ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 10' 52.414"
14.1812261
Longitude : E 99° 56' 16.2359"
99.9378433
No. : 197478
ประเพณีเดินเจว็ด
Proposed by. สุพรรณบุรี Date 28 September 2022
Approved by. สุพรรณบุรี Date 28 September 2022
Province : Suphan Buri
0 738
Description

ประวัติความเป็นมา

“ประเพณีเดินเจว็ด” เนื่องจากพรรพบุรุตพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลาย ชั่วอายุคน หลังจากการแต่งงานของผู้ที่นับถือศาลพ่อปู่ พ่อต้นแค และแม่พระนางในหมู่บ้านตำบลทุ่งคอก หรือใกล้เคียง จะได้มาร่วมพิธีเดินเจว็ด เชื่อว่าครอบครัวจะทำมาหากินเจริญก้าวหน้า หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง มีโชคลาภ และเพื่อความสบายใจ เป็นการสืบทอดประเพณีกันมาอย่างยาวนาน

ที่มาของประเพณีเดินเจว็ดเกิดขึ้นจากคู่แต่งงานทั้งเก่า และใหม่ที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านในตำบลทุ่งคอก ได้ประกอบพิธีการเดินเจว็ด เพื่อเป็นการขอพรจาก ศาลพ่อปู่ พ่อต้นแค แม่พระนาง ซึ่งเป็นศาลที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ได้แก่ ศาลพ่อปู่ พ่อต้นแค และแม่พระนาง นั้น เดิมไม่มีใครทราบว่า ใครเป็นคนสร้าง รู้ต่อๆ กันมาว่าสมัยที่หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอกเกจิชื่อดังยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สั่งให้พระเณร ในวัดช่วยกันทำความสะอาด และดูแลศาลพ่อปู่ พ่อต้นแค แม่พระนาง เป็นอย่างดี ศาลแห่งนี้เป็นที่พึ่ง ทางจิตใจของคู่แต่งงานทั้งเก่า และใหม่ ของชาวบ้านตำบลทุ่งคอกมานานกว่า ๓๐๐ ปีสำหรับพิธีการเดินเจว็ดของชาวทุ่งคอกก็คือ คู่แต่งงานทั้งเก่า และใหม่จะนำไม้เจว็ดที่ทำจากไม้รูปพระขันธ์ซึ่งเชื่อกันว่าไม้เจว็ด คือเทวดาประจำตัวของผู้ที่เข้าร่วมเดินเจว็ดทั้งคู่ใส่พาน พร้อมดอกไม้ ธูป เทียน ขนมต้มแดงต้มขาว อาหารคาว หวาน ฯลฯ การแต่งกาย ผู้ชายแต่งกายชุดสุภาพ พาดด้วยผ้าขาวม้าจากหัวไหล่เฉียงมาถึงเอว ผู้หญิงแต่งกายสุภาพ นำสไบมาพาดเหมือนกับผู้ชาย โดยมีกลองยาวนำขบวนคู่แต่งงานทั้งเก่า และใหม่ถือพานใส่เจว็ด พร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เดินรอบศาลพ่อปู่ พ่อต้นแค แม่พระนาง จำนวน ๓ รอบ แล้วจึงนำเครื่องสักการะเหล่านั้น มอบให้พ่อเฒ่าแม่แก่ประธานในงานที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมรับพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่แต่งงาน ให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง พบแต่ความสุขความสมหวังในชีวิตคู่ตลอดไป

“ประเพณีเดินเจว็ด”หรือ “เตว็ด”ของชาวบ้านตำบลทุ่งคอก กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี เป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นความเชื่อของคนถ้องถิ่นหนึ่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยคู่แต่งงานทั้งเก่า และใหม่ได้เดินทางมากราบไหว้ขอพรศาลพ่อปู่ พ่อปู่ต้นแค แม่ย่านาง เพื่อความเป็น สิริมงคลแก่คู่แต่งงานให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็พบแต่ความสุขความเจริญ สมหวังในการดำเนินชีวิตคู่ตลอดไป

ภายในงานได้จัดพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ จากนั้นชาวบ้านจะนำขนม ต้มแดง ต้มขาว ข้าวสวย เหล้า หัวหมูผลไม้ และเครื่องสักการะมาขึ้นศาล และอัญเชิญพ่อปู่ พ่อปูต้นแค พระแม่นาง ประทับร่างทรง เพื่อกราบไหว้ขอพร และแก้บนที่ได้บอกกล่าวไว้ ชาวบ้านในชุมชน จากนั้นเริ่มพิธีเดินเจว็ด โดยมีแต่งงานทั้งเก่า และใหม่ ในหมู่บ้านทุกคู่ ทั้งคู่ที่อยู่ในชุมชน และคู่ที่ไปทำมาหากินที่ต่างจังหวัด ที่เพิ่งแต่งงานอยู่กินกันจะมาร่วมพิธีเดินเจว็ด แม้กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ที่แต่งงานกันมานานแล้ว แต่ชีวิตไม่มีความสุข หากไม่มาขึ้นเจว็ดจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ป่วยไข้บ้าง ก็จะต้องมาร่วมพิธีประเพณีเดินเจว็ด การจัดประเพณีเดินเจว็ด เป็นประเพณีเก่าแก่ สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา และมีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน

ปัจจุบันประเพณีเดินเจว็ดได้บูรณาการขึ้นใหม่ โดยมีการประกอบพิธีสงฆ์ มีการทำบุญ ตักบาตร มีการนำขนมต้มแดง ต้มขาว อาหารคาวหวาน ถวายพ่อปู่ พ่อต้นแค แม่พระนาง แล้วจึงมีพิธีการเดินเจว็ดของคู่แต่งงานทั้งเก่า และใหม่

เป็นกิจกรรมหรืองานที่จัดให้มีขึ้นสืบทอดเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

งานประเพณีเดินเจว็ด ตำบลทุ่งคอก ได้จัดมายาวนานหลายชั่วอายุคน โดยหลักฐานจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลทุ่งคอก นางหวัน เกิดสมบูรณ์ อายุ ๘๒ ปี “ประเพณีเดินเจว็ดมีมานานกว่า๓๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วได้มาร่วมทำบุญ และดูการเดินเจว็ดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และทำอาหารคาวหวาน ขนมต้มแดงต้มขาว มาสักการะบูชาพ่อปู่ พ่อต้นแค แม่พระนาง เป็นประจำทุกปี

นายวรสิทธิ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งคอก ผู้สืบสานประเพณีเดินเจว็ด “แต่เดิมชาวบ้านตำบลทุ่งคอกที่แต่งงาน และใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เมื่อถึงวัน ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่หรือไปทำงานยังต่างจังหวัด จะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนา เพื่อมาประกอบพิธีเดินเจว็ดอันก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่ และชีวิตการงาน”วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามการมีส่วนร่วม และความสามัคคีประเพณีเดินเจว็ดเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้านตำบลทุ่งคอก ที่สืบทอดกันมานับได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี โดยลักษณะ เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ที่เลื่อมใส และศรัทราในพ่อปู่ พ่อต้นแค แม่พระนาง ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านตำบลทุ่งคอก ยังคงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้สมาชิกในครอบครัว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รู้สึกใกล้ชิดผูกพันกัน และทำให้คนในสังคมมีความรู้สึกผูกพัน สามารถพึ่งพาอาศัยกัน และกันได้ มีความสามัคคี และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

“เจว็ด” ว่า เจว็ด อ่านว่า จะ-เหฺว็ด(คัดลอกมาจาก เว็บไซต์“เจว็ด” “รู้ไว้ใช่ว่า” ชุดของดีมีอยู่)เป็นคำเรียกแผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา แต่ทำทรงสูง เพรียว. ด้านหน้าวาดรูปหรือสลักเป็นภาพเทวดาถือพระขรรค์ เรียกว่า รูปเทพารักษ์ บ้านที่มีศาลพระภูมิจะประดิษฐานเจว็ดนี้ไว้ในศาลพระภูมิ. เชื่อกันว่าพระภูมิจะช่วยคุ้มกันบ้านเรือนและดูแลผู้คนที่อยู่ในบ้านนั้นให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่าง ๆ เจว็ดนิยมทำด้วยไม้มาแต่เดิม เพราะถือว่าพระภูมิเป็นรุกขเทวดาที่สถิตอยู่บนต้นไม้นี่ คือคำนิยามหรือความหมายที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย ท่านได้ให้ไว้

ในนิยามทางโบราณคดีหรือเรื่องราวเกี่ยวกับงานพระราชพิธี เจว็ด คือรูปเทพารักษ์ ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลที่สร้างขึ้นในการประกอบพิธีทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ เช่น หากทำเป็นรูปเทวดาถือคันไถ ก็จะใช้ในพิธีแรกนาขวัญ สำหรับเจว็ดชินนี้เป็นรูปเทวดาถือสมุด อีกมือหนึ่ง ถือแส้ มีความหมายคล้ายกับพระภูมิเจ้าที่ของจีน ซึ่งมีหน้าที่รักษาทะเบียนมนุษย์ ผู้ใดในหมู่บ้านซึ่งอยู่ในท้องที่พระภูมิดูแลรักษาอยู่ มีการทำบุญหรือทำบาปก็จะถูกจดบันทึกไว้ในสมุดทะเบียนนั้นไว้

ตามคติพราหมณ์เชื่อว่า เทพารักษ์ทำหน้าที่พิทักษ์เหย้าเรือน และเขตที่ตั้งของบ้านผู้เป็นเจ้าของที่ดินตลอดจนผู้อาศัยให้พ้นภัยทั้งปวง คติดังกล่าวน่าจะมาจากคัมภีร์ภาติวัตปุราณะ เล่าเรื่องนารายณ์อวตารในปาง “วามนาวตาร” เพื่อปราบท้าวพลีเจ้านครบาดาล พราหมณ์จึงนับถือท้าวพลีโดยตั้งอยู่ในฐานะเจ้าแห่งที่ดิน โดยในบทโองการบูชาเทวดามีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “โอมพระภูมิพระธรณี กรุงพลี เรืองฤทธิ์” นอกจากนี้ตำนานพระภูมิเจ้าที่ซึ่งแต่งขึ้นเพิ่มเติมในสมัยหลังระบุว่า ท้าวพลีมีโอรสทั้งหมด ๙ องค์ โดยโอรสองค์โตนามพระชัยมงคล มีหน้าที่รักษาเคหะสถานบ้านเรือนคติความเชื่อเกี่ยวกับเจว็ดหรือภาพเทพารักษ์เช่นนี้ คงมีขึ้นอย่างช้าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากหลักฐานคำให้การขุนหลวงหาวัดได้ระบุว่า “ย่านป่าโทน มีร้านขายทับ โทน เรไร ปี่แก้ว จ้องหน่อง … ศาลพระภูมิ เจว็ดเขียนเทวรูป เสื่อลำแพน…” และความนิยมในการตั้งศาลพระภูมิที่มีเจว็ดอยู่ภายใน ก็ยังคงสืบต่อมายังสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

รูปแบบของเจว็ดในบางแห่งอาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งเป็นสำคัญว่าอยู่ในสถานที่ใด เช่น หอแก้วศาลพระภูมิในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ลักษณะของอาคารเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระดับความสำคัญของศาลพระภูมิประจำพระบรมมหาราชวัง ภายหอแก้วมีเจว็ดทั้งหมด ๕ แผ่น เขียนภาพพระอินทร์และภาพท้าวจตุโลกบาล การเขียนภาพในลักษณะเช่นนี้บนเจว็ดดูจะแตกต่างจากเจว็ดทั่วๆ ไป อาจเป็นไปได้ว่าพระบรมมหาราชวังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญสูงสุด จึงต้องอาศัยเทพชั้นสูงคอยปกป้องคุ้มครอง ซึ่งต่างจากสถานที่อื่นๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่าจึงอาศัยเพียงเทพชั้นรองหรือเทพารักษ์ก็คงจะเพียงพอ หรืออีกนัยหนึ่งก็ชวนให้คิดว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ราชธานีแห่งนี้ซึ่งมีนามว่ากรุงรัตนโกสินทร์ อันแปลว่าเมืองแก้วแห่งพระอินทร์ นอกจากนี้ฝ่ายต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง ก็มีการตั้งศาลเจว็ดขึ้นบูชาต่างหากด้วย โดยเจว็ดที่ประตูอนงคะลิ้นลา อันเป็นประตูทางเข้าพระราชฐานชั้นใน เขียนเป็นภาพนางอัปสรนั่ง เจ้าหน้าที่ผู้เฝ้าประตูระบุว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิต อยู่ภายในเจว็ดของแต่ละประตูล้วนเรียกกันว่า “เจ้าแม่” ทั้งสิ้น ประเด็นการเรียกขานนามว่าเจ้าแม่ อาจเกี่ยวข้องกับการเป็นเทพรักษาทางเข้าฝ่ายใน ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ภายในนอกจากกษัตริย์ และเด็กชาย ที่ยังไม่โกนจุกแล้ว นอกนั้นล้วนแต่เป็นสตรีทั้งสิ้น ศาลพระภูมิจากอาคารบ้านเรือนทั่วไป แต่เดิมมักตั้งอยู่บริเวณริมรั้วบ้าน ในปัจจุบันศาลพระภูมิไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่เฉพาะที่ริมรั้วบ้านเท่านั้น แต่อาจตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าของตึกได้ด้วย ลักษณะเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่าแต่เดิมที่อยู่อาศัยมีอาณาบริเวณกว้างขว้างพอที่จะตั้งศาลพระภูมิในเขตรั้วบ้านได้ แต่ในปัจจุบันที่อยู่อาศัยมักสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังนิยมอยู่ติดริมถนน จึงทำให้ไม่มีอาณาบริเวณพอสำหรับตั้งศาลพระภูมิ ดังนั้นตำแหน่งที่ตั้งจึงเปลี่ยนไปเป็นดาดฟ้าของอาคารแทน ด้วยเงื่อนไขของการปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้คติความเชื่อเรื่องตำแหน่งที่ตั้งต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

วันเวลาผ่านไปโลกเจริญไปด้วยเทคโนโลยีเจว็ดแทบจะเลือนหายไปกับกาลเวลา หลายท่านพักอาศัยอยู่ตามตึกสูง คอนโดมิเนียม ที่โอ่อ่าสูงตระหง่าน ทำให้การสร้างศาลพระภูมิที่มีเทพสถิตอยู่ในรูปของเจว็ดเริ่มเลือนหายไป ความสำคัญของศาลพระภูมิ และการเรียนรู้เรื่องเทพที่ปกปักรักษาเคหาสถานจึงหมดไป จะพบเห็น “เจว็ด” กันก็ตามพิพิธภัณฑ์ฯ หรือบ้านโบราณเก่าแก่ ภายในงานพระราชพิธีหรือตามภาพถ่าย ในหนังสือเท่านั้น หวังว่าการนำเสนอในครั้งนี้คงทำให้หลายท่านได้รับความรู้ต่างๆ ที่ทางชมรมฯ เพียรสร้างสรรค์เพื่อแบ่งปันเรื่องราวทางมรดก ประเพณี วัฒนธรรมไทยบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อให้หลายท่านได้รู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้มากขึ้นก่อนที่จะไร้ค่าและถูกทำลายไปตามกาลเวลาเพราะความไม่รู้ในของดีที่มีอยู่

Location
Tambon ทุ่งคอก Amphoe Song Phi Nong Province Suphan Buri
Details of access
Reference นิษฐกานต์ คุณวัชระกิจ Email nitthakan_kae@yahoo.co.th
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่