การแสดงซีละด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านจาปิง มีอยู่ที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เท่านั้น เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือ โดยเน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสวยงามและเสียงจาปิงที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
โดยนายมะรอบี ยะโก๊ะ ปราชญ์ชาวบ้านบ้านกือรง หมู่ที่ ๓ ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ผู้ประดิษฐ์และเล่นดนตรีพื้นบ้านจาปิง (Japing) เล่าว่า การแสดงซีละด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านจาปิงมีมานานมากกว่า ๔๐ ปี เกิดขึ้นที่บ้านกือรงในงานโรงเรียนตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) ของชุมชน และงานเข้าสุหนัตของหมู่บ้าน โดยการเล่นซีละบรรเลงเสียงด้วยจาปิง มีผู้เล่นอยู่ด้วยกัน จำวน ๔ คน ประกอบด้วย ผู้เล่นซีละ จำนวน ๒ คน ผู้เล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านจาปิง ๑ คน และเป่าปี่ หรือภาษามลายูเรียกว่า ซูนา จำนวน ๑ คน
วิธีการเล่น
๑. เริ่มด้วย การเป่าปี่ เป็นการเริ่มต้นของการแสดงซีละ
๒. ผู้เล่นจาปิงจะเริ่มด้วยการตี การดีด และการเคาะเครื่องดนตรีพื้นบ้านจาปิงให้เกิดเสียงซีละ ซึ่งจาปิง ๑ ใบ ประกอบด้วย ฆือแน อีบู (กลองซีละใหญ่) ฆือแนอาเนาะ (กลองซีละเล็ก) ฆง (ฆ้อง) ในตัวเดี่ยวของเครื่องดนตรีพื้นบ้านจาปิง ๑ อัน
๓. เมื่อดนตรีประโคมนักแสดงซีละก็จะก้าวออกมาสู่เวทีทั้งคู่ แล้วผลัดกันไหว้ครูทีละคน ให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสวยงาม ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เล่นแต่ละคนจะมีลีลา และเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการเล่นเพื่อให้ดูสวยงาม ผลัดกันไหว้ครูทีละคน และทำความเคารพผู้ชมโดยการโค้งคำนับ นั่งหรือยืนไหว้ สลามผู้ชม หลังจากนั้นคู่ต่อสู้จะออกมาสลามต่อกัน (การทำความเคารพแบบพื้นเมือง) คือ ยื่นมือทั้งสองออกไปขอสัมผัสกัน แล้วเอาฝ่ามือทั้งสองข้างของตนมาแตะที่หน้าผากกับหน้าอก จากนั้นนักแสดงซีละทั้งคู่ก็เริ่มแสดงลวดลายท่าร่ายรำ ดูชั้นดูเชิงกันก่อน ต่างก็ให้คู่ต่อสู้เห็นกล้ามเนื้ออันทรงพลังของตน เพื่อเป็นการข่มขวัญ บางครั้งจะกระทืบเท้า ตบมือฉาด ๆ หรือใช้ฝ่ามือตบต้นขาของตนให้เกิดเสียงดังเพื่อข่มคู่ต่อสู้เมื่อแสดงลวดลายร่ายรำ กระทืบเท้า ตบมือ ตบขา ขู่สำทับดูชั้นเชิงกันพอสมควรแล้ว ผู้เล่นปี่ จะเป่าปี่ให้ดังขึ้น ผู้เล่นจาปิงจะตี เคาะ และดีดจาปิง ทำให้เกิดเสียงกลองซีละใหญ่กลองซีละเล็ก และฆง (ฆ้อง) ให้ดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะประโคมเร่งเร้าให้นักซีละคึกคะนอง นักแสดงซีละก็จะขยับเข้าใกล้กันและหาจังหวะเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน เพื่อให้คู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ เมื่อนักซีละแสดงจนหมดลีลา ซึ่งใช้เวลาในการแสดงคู่ละ ๓๐ นาที หรือเมื่อมีการแพ้ชนะกันแล้วทั้งคู่จะถอยห่างออกจากกัน แล้วทำความเคารพผู้ชม ทำความเคารพต่อกันเป็นการจบสิ้นสำหรับการแสดงซีละคู่นั้น โดยการเล่นซีละบรรเลงเสียงจาปิงไม่มีการพักเป็นยกไม่มีการให้น้ำ ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนและไม่มีกรรมการ ทั้งนี้เพราะนักซีละแต่ละคนจะมีระเบียบวินัยในตนเอง มีความซื่อสัตย์เคารพกติกา โดยไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ต่อสู้ด้วยลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายที่สวยงามของผู้เล่นซีละ และลีลาการเป่าซูนาและผู้เล่นจาปิงที่มีรอยยิ้มและมีความสุข ได้สร้างความประทับใจและความสุขให้แก่ประชาชนที่มาดูการแสดงซีละบรรเลงเสียงจาปิงได้อย่างดียิ่ง
ศิลปะการต่อสู่ป้องกันตัวซีละด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านจาปิงแสดงในโอกาส และงานเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น งานเข้าสุหนัตหมู่งานตาดีกา งานชุมชน และงานส่งเสริมพหุวัฒนธรรมประเพณีอำเภอเจาะไอร้อง ฯลฯ