จากประวัติและการเล่าสืบต่อกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่ ราว 500 ปี มาแล้วเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้านนาขามนั้น เดิมทีอาศัยอยู่ในประเทศลาว ซึ่งตอนนั้นเกิดศึกสงครามกับชาวฮ่อจึงแพ้ศึกสงครามและอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงมาประเทศไทยทางจังหวัดอุบลราชธานี และได้ก่อตั้งบ้านเรือนกันที่นั้น มีการหาที่ไร่ที่นามาเรื่องๆ พร้อมกับอพยพเรื่อยมาจนถึงจังหวัดยโสธร มาอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด มาโพธิแล่นช้าง จังหวัดกาฬสินธุ์ จนกระทั่งมาพบช้างหมู่ร้อย (ช้างร้อยเชือก) พากันหยุดพักหาที่ไร่ที่นา ทำสวนข้าวหลายปีต่อมาจึงอพยพมาเรื่อยๆ โดยอพยพมากับช้างจนถึงภูคำมะเกียง จังหวัดสกลนคร และมาถึงที่แห่งหนึ่งที่เรียกกันว่าต่องแต่ง มีการปลูกข้าวสวน ปลูกต้นขนุนอยู่หลายปี จึงได้อพยพต่อไปอีกจนกระทั่งมาถึงแก่งลีลา (ลำน้ำอูน)หยุดพักกันที่นี่หลายปี กินเผือก กินมัน เป็นอาหาร จึงเริ่มเดินทางต่อไปจนถึงวังทับ (ในปัจจุบันก็ยังอยู่) อยู่ที่นี่นานมาก มีการหาที่ไร่ที่นา หลังจากนั้นก็อพยพต่อไปอีกจนมาพบต้นมะขามขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบรูณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินจึงตกลงว่าจะตั้งรกรากกันที่นี่ (โรงเรียนบ้านาขามในปัจจุบัน) กลุ่มคนกลุ่มนี้จึงแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกตั้งบ้านเรือนที่นี่ เรียกว่าคนบ้านนาขาม อรกกลุ่มหนึ่งอพยพต่อไปอีกจนพบพื้นที่ที่อุดมสมบรูณ์ที่หนึ่งซึ่งมีต้นบากขนาดใหญ่อยู่ในกุด (หนองน้ำ) และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า กุดบาก ได้มีคำพูดต่อๆกันมาว่า กุดบากเป็นที่นาขาม คนกลุ่มแรกที่มาก่อตั้งหมู่บ้านนาขาม 1. นายเขียว+ นางโต้ สามีภรรยา ตั้งนามสกุลว่า “โถแก้วเขียว” 2. นายพล + นางทุม สามีภรรยา ตั้งนามสกุลว่า “โททุมพล” 3. นายหลวง + นายลี พี่น้อง ตั้งนามสกุลว่า “ถึงนามลี” ในปัจจุบันบ้านาขาม หมู่ที่ 9 ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพหลักคือการทำนา อาชีพรองคือการทำไร่ทำสวน และการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น มีนายเข็มเพชร โถแก้วเขียว เป็นผู้ใหญ่บ้าน และมีนายธนศักดิ์ โถตันคำ และนายเสน่ห์ โททุมพล เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านนาขาม และมีวัด ๑ แห่ง คือ วัดป่าถิรวาส ในหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านนาขาม หมู่ที่ 9 ในปัจจุบันมีอ่าชีพหลัก คือการทำนา แต่หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้านเพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมและเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ได้แก่กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านเกษตรกร กลุ่มไผ่ล้อมกอ กลุ่มสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น สำหรับผลผลิตที่เป็นเศรษฐกิจหลักของหมู่บ้าน คือ ข้าว ซึ่งแต่ละปีมีการผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมากส่วนอาชีพเสริมที่ชาวบ้านทำหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ การทำไร่ ทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การจักสาน และการทอผ้า เป็นต้น ด้านวัฒนธรรมประเพณี ปัจจุบันชาวบ้านาขาม หมู่ที่ 9 ยังคงรักษาและยึดมั่นวัฒนธรรมประเพณีเดิมไว้อยู่และปฏิบัติตามบรรพบุรุษเรื่อยมา ซึ่งในรอบหนึ่งปีในหมู่บ้านชาวบ้านจะมีการทำบุญหรืองานประเพณี เช่น ทำบุญขึ้นปีใหม่ บุญประทายข้าวเปลือก ประเพณีเลี้ยงผี ประเพณีสงกรานต์ งานบุญพระเวสสันดร บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก ประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีออกพรรษา