๑. ชื่อข้อมูลวัดน้อยป่าหวาย
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ประวัติความเป็นมา/สภาพทั่วไป
ประวัติความเป็นมา
วัดน้อยป่าหวาย นับเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญต่อศรัทธาความเชื่อของคนในชุมชนบ้านติ้ว ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ หรือ กะโซ่ ซึ่งรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นแบบดังเดิมไว้ร่วมกันอย่างเหนียวแน่นสืบทอดกันมากว่า ๑๐๐ ปี นายนา ลาภโพธิ์ อายุ ๙๐ ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๕ หมู่ ๒ บ้านมะนาว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารได้ให้ข้อมูลว่า วัดน้อยป่าหวาย เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านติ้ว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร สร้างเพื่อถวายให้เป็นที่พำนักของอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ หรือปู่ผ้าดำ ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การปกป้อง คุ้มครอง และช่วยเหลือ ชาวตำบลพังแดงให้อยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยมา ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่กระทั่งปัจจุบัน และเชื่อว่าท่านเป็นผู้บรรลุธรรมขั้นสูง จึงเคารพนับถือเป็นอย่างมาก โดยปู่ผ้าดำจะมาพำนักอยู่ที่วัดน้อยป่าหวายเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะช่วงเวลาเข้าพรรษาปู่ผ้าดำจะมาเข้าพรรษา ณ ที่แห่งนี้ทุกปี อนึ่ง ชื่อ “น้อยป่าหวาย” มาจากสมัยก่อนในบริเวณนั้นมีป่าหวายพุ่มเล็ก ๆ พุ่มหนึ่ง (เล็ก =น้อย) จึงตั้งชื่อตามลักษณะพื้นที่นั้น ๆ
สภาพทั่วไป
วัดน้อยป่าหวาย บ้านติ้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาภูลานสาวคอยด้านทิศเหนือ กับเขาภูเพ็กด้านทิศใต้ มีลำห้วยทรายไหลผ่านทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ บริเวณวัดน้อยป่าหวายล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนราษฎรในหมู่บ้าน ตัววัดมีกำแพงรั้วล้อมรอบมีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่
วัดน้อยป่าหวาย ไม่ใช่วัดในพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นใด แต่เป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ หรือ กะโซ่ สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่าง ๆ และบวงสรวงบรรพบุรุษ ภายในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงประกอบไปด้วย เรือนบรรพบุรุษ จำนวน ๔ หลัง หลักเสไม้หรือหลักไม้สักเป็นรูปเจดีย์ขนาดต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงธาตุเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูน บริเวณด้านหน้าทางเข้าเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเรือนโบราณ ซึ่งเป็นเรือนเก่าแก่และมีความสำคัญต่อชุมชนบ้านติ้ว และมีความสัมพันธ์กับวัดน้อยป่าหวายเป็นอย่างมาก
๒.๒ เส้นทางเข้าถึง
ออกจากอำเภอดงหลวง ไปทางทิศใต้ตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๐๔ ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร จะถึงสามแยกบ้านก้านเหลืองดงบริเวณวัดโพธิ์ศรีแก้ว เลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข ๒๒๘๗ (ดงหลวง-พังแดง) ระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จะผ่านบ้านโพนไฮ บ้านโพนสว่าง บ้านนาหลัก จะถึงบ้านติ้ว หมู่ ๓ วัดน้อยป่าหวาย จะตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน
๒.๓ เสนาสนะที่สำคัญ
เรือนบรรพบุรุษภายในพื้นที่มีจำนวน ๔ หลัง มีรูปแบบเป็นเรือนอีสานพื้นถิ่น คือ เป็นเรือนชั้นเดียว ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวนามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก ตัวเรือน แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ด้านหน้าเป็นชานเรือน ด้านหลังกั้นเป็นห้อง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่ว มุงสังกะสี ทำปีกหลังคายื่นออกด้านหน้า เพื่อมุงส่วนชานเรือน เรือนหลังเก่าสุดมีขาดเล็ก บริเวณชานเรือน ทำรูปเหมือนพระอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ หรือ หลวงปู่ผ้าดำ ตั้งอยู่ให้คนในชุมชนเคารพกราบไหว้ ปัจจุบันเรือนหลังนี้ได้รื้อสร้างใหม่แล้ว
หลักเสไม้มีจำนวนหลายหลัก ขนาดต่าง ๆ กัน เป็นการนำเอาต้นไม้ทั้งต้นหรือท่อนไม้ทั้งท่อนมาสลักให้เป็นรูปธาตุเจดีย์ รูปทรงสูงชะลูด คล้ายกับรูปสลักบนแกนเสมาหินในเขตพื้นที่อีสานใต้ บางหลักมีการวาดเป็นภาพทางพุทธศาสนาและทาสีต่าง ๆ ตกแต่งตลอดทั้งหลัก โดยมีพื้นที่ปักหลักเสไม้หรือธาตุเจดีย์ไม้ ทางทิศเหนือของพื้นที่วัดน้อยป่าหวาย
เรือนโบราณเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น อยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์วัดน้อยป่าหวาย ตัวเรือนมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๓ ช่วงเสา ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศใต้ โดยช่วงเสาแรกเป็นส่วนของชานเรือน ทั้ง ๒ ชั้น ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วมุงสังกะสี ในชั้นที่ ๒ ส่วนหลังคาช่วงเสากลางทำเป็นมุข ยื่นออกมา บริเวณประตู หน้าต่าง วาดเป็นภาพทหารถือปืน นักมวยชกกัน ยักถือกระบอง เป็นต้น เชิงชายไม้สลักเป็นรูปปีกกา มีคันทวยนาครองรับ ตามประวัติระบุว่า เรือนโบราณบ้านติ้วเป็นของลุงคำพลอย เชื้อคำฮด ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านติ้ว โดยลุงคำพลอย เป็นคนมีวิชาสามารถเข้าทรง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในหมู่บ้านและผู้คนทั่วไป ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ผู้ที่ศรัทธาลุงคำพลอยจึงร่วมกันก่อสร้างเรือนโบราณหลังนี้ให้ เมื่อลุงคำพลอย เสียชีวิตไป เรือนหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างจนปัจจุบัน
๓. คำสำคัญวัดน้อยป่าหวาย หลักเสไม้ เรือนโบราณ ธาตุเจดีย์ไม้
๔. สถานที่ตั้งวัดน้อยป่าหวาย ตั้งอยู่ หมู่ ๓ บ้านติ้ว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๕. ผู้ให้ข้อมูลนายนา ลาภโพธิ์ อายุ ๘๐ ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๕ หมู่ ๒ บ้านมะนาว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๖. หนังสืออ้างอิงหนังสือรายงานสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดมุกดาหาร โครงการสำรวจและขุดค้นโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปี พ.ศ.๒๕๕๖ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม