ผ้าไหมลายสระแก้ว วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมทอมือ บ้านใหม่ไทยพัฒนา
ลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม :การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2525 มีครัวเรือนชาวนครราชสีมา จำนวน ๖ ครัวเรือน ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านหนองหมอบ (ชื่อตามชาวบ้านเรียก) กลุ่มชนที่ย้ายเข้ามาอยู่กลุ่มนี้ ได้นำวัฒนธรรมการทอผ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทอผ้าสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และได้อนุรักษ์สืบต่อกันมา เพื่อถ่ายทอดสู่ลูกหลาน เวลาต่อมาจึงมีครัวเรือนย้ายตามกันมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ปัจจุบันทางราชการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ตามทะเบียน คือ บ้านใหม่ไทยพัฒนา
ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๒๗ ชาวบ้านบ้านใหม่ไทยพัฒนาได้ไปร่วมรับเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จที่บ้านคลองทราย หมู่ที่ ๘ ตำบลหนองตะเคียนบอน โดยชาวบ้านได้นำผ้าไหมทอมือ ซึ่งทอไว้ใช้ด้วยลายพื้นเมืองดั้งเดิมไปถวายให้ทอดพระเนตร พระองค์ท่านทรงสนพระทัย และรับสั่งให้ คุณหญิงสุประภาดา เกษมสันต์ มาสนับสนุนการทอผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านใหม่ไทยพัฒนา
ต่อมาอีกประมาณ ๒ สัปดาห์ คุณหญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ได้นำสิ่งของมาแจกราษฎร อาทิ นักเรียน ทหาร และได้นำเส้นไหม สีย้อมผ้าไหม มาให้กลุ่มทอผ้าบ้านใหม่ไทยพัฒนา เพื่อให้กลุ่มทอลายดั้งเดิมพื้นเมืองและมารับซื้อผ้าที่ทอแล้วกลับไปจำหน่ายในศูนย์ศิลปาชีพ ในราคาเมตรละ 400 บาท ขณะนั้น
กลุ่มมีสมาชิกจำนวน ๑๕ คน โดยนางสี นาเก่า เป็นประธาน ต่อมาศูนย์ศิลปะชีพได้สั่งทอผ้าไหมตามลายที่ทันสมัย เป็นที่นิยมของตลาด กลุ่มจึงขยายรับสมาชิกเพิ่มและปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน ๔๒ คน มีคณะกรรมการ ๑ คณะ จำนวน ๗ คน ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าไหมทอมือบ้านใหม่ไทยพัฒนา ใช้เส้นไหมแท้มาย้อมสี ทอเป็นผ้าที่มีลายสวยงาม เนื้อผ้าละเอียดเรียบ สีไม่ตก เนื้อแน่เป็นเงางาม ซักแล้วไม่หดตัว ลายผ้ามี ทั้งลายดั้งเดิม ลายประยุกต์ และลายคิดค้นใหม่ จึงมีหลากหลายให้เลือกซื้อได้ตามความต้องการของลูกค้าและยังมีลายที่คิดค้นเป็นลายลักษณ์ของจังหวัดสระแก้ว คือ ลายดอกแก้ว(ดอกไม้ประจำจังหวัด) ลายผีเสื้อดาหลา ลายผีเสื้อหมู่น้อยปางสีดา ลายปราสาทสด๊กก๊กธม ในผ้าผืนเดียวกัน
ผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยที่ทอกันตามท้องถิ่นต่างๆ ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยลวดลาย และสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ใช้ผ้าในยุคปัจจุบันอาจไม่เข้าใจความหมาย และมองไม่เห็นคุณค่า ลวดลาย และสัญลักษณ์เหล่านี้ บางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางชื่อก็เป็นภาษาท้องถิ่น ไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทย
ในภาคอื่นๆ เช่น ลายเอี้ย ลายบักจัน เป็นต้น บางชื่อก็เรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ เช่น ลายแมงมุม ลายปลาหมึก ซึ่งแม้แต่ผู้ทอก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเรียกชื่อนั้น แต่ลายจังหวัดสระแก้วตั้งชื่อใหม่ เป็นลายประจำจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นผ้าทอมือของวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนา อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เป็นลายที่ได้มีการพัฒนาจากการนำเอกลักษณ์ของจังหวัดมาทำเป็นลาย เป็นต้น และสามารถอธิบายลายผ้าได้
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ :นางใจ รอดคำทูล ๐๙๒-๓๙๕-๖๓๖๕
นางทองใบ ประชาราษฎร์ ๐๙๓-๑๐๘-๑๙๕๙
นางพิศ ปกพันธ์ ๐๖๓-๑๘๐-๒๗๘๗
นางทองร้อย กาขาว ๐๘๗-๙๒๐-๘๑๑๗
นายอนุชา พรมสุข ๐๘๙-๒๕๓-๑๓๕๙