จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองหน้าด่านทางภาคตะวันตกของไทย มีเขตแดนติดต่อกับพม่าทางด่าน พระเจดีย์สามองค์ ซึ่งในอดีตทั้งสองเป็น “ประเทศคู่สงคราม” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้น กรุงรัตนโกสินทร์ โดยมักมีชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยในไทย ทางการไทยก็จัดให้ชาวมอญรวมกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ตามพื้นที่รายทางที่พม่าจะยกทัพผ่าน เรียกว่า“รามัญ 7 เมือง”หรือ“มอญ 7เมือง”
ได้แก่ เมืองสิงห์, เมืองลุ่มสุ่ม, เมืองท่าตะกั่ว, เมืองไทรโยค, เมืองท่าขนุน, เมืองทองผาภูมิ และเมืองท่ากระดาน
เมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนาราชวงศ์จักรี ทรงตั้งหัวหน้ามอญแต่ละเมืองดังกล่าว เป็นนายด่านดูแลเมืองในยามศึกสงคราม หัวเมืองทั้ง 7 มีหน้าที่ช่วยรบ นำทาง เตรียมเสบียงอาหาร หากเป็นยามปกติก็มีหน้าที่ตรวจตราตระเวนด่าน สืบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมอญมีความชำนาญในการตระเวนด่านมากกว่าคนไทย ด้วยรู้จักเส้นทางเดินทัพ และรู้ภาษาพม่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อให้กิตติศัพท์ดังออกไปถึง
เมืองพม่า ว่าหัวเมืองแน่นหนาหลายชั้น จึงโปรดให้ตั้งเมืองมีกรมการเมืองอยู่รักษาทุกเมืองและพระราชทานชื่อผู้สำเร็จราชการเป็นภาษาสันสฤต ดังนี้ พระสมิงสิงหบุรี เป็น“พระสมิงสิงหบุรินทร์”ผู้สำเร็จราชการ เมืองสมิงสิงหบุรี พระลุ่มสุ่ม เป็น“พระนินนะภูมิบดี”ผู้สำเร็จราชการเมืองลุ่มสุ่ม พระท่าตะกั่ว
เป็น“พระชินติฐบดี”ผู้สำเร็จราชการเมืองท่าตะกั่ว พระไทรโยค เป็น“พระนิโครธาภิโยค”ผู้สำเร็จราชการเมืองไทรโยค พระท่าขนุน เป็น“พระปนัสติฐบดี”ผู้สำเร็จราชการเมืองท่าขนุน พระทองผาภูมิ
เป็น“พระเสลภูมิบดี”ผู้สำเร็จราชการเมืองทองผาภูมิ พระท่ากระดาน เป็น“พระผลกติฐบดี”ผู้สำเร็จราชการเมืองท่ากระดาน
เกี่ยวกับเมืองรามัญ 7 เมืองนี้พลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์อดีตแม่ทัพภาค 3 ประธานชมรมประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรีและนายวรวุธ สุวรรณฤทธิ์อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูกาญจนบุรี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี) เลขานุการชมรมฯ ศึกษาค้นคว้าสำรวจเบื้องต้นพอจะสรุปได้ว่าเมืองสิงห์หรือเมืองสมิงสิงหบุรี ที่ตั้งจากแผนที่ทหารชุด L 7017 ระวาง 4837 III ที่พิกัดกริด 47 PNR 264513 สถานที่ตั้งเมืองสิงห์ คือ บริเวณปราสาทเมืองสิงห์ ริมน้ำฝั่งตะวันออกของลำนำแควน้อย ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค มีโบราณสถานในศาสนาพุทธมหายานอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีกำแพงเมืองทำด้วยศิลาแลงขนาด 880 x 1,400 เมตร เมื่อหมดความสำคัญลงถูกทิ้งร้างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่งตั้งเป็นหนึ่งในเมืองด่าน รวมเรียกว่า รามัญ 7 เมือง
สภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ เทศบาลตำบลท่าขนุน เทศบาลตำบลทองผาภูมิและวัดท่าขนุน เห็นความสำคัญของอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน ซึ่งมีคุณูปการต่อบ้านเมืองจึงกำหนดจัดงานทำบุญถวายอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน 7 หัวเมืองตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงวันมาฆบูชาเป็นต้นมา มีการจัดกิจกรรม พิธีบวงสรวงสักการะถวายอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน ๗ หัวเมือง มีทายาทอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน 7 หัวเมืองมาร่วมพิธีบวงสรวงการทำบุญถวายอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน 7 หัวเมือง ขบวนแห่ชาติพันธุ์เทิดไท้องค์ราชัน นิทรรศการมอญ เป็นต้น