ลิเก คณะรุ่งทิพย์จันทรา
นายทิพย์ ธรรมมัง เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 อายุ 44 ปี นับถือศาสนาพุทธ สถานที่เกิด บ้านตะเบาะ ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ บิดาชื่อ นายเมธา สีดา มารดาชื่อ นางแต้ว ธรรมมัง ไม่มีพี่น้อง สมรสกับนางช่อเพชร มีบุตรสาว 4 คน ได้แก่ นางสาวธิดา ธรรมมัง นางสาวจันทรา ธรรมมัง นางสาวดารา ธรรมมัง และนางสาวสุกัญญา ธรรมมัง
การศึกษา ระดับประถมศึกษาโรงเรียนบ้านตะเบาะ ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ สถานที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 120 ตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร การสืบเชื้อสายศิลปิน จากบิดานายเมธา สีดา เป็นศิลปินประเภทโขนและลิเก และนายวินัย ผู้เป็นลุงห่างๆ เป็นศิลปินลิเก มีสมญานามว่า เขี้ยวเสน่ห์ยิ้มตลอดกาล ปัจจุบันครอบครัวภรรยาและบุตรสาว 2 คน นางสาวจันทรา และนางสาวสุกัญญา เป็นศิลปินลิเกด้วยกัน
ประวัติการแสดง เริ่มฝึกหัดการแสดงเมื่อ ปี พ.ศ.2517 อายุ 14 ปี สิ่งที่กระตุ้นให้รักในงานการแสดง คือ ตัวเราไม่มีสมบัติ บ้านและที่ดิน และเห็นพี่ป้าน้าอา ทั้งพ่อแม่ก็เป็นลิเก จึงถูกฝึกหัดมาจนเป็นลิเก ตอนเด็กๆ เคยอยากเป็นครูและทหาร แต่เมื่อมาเป็นลิเกก็มีความรักและผูกพันตลอดมาจนทุกวันนี้ เริ่มฝึกหัดจริงตอนอายุ 14 ปี กับครูวินัย ตอนเด็กพ่อเคยแต่งกลอนให้ฝึกร้อง พอออกโรงเรียนก็มาฝึกหัดกับพ่อใหญ่บุญธรรมและครูวินัย ได้ฝึกหัดอยู่สอง เรื่องชาลวันไกรทอง และวิวาห์พิษ
เริ่มแสดงจริงตอนอายุ 16 ปี ครั้งแรกที่บ้านพ่อใหญ่บุญธรรม หน้าโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ความรู้สึกตอนนั้นตื้นเต้น สนุกและดีใจมาก
การรับมอบ-ครอบมือ-ไหว้ครู จำปี พ.ศ.ไม่ได้ ทำที่บ้านพ่อใหญ่แถวหน้าโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ใช้พานดอกไม้สตางค์ ค่าครูนิดหน่อย ครูวินัยจับข้อมือให้ ปัจจุบันครูวินัยและพ่อใหญ่รวมทั้งพ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว
เป็นหัวหน้าคณะที่สมบูรณ์เมื่ออายุ 30 ปี ชื่อคณะรุ่งทิพย์จันทรา สมาชิกในคณะมีจำนวน 40 คน ผู้แสดง 20 คน นักดนตรี 10 คน และผู้มีหน้าที่อื่นๆ ได้แก่ คนติดตั้งเวที 6 คน ติดตั้งเครื่องเสียง 4 คน มีศิษย์ที่เด่นๆ คือ นางสาวสุกัญญา ธรรมมัง ชื่อคณะ สุกัญญา ดาราทิพย์
เหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งเรียนศิลปการแสดง เช่น เริ่มแรกครูแต่งกลอนให้ท่องจำ ครูสอนให้รำเข้าและรำออก ออกแสดงตามวิกและตามวัด เป็นเดือนเป็นปี บางทีก็มีคนมาจ้างไปแสดงตามงานต่างๆ ค่าแสดงครั้งแรก 20 - 30 บาท ปัจจุบัน 800 - 2,000 บาท
ความภูมิใจจากรายได้การแสดง ในตอนแรกๆ ลำบากมาก ปัจจุบันมีชื่อเสียงคนรู้จักงานก็มีเยอะขึ้น พอเลี้ยงตัวและครอบครัว สามารถส่งลูกเรียนคนโตจบผู้ช่วยพยาบาล คนที่สองจบปริญญาตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กรมศิลปากร คนที่สามกำลังศึกษาอยู่เทคโนฯ คนที่สี่เรียนการศึกษานอกโรงเรียนและแสดงลิเก ซึ่งลูกๆ ก็กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง
อุดมการณ์ในการแสดง ต้องแสดงให้ดีและคงมาตรฐาน เพราะอยากมีชื่อเสียงโด่งดัง
ผลงานล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดสุดยอดลิเก OTOP ครั้งที่ 2 ประจำปี 2548 ชื่อเรื่องการแสดงเรื่อง “ใจพี่ ใจน้อง” จำนวนผู้แสดง 6 คน
1. นายกฤษฎ์ มาคำ
2. นางสาวสุกัญญา ธรรมมัง
3. นายสมพร จันทร์ศรี
4. นายแสงสิงห์ เทียนทอง
5. นายสมพร เขตุชะเอม
6. นางวิไลพร เขตุชะเอม
บุตรสาวของหัวหน้าคณะ
ตัวอย่างเนื้อเรื่องย่อ “ใจพี่ใจน้อง”
“เบิ้ม เบี้ยว บอย สามคนพี่น้องเป็นลูกของขุนกบิลและสายบัว (ขุนกบิลตายจากไปแล้ว)ตอนนี้รู้ข่าวว่าในเมืองมีการแข่งขันประลองฝีมือ จึงพากันไปลาแม่สายบัวเข้าเมืองไปประลองฝีมือ เมื่อมาประลองฝีมือ ขุนพลกากะบาตเป็นตัวยืน เบี้ยวชนะขุนพลกากะบาต แต่เจ้าหญิงบุษบาให้ประลองกับเบิ้มด้วย เบี้ยวแอบบังคับให้พี่ชายแพ้ตัวเอง เบิ้มก็ยอมแต่เจ้าหญิงบุษบาแอบรู้ จึงแต่งตั้งให้เบิ้มเป็นทหารเอกคู่พระทัย เบี้ยวไม่พอใจสะบัดหน้ากลับบ้าน เมื่อไปหาแม่ก็ถูกแม่ไล่ออกจากบ้าน เบี้ยวก็ยิ่งเสียใจ เมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองถูกขุนพลกากะบาตยุให้แอบไปฆ่าเจ้าหญิงบุษบา เบี้ยวจึงแอบไปฆ่าหญิงบุษบาแต่เบิ้มได้เข้ามาห้ามไว้ เบี้ยวกลับใส่ร้ายว่าเบิ้มจะเป็นคนฆ่าเจ้าหญิง เจ้าหญิงบุษบาหลงเชื่อจึงสั่งให้เบี้ยวนำตัวเบิ้มไปประหารชีวิต ในระหว่างที่เบี้ยวจะประหารชีวิตเบิ้ม บอยพาแม่สายบัวมาห้ามไว้ แต่เบี้ยวไม่ฟังและไม่เชื่อ แม่สายบัวจึงด่าว่า และสาปแช่งเบี้ยว สุดท้ายแล้วเบี้ยวใช้มีดแทงตัวเองตาย (เพราะสำนึกผิด)”
นายทิพย์ ธรรมมัง