปกครองมณฑลได้มีพระอาจารย์สุวรรณ สุวัณฺโณ เป็นสมภารวัดโพธิ์ศรีรูปแรก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๗๔ นับว่าเป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญกับชุมชนบ้านดงหลวง โดยชุมชนแห่งนี้เป็นกลุ่มชาติพันธ์โซ่ ตามประวัติระบุว่าอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๙ จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า ๒๐๖ ปีแล้ว ส่วนสถาปัตยกรรมสำคัญในวัดโพธิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ อาคารปริยัติธรรมหรือศาลาการเปรียญ ล้วนสะท้อนสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขงในช่วง ๖๐ – ๑๐๐ ปีมาแล้ว
การบริหารการปกครองจากการให้ข้อมูลของ พระอธิการสุรินธร ชุตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งอ้างอิงบันทึกประวัติวัดโพธิ์ศรี โดยสังเขป ของท่านพระครูสุวัฒน์สิริคุณ (เจริญ สันฺตจิตฺโต) อดีตเจ้าคณะตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร แจ้งรายนามเจ้าอาวาส ดังนี้
รูปที่ ๑ พระอาจารย์สุวรรณ สุวัณฺโณ
รูปที่ ๒ พระอาจารย์พรมมา นายโก
รูปที่ ๓ พระอาจารย์สอน ธัมฺมิโก
รูปที่ ๔ พระอาจารย์สีเงิน ฉันฺทโก
รูปที่ ๕ พระครูโพธิธรรมสถิต (อาญาถ่าน สิม) - ถึง พ.ศ. ๒๕๒๔
รูปที่ ๖ พระอาจารย์ไหล เตชวโร (ครั้งที่ 1) พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๓๑
รูปที่ ๗ พระสมทรัพย์ ปัญญาทีโป พ.ศ. ๒๕๓๔ - ๒๕๔๐
รูปที่ ๘ พระครูโพธิสิริวัฒน์ (พระอธิการไหล เตชวโร) ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๕๘
รูปที่ ๙ พระอธิการสุรินธร ชุตินฺธโร พ.ศ. ๒๕๕๘ - ปัจจุบัน
สภาพทั่วไป
วัดโพธิ์ศรี เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลดงหลวงทางทิศเหนือ ห่างจากที่ว่าการอำเภอดงหลวง ๕๐๐ เมตร ห่างจากที่ทำการเทศบาลตำบลดงหลวง ๑ กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดมุกดาหาร ๕๘ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๖๔๓ กิโลเมตร มีทางสาธารณะล้อมรอบแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ลักษณะที่ตั้งเป็นที่ราบ ด้านทิศตะวันออกเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยชะโนด ด้านทิศเหนือมีลำน้ำสาขาของห้วยชะโนดไหลผ่าน พื้นที่วัดมีกำแพงอิฐถือปูนล้อมรอบครอบคลุมพื้นที่ ๖ ไร่เศษ ภายในวัด มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ อาคารปริยัติธรรมโพธิธรรม หอกลอง วิหารหลวงปู่สิม มหาวิโรกุฏิสงฆ์
๒.๒ เส้นทางเข้าถึง
ออกเดินทางจากอำเภอดงหลวงไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๐๔ ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เลี้ยวขวาบริเวณสามแยกประมาณ ๑๐๐ เมตร จะพบวัดโพธิ์ศรีตั้งอยู่สุดทาง
๒.๓ เสนาสนะที่สำคัญ
อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๓ ห้อง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนฐานเป็นชุดฐานบัวลูกแก้ว บันไดทางขึ้นด้านหน้าผายออกเล็กน้อย ราวบันไดทั้งสองข้างทำเป็นพญานาค ประตูทางเข้าอุโบสถเป็นไม้แบบ ๒ บานเปิดเข้า เหนือกรอบประตูทำเป็นวงโค้งเชื่อมระหว่างหัวเสาประดับทั้งสองข้าง ผนังสองฝากข้างทำเป็นช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กเรียงกัน ๕ ช่องในกรอบสี่เหลี่ยม เหนือช่องแสงทำเป็นวงโค้งเชื่อมระหว่างหัวเสาประดับทั้งสองข้างซึ่งตั้งอยู่บนคิ้วบัวล่าง ส่วนหน้าบันเรียบไม่มีการตกแต่งด้วยลวดลายใด ๆ ผนังอุโบสถทั้งสองข้างแบ่งออกเป็น ๓ ห้อง โดยผนังห้องที่ ๑ และ ๓ ทำเป็นเพียงช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กเรียงต่อเนื่อง ๗ ช่องในกรอบสี่เหลี่ยม เหนือช่องแสงทำเป็นคิ้วบัวโค้งเชื่อมระหว่างช่วงเสา ส่วนผนังห้องที่ ๒ ทำเป็นช่องหน้าต่างไม้แบบ ๒ บานเปิดเข้า เหนือช่องหน้าต่างทำเป็นคิ้วบัวโค้งเชื่อมระหว่างช่วงเสาเช่นเดียวกัน หนังด้านหลังอุโบสถก่อปิดทึบ ส่วนหน้าบันไม่มีลวดลายประดับ ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วมุงสังกะสี มีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ประดับแบบภาคกลาง ไม้เชิงชายแกะสลักเป็นรูปกระจัง รอบอุโบสถมีเสมาหินปักประจำทั้ง ๘ ทิศ
อาคารปริยัติมีชื่อว่า “อาคารปริยัติโพธิธรรมสถิตย์” แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๘ ห้อง วางตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีบันไดทางขึ้นชั้น ๒ บริเวณกึ่งกลางอาคารทางด้านหน้า ลักษณะบันไดผายออกเล็กน้อย มีราวบันไดทั้ง ๒ ข้าง ชั้นที่ ๑ หรือใต้ถุนอาคารแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยส่วนหน้าทำเป็นโถงโล่งตลอดแนว แต่ละช่วงเสาทำเป็นเสาประดับรับวงโค้งอย่างต่อเนื่อง ปลายสุดของโถงล่างทำเป็นบันไดทางขึ้นชั้นที่ ๒ ส่วนด้านหลังก่อผนังกั้นเป็นห้องมีประตูทางเข้าสองข้างของโถงด้านล่าง ผนังระหว่างประตูทำเป็นช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียงต่อเนื่องจำนวน ๖ ช่องทุกช่วงเสา ผนังด้านหลังชั้นล่างทำช่องเป็นหน้าต่างไม้แบบ ๒ บานเปิดออกห้องเว้นห้อง โดยห้องที่ไม่มีหน้าต่างก่อปิดทึบ
ชั้นที่ ๒ ส่วนหน้าทำเป็นโถงโล่งตลอดแนวเช่นเดียวกับชั้นล่าง ทุกช่วงเสาทำเสาประดับรับวงโค้งอย่างต่อเนื่อง พื้นปูด้วยไม้กระดาน ส่วนหลังก่ออิฐฉาบปูนกั้นเป็นห้อง ทำประตูไม้แบบ ๒ บานเปิดออก จำนวน ๓ ช่อง คือ กึ่งกลางและปลายสุดของโถงอาคารทั้งสองด้านระหว่างช่วงเสาบนทำเป็นช่องแสงในกรอบสี่เหลี่ยม หัวเสาเป็นบัวแวง ผนังด้านหลังอาคารชั้นที่ ๒ ทำช่องหน้าต่างชนิด ๓ บานเปิดออก ทุกช่วงเสาเครื่องหลังคาเป็นไม้ทรงจั่วมุงสังกะสี ตัวอาคารทาสีเหลืองเปลือกไข่ไก่
ศาลาการเปรียญเป็นอาคารโถงชั้นเดียวใต้ถุนเตี้ย ก่ออิฐถือปูนมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ด้านยาวขนาด ๕ ห้อง ด้านกว้างขนาด ๔ ห้อง มีบันไดทางขึ้นกึ่งกลางอาคาร ๓ ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือก่อเป็นผนังทำช่องหน้าต่างไม้แบบ ๒ บานเปิดออกทุกช่วงเสา ยกเว้นช่วงเสากลางก่อผนังปิดทึบเหนือกรอบหน้าต่าง ทำคิ้วบัวโค้งประดับ ภายในอาคารโถง ด้านทิศเหนือยกพื้นสูงเป็นอาสนะสงฆ์ มุมอาคารด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำเป็นห้องไว้เก็บพัสดุในงานศาสนพิธี หน้าบันเรียบไม่ประดับลวดลาย ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่ว ๒ ชั้น มีปีกยื่นโดยรอบ มุงสังกะสี มีช่อฟ้านาคสะดุ้ง ใบระกา หางหงส์ประดับแบบภาคกลาง
๓. คำสำคัญวัดโพธิ์ศรีบ้านดงหลวง อาคารปริยัติธรรมโพธิธรรมสถิตย์ หลวงปู่สิม มหาวิโร
๔. สถานที่ตั้งวัดโพธิ์ศรี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านดงหลวง ตำบลตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๕. ผู้ให้ข้อมูลพระอธิการสุรินธร ชุตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๖. หนังสืออ้างอิงหนังสือรายงานสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดมุกดาหาร โครงการสำรวจและขุดค้นโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปี พ.ศ.๒๕๕๖ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม