วัดอินกัลยาสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราชประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๗ โดยพระสนมชื่อ ท้าวทิพย์ภวดี ตอนแรกสร้างนั้นมีเนื้อที่กว้างใหญ่มากถึง๘๗ ไร่ แต่ชื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานต่อมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าหญิงอินกัลยา พระธิดาของท้าวทิพย์ภวดี ได้บูรณะซ่อมแซม ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า "วัดอินกัลยาซ่อม" และต่อ ๆ มาก็เหลือเพียง"วัดอินกัลยา" ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันวัดอินกัลยาเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ทิศเหนือเดิมติดที่ดินของชาวบ้าน
ซึ่งไม่ไกลจากคลองบ้านลี่ แต่ปัจจุบันได้แบ่งที่ดินจำนวน ๑๓ ไร่ ๖๔ ตารางวา ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาคือ โรงเรียนบางปะหัน ทิศตะวันออกติดกับคลองชลประทาน ทิศใต้ติดต่อกับชุมชนตลาดบางปะหัน ทิศตะวันตกติดกับถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข ๓๒)
วัดอินกัลยาได้รับวิสุงคามสีมาในครั้งหลังเมื่อ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๔
เจ้าอาวาสที่พอจะสืบทราบนามได้มีลำดับดังนี้
๑. พระอธิการเนี่ยง พ.ศ. ๒๓๙๗ - ๒๔๖๕
๒. พระอธิการชื่น พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๘๐
๓. พระอธิการชม พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๙๑
๔. พระอธิการวัณ พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๖
๕. พระอธิการเทียน พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๕๐๒
๖. พระอธิการธูป พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๗
๗. พระครูธรรมธรเยื้อน ฐิตวณฺโณ พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๗
๘. พระครูโกศลกัลยาณคุณ พ.ศ. ๒๕๑๗ - ปัจจุบัน
วัดอินกัลยา ได้มีการก่อสร้างอาคารเสนาสนะ เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยมา และได้สร้าง
"หลวงพ่อใหญ่" คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ทางเหนือของวัดติดกับโรงเรียนบางปะหัน เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและคนทั่วไป พระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ประจำวัดคือ "หลวงพ่อปาน" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดเท่าคนจริง อยู่ในประอุโบสถเก่า มีเรื่องเล่าว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ยกทัพไปตีเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๔ ชนะศึกกลับมาได้ทรงนำพระแก้วบุษราคัมมาด้วย และนำมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดนี้ เมื่อพระองค์เจ้าปาน พระราชโอรสในพระเพทราชามาอุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดอินกัลยาแห่งนี้ เป็นที่เคารพนับถือ มีลูกศิษย์ลูกหามาก และได้สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. ๒๓๐๘ บรรดาศิษย์อาลัยอาวรณ์มาก ได้ทำพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณเข้าสิงสถิตในพระแก้วบุษราคัม และเมื่อพม่ายกทัพมาตีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๐๙ ลูกศิษย์จึงได้นำปูนมาพอกพระแก้วบุษราคำและลงรักปิดทองหุ้มเอาไว้ จึงมิได้ถูกทำลาย ยังคงอยู่และเป็นที่เคารพสักการะ เชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงปัจจุบันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า หากจะบนบานหลวงพ่อปาน ต้องบนด้วย "ไข่ต้ม" วัดอินกัลยาเป็นวัดของชุมชน นอกจากจะเป็นที่บำเพ็ญกุศล ประกอบศาสนกิจตามประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนชาวตลาดบางปะหัน ชาวตำบลบ้านลี่ และบางนางร้า บางส่วนแล้ว ยังได้แบ่งที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษาคือโรงเรียนวัดอินกัลยาอีกด้วย วัดอินกัลยาเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เคยถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่จนเกือบจะเป็นวัดร้าง และเคยมีการพิพาท ฟ้องร้องอันทำให้สะเทือนใจ แต่ด้วยความรัก การให้อภัยและความสามัคคีของเจ้าอาวาสพระภิกษุ สามเณรและชาววัดอินกัลยา ได้กอบกู้ให้วัดอินกัลยายังคงเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ ให้บริการด้านต่าง ๆ ทั้งอาคารสถานที่สิ่งของเครื่องใช้ เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกับวัดทั่ว ๆ ไป.
โดย วัฒนธรรมอำเภอบางปะหัน