จารึกสด๊กก๊อกธม ๑
ที่บ้านสระแจง กล่าวถึงการสร้างศาสนสถานระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ โดยในปี พ.ศ. ๑๔๘๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ กัมรเสตงอัญศรีวีเรนทรวรมันใช้ให้ปรัตยยะนำศิลาจารึกมาปักไว้เพื่อประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเรียกข้าพระของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น ให้ใช้ข้าพระเฉพาะการปฏิบัติบำรุงรักษาเทวรูปศิวลึงค์ และรูปเคารพอันประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถาน (แห่งนี้)เท่านั้น แต่เนื่องจากจารึกหลักนี้มิได้พบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมจึงมีผู้วิเคราะห์ว่าเนื้อความในจารึกอาจไม่เกี่ยวข้องกับปราสาทสด๊กก๊อกธม
จารึกสด๊กก๊อกธม ๒
บอกถึงพิธีเทวราชาของกษัตริย์ขอม จารึกหลักนี้พบที่ปราสาทแห่งนี้ มีเนื้อความบันทึกว่า พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ได้ปฏิสังขรณ์ปราสาทแห่งนี้ในปี พ.ศ. ๑๕๙๕ โดยจารึกหลักนี้ระบุชัดเจนว่า กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมเป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำทางศาสนา ให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์ รวมทั้งกล่าวถึงประวัติสายสกุลพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีเทวราชา การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่าง ๆ ในศาสนา เป็นต้น