องค์การบริหารส่วนตำบลโนนศิลาเลิง อำเภอฆ้องชัย จับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ใช้เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดี่ยวปลอดสารพิษแบบประณีตชุบชีวิตชาวนาอีสาน
ผศ.ณรงค์ ผลวงศ์รองอธิการบดี มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง มีเขื่อนลำปาวที่สามารถผันน้ำให้กับเกษตรกรได้ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งข้าวมะลิ 105 ข้าวเหลือง 11 ข้าว กข 6 ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวเขาวงซึ่งเป็นข้าวที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่เกษตรกรที่ทำนาข้าวพบว่า ยิ่งทำมากก็เป็นหนี้มากขึ้น
รองอธิการบดี มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณตามต้องการ ต้องเพิ่มการใส่ปุ๋ย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากขึ้นตามลำดับในทุกครั้งที่ทำการเกษตร เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ผลผลิตมากตามที่ต้องการ โดยที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกปี ต้องรับสารเคมีซึ่งเป็นสารพิษอยู่ตลอดเวลา สภาพดินเสื่อมโทรม ดินเสื่อมคุณภาพ จุลินทรีย์ในดินถูกทำลาย สารเคมีที่ใส่ลงไปในดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมีการตกค้างในดิน ในน้ำ และในพืชที่เกษตรกรผลิตด้วย ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากของเกษตรกรทั่วประเทศ
ผศ.ไพรัตน์ เลื่อนไธสงผู้ช่วยอธิการบดี ประจำวิทยาเขตกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จึงลงพื้นที่หาชุมชนบูรณาการกับหน่วยงาน อบต. เกษตรและกลุ่มองค์กรในท้องถิ่นใช้เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดี่ยวปลอดสารพิษแบบประณีต เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการคลินิกเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ โดย ผศ.สุจิตรา สราวิช ดำเนินการร่วมกับ คุณสถาพร ซ้อนสุข จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายธนูสินธ์ ไชยสิริ นายอำเภอกมลาไสย โดยการสนับสนุนงบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปีงบประมาณ 2553 ดำเนินการที่บ้านโคกล่ามและน้ำจั้น ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย ประสบ ความสำเร็จ ทำให้ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจนว่า การปลูกข้าวต้นเดี่ยวนั้นจะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ จากเดิมที่ทำนาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ 11-15 กก./ไร่ ทำนาดำแบบดั้งเดิม (3-5ต้น) ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-6 กก./ไร่ แต่ถ้าดำนาแบบต้นเดี่ยวใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 1-1.5 กก./ไร่ จึงช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ได้หลายเท่าตัว
ผศ.สุจิตรา สราวิชจากคลินิกเทคโนโลยีมทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การทำนาข้าวต้นเดี่ยวช่วยประหยัดพื้นที่ในการตกกล้า อายุกล้าที่ใช้เพียง 10-14 วัน จากเดิมใช้ต้นกล้าอายุ 25-30 วัน ประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่งจากการทำนาปกติ เพราะขังน้ำไว้เพียง 1-2 นิ้ว และมีการปล่อยให้ดินแห้งบ้างสลับกันไป ระยะในการดำ 30-40 ซม. ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะมีช่องว่างระหว่างกอ ข้าวแต่ละกอสามารถแตกกอได้ดีกว่าระบบเดิมที่เคยใช้ เป็นเท่าตัว ทำให้ผลผลิตที่ได้ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมเคยทำนาได้ผลผลิต 500 -600 กก./ไร่ การทำนาข้าวต้นเดี่ยวทำให้ได้ผลผลิตประมาณ 1,020 กก./ไร่ ทำให้เกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการตื่นตัวและต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวต้นเดี่ยวเป็น จำนวนมาก
นายณรงค์ นาชัยเริ่มนายก อบต.โนนศิลาเลิง กล่าวว่า จากผลการใช้เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดี่ยวประสบ ความสำเร็จ ที่อำเภอกมลาไสย ปี 2554 ของคลินิกเทคโนโลยีมทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จึงได้นำโครงการขยายผลไปที่ บ้านวังเดือนห้า ตำบลโนนศิลาเลิง อำเภอฆ้องชัย โดยมี นายธนาวุฒิ ทองทวี นายอำเภอฆ้องชัย ร่วมโครงการด้วยและยังขยายผลไปทำที่บ้านโพนงาม มี อบต.โพนงามสนับสนุนโครงการเต็มที่ ผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบ้านโคกล่าม ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นายชุมพล ศิริภักดิ์ โทรศัพท์ 08-9943-1948