วัดหลวงราชสัณฐาน ตั้งอยู่เลขที่ ๙๔๕/๔ ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เดิมวัดนี้เรียกว่า วัดหลวง เพราะวัดนี้ในเมืองเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งอาจจะเป็นรองจากวัดป่าแดงบุญนาค เพราะได้มีการบันทึกว่า วัดนี้เป็นวัดที่คนหลวงสร้างขึ้นเพื่อบัญชาการในการสร้างเมืองพะเยาในอดีต เป็นที่ว่าการด้วย ดังนั้นชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวง วัดนี้ถือได้ว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร
พระวิหารเป็นสีขาว ตัดกับหลังคาสีเหลืองขนุนด้านหน้าพระวิหารเป็นบันไดนาคสองตัวซ้ายขวาสีขาวสง่างาม เข้าไปข้างในจะเห็นพระพุทธรูปสำริดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง เดิมทีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แต่ได้ล้มแตกหักเสียหายเมื่อพายะพัดหลังคาวิหารเสียหายพระพุทธรูปก็ล้มแตกหักเสียหาย ชาวบ้านและท่านเจ้าอาวาสก็ได้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริดเป็นพระประธานที่สวยงามมากองค์หนึ่ง ที่สำคัญทางวัดและกรมศิลปกรยังได้มีการรักษาจิตรกรรมฝาผนังเอาไว้ติดไว้ผนังพระอุโบสถไว้อย่างเดิม ซึ่งเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และวิถีชีวิตของคนล้านนา ด้วยเป็นภาพสีโบราณที่นิยมใช้กันไม่กี่สี ซึ่งสิ่งนี้มีคุณค่าทางด้านงานศิลปะ
ด้านหลังพระอุโบสถก็จะเป็นองค์เจดีย์ องค์เจดีย์องค์ที่เห็นปัจจุบันได้มีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้ว เพราะองค์เก่าหักพังลงจะเป็นองค์เจดีย์ศิลปะล้านนา ที่มีตัวเรือนธาตุเป็นสี่เหลี่ยมไม่มีซุ้มจรนำ ส่วนบนจะเป็นองค์ระฆังศิลปะสุโขทัยหรือลังกา
ประตูทางเข้าเป็นซุ้มประตูไม้สามช่องใช้แป้นเก็จ เป็นหลังคา และแกะสลักลายไม้ประดับซุ้มประตูทรงล้านนา ส่วนอุโบสถประดับกระจกและลวดลายปูนปั้นสวยงาม
วัดหลวงราชสัณฐาน วัดเก่าสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเจ้าหลวงวงศ์ร่วมกับชาวบ้านได้บูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวง เนื่องจากเป็นวัดที่เจ้าหลวงวงศ์ซึ่งครองเมืองพะเยาเป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์นั่นเอง ต่อมาได้มีประชาชนมาประกอบพิธีทางศาสนาและได้ชื่อว่าวัดหลวงราชสัณฐาน
วิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนาที่สวยงามแห่งหนึ่งมีอายุกว่าร้อยปี ด้านทิศตะวันออกที่เสาประตูทั้งสองข้าง มีรูปปั้นสิงห์เฝ้าประตูข้างละตัว เดินเหยียบย่างตรงขึ้นบันไดนาค ทางเข้าสู่ประตูวิหารมีสิงห์ปั้นด้วยปูนที่ข้างประตูอีกด้านละตัว
ภายในวิหารเป็นโถงใหญ่ ภายในเป็นที่ตั้งพระประธานและพระพุทธรูปอีก ๔ องค์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ภายในเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ เขียนลงบนกระดาษสา ผ้าแปะอยู่บนผนังไม้เป็นเรื่องมหาชาติชาดกและพุทธประวัติในปี ๒๕๒๗ เกิดพายุฝนทำให้วิหารพังทลายลงมาทั้งหมด
ต่อมาเมื่อสร้างวิหารหลังใหม่บนฐานเดิมและคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ทางวัดได้นำภาพจิตรกรรมของเดิมมาติดตั้ง ประกอบเข้ากับวิหารหลังใหม่ เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวน่าแวะไปชมอย่างยิ่ง
พระเจดีย์ เป็นทรงพื้นเมืองล้านนา ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยมสามชั้น ต่อด้วยบัวหงาย มีเรือนธาตุถัดขึ้นไป เป็นบัวคว่ำบัวหงาย ต่อด้วยฐานเขียงรูปทรงกลมสามชั้น ต่อด้วยมาลัยเถา รูปทรงกลม ถัดขึ้นเป็นคอระฆังกลม องค์ระฆังรูป ๘ เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ๘ เหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นปูนปั้นรูปกลีบบัว ๒ ชั้นและปลียอด
ภาพวาดลายเส้น....อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
ข้อมูล...สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา