วัดท่าฟ้าใต้ อยู่ที่บ้านท่าฟ้าใต้ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสระ จังหวัดพะเยา บนเส้นทางสายปง-เชียงม่วน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ โดยครูธรรมเสนา และพ่อเฒ่าแสนอัฐิ ผู้นำชาวไทลื้อซึ่งอพยพมาจากสิบสองปันนา ลักษณะตัวพระอุโบสถ เป็นทรงเตี้ยก่ออิฐถือปูน หลังคาสามชั้นมุงด้วยแป้นเกล็ด ตามแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อ องค์พระประธานแกะสลักจากไม้ประดู่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๑๗.๕ เซนติเมตร สูง ๒๒๗.๕ เซนติเมตร ซึ่งอัญเชิญมาจากสิบสองปันนา ประดิษฐานบนฐานชุกชี ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมศิลปะไทลื้อ ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเครือเถา ลงรักปิดทอง ประดับกระจก มีแท่นธรรมาสน์ ลักษณะคล้ายมณฑปหรือปราสาท ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมยี่สิบชั้น ประดับลายปูนปั้นรูปเครือเถาและสัตว์ต่างๆ เช่น กวาง ช้าง ม้า นกยูง ลักษณะเด่น คือลวดลายดอกไม้ ที่แพรวพราวไปด้วยกระจก ประดับหลากสี ส่วนวิหารเป็นศิลปะไทลื้อ รูปร่างทรงเตี้ยก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาสามชั้นมุงด้วยแป้นเกล็ด ชั้นที่ 1 เป็นแบบปั้นหยา ครอบวิหารทั้ง ๔ ด้าน ชั้นที่ ๒-๓ ทรงแบบปราสาท มีหน้าบันทางด้านทิศตะวันตก มีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน
วิหารทรงไทลื้อ ลักษณะก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามี๓ ชั้น มุงด้วยแป้นเกล็ด ชั้นที่ ๑ เป็นแบบปั้นหยาครอบตัววิหารทั้ง ๔ ด้าน ชั้นที่ ๒-๓ ทรงแบบปราสาทมีหน้าบัน ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน ตัววิหารทึบ มีประตูไม่กว้างนัก เป็นบานไม้สักผนังด้านข้างมีหน้าต่างเล็ก ๆ โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน พอให้อากาศถ่ายเทได้ มีความงดงามแปลกตา เชื่อกันว่าสร้างโดยช่างชาวไทยลื้อที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน เมื่อประมาณ ๒๓๙ ปีมาแล้ว
นอกจากนั้นภายในวิหารยังมีองค์พระประธาน คือ หลวงพ่อสิบสองปันนา ซึ่งแกะมาจากไม้ประดู่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา และมีฐานชุกชีเป็นลวดลายของศิลปกรรมเฉพาะถิ่นของสิบสองปันนา ซึ่งกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณ เมื่อ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๔ วัดท่าฟ้าใต้ อยู่ที่บ้านท่าฟ้าใต้ หมู่ที่ ๒ ตำบลสระ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน ๑๙ กม. ถือเป็นศิลปะไทลื้อที่หาชมยาก