ประวัติความเป็นมา เกาะสะท้อนจัดตั้งเป็นตำบลประมาณปี พ.ศ.2498 เมื่อประมาณ 250 ปี ล่วงมาแล้ว ได้มีชาวไทยพุทธจากปัตตานีอพยพตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านปูยูในปัจจุบันนี้และในเวลาใกล้เคียงกันก็มีชาวมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่งจากปัตตานีอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแห่งเดียวกัน โดยมีชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่แล้ว ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้เติบโตขึ้น และกลุ่มชาวพุทธได้ขยับลงไปทางใต้บริเวณบ้านชุมบกและตั้งสร้างวัดเกาะสะท้อน จึงได้ตั้งชื่อว่าเป็นตำบลเกาะสะท้อน ตำบลเกาะสะท้อนเดิมขึ้นกับตำบลเจ๊ะเห ได้แยกเป็นตำบลใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ เกาะสะท้อนเป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ และหมู่บ้านนี้ในสมัยก่อน มีต้นกระท้อนอยู่เป็นจำนวนมาก กระท้อนในภาษาเจ๊ะเหเดิมเรียกว่า “ สะท้อน ” เมื่อจัดตั้งตำบลใหม่ขึ้นจึงเรียกตำบลนี้ว่า เกาะสะท้อน ตามภาษาที่คนถิ่นนี้เรียกต้นกระท้อน ตำบลเกาะสะท้อน หลังจากจัดตั้งเป็นตำบลแล้วมีกำนันปกครองดูแลดังนี้ ๑. นายแวหะมะ ดอรอเฮง เป็นกำนันคนแรก ๒. นายอู๊ด ไชยศรี ๓. นายมะยูโซ๊ะ ลีอาแด ๔. นายมามะ ซินดำมะหะมัด ๕. นายอามิ นิจะ กำนันคนปัจจุบัน ตำบลเกาะสะท้อน มี ๙ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ บ้านปูยู / หมู่ที่ ๒ บ้านเกาะสะท้อน , กลุ่มบ้านแยฆะ, กลุ่มบ้านเตาะเว๊าะ / หมู่ที่ ๓ บ้านศรีพะงัน( นัดจือนือรง ) , กลุ่มบ้านโคกหิน / หมู่ที่ ๔ บ้านตะเหลี่ยง / หมู่ที่ ๕ บ้านโคกกะเปาะ / หมู่ที่ ๖ บ้านสันติสุข / หมู่ที่ ๗ บ้านจาแบปะ / หมู่ที่ ๘ บ้านราญอ , กลุ่มบ้านยะรัง / หมู่ที่ ๙ บ้านชุมบก, กลุ่มบ้านกำปงสุเหร่า มีพื้นที่ทั้งหมด ๗,๑๓๑.๒๕ ไร่ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์และรับจ้างทั่วไป