รูปสะพานในจิตรกรรมภาพทิวทัศน์ The significant of The Bridge in Landscape Painting แนวคิด ภาพจิตรกรรมทิวทัศน์รูปสะพานพบในผลงานจิตรกรรมของศิลปินระดับโลกมาหลายยุคหลายสมัย ต่างแสดงนัยยะสำคัญที่แตกต่างกันไป ทั้งในเชิงสุนทรียภาพ และความหมาย ผลงานจิตรกรรมชุดจิตรกรรมภาพทิวทัศน์รูปสะพานชุดนี้ข้าพเจ้าต้องการเสนอเนื้อหาที่มีความหมายเชิงการเชื่อมโยงที่สัมพันธ์กับบริบทใหม่ในสังคมปัจจุบันที่เปิดกว้างแทนสังคมปิดอย่างในอดีต รูปสะพานเปรียบเสมือนสิ่งสื่อแทนแห่งการเชื่อมโยงจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง สะพานเปรียบเสมือนสิ่งทำลายกำแพงแห่งการปิดกั้น และนำไปสู่สังคมเปิด สังคมอุดมปัญญา สังคมแห่งการแลกเปลี่ยน การประสานเชิงเครือข่าย เช่นเดียวกับในโลกอินเตอร์เน็ตปัจจุบันที่มีระบบเชื่อมโยง(to link) ทำให้โลกแห่งการสื่อสารทำได้อย่างกว้างขวาง ส่วนในเชิงสุนทรียภาพ สะพานทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบหลักสำคัญของภาพ เช่น การเชื่อมโยงระหว่างซ้ายกับขวา ระหว่างหน้ากับหลัง หรือแม้แต่องค์ประกอบส่วนบนและล่างเป็นต้น ข้าพเจ้าเลือกนำเสนอรูปสะพานในภาพทิวทัศน์ชุดนี้เพื่อให้ค่าของสุนทรียภาพที่สัมพันธ์รูปลักษณ์และความหมายในเวลาเดียวกัน เป้าหมายของการสร้างสรรค์ 1. เพื่อสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมภาพทิวทัศน์รูปสะพานเทคนิคสีอะครีลิก จำนวน 3 ภาพ 2. เพื่อแสดงนัยยะสำคัญเชิงความงามและความหมายในภาพทิวทัศน์รูปสะพาน 3. เพื่อเสนอวาทกรรมใหม่ ๆ ให้กับวงการทัศนศิลป์ร่วมสมัย ขอบเขตของการสร้างสรรค์ 1. เป็นการสร้างสรรค์จิตรกรรมภาพทิวทัศน์แนวประทับใจ(Impressionism) ที่มีองค์ประกอบรูปสะพานเป็นหลัก 2. เลือกภาพทิวทัศน์ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทรฯ จังหวัดปัตตานีเป็นต้นแบบของการศึกษารูปสะพาน ศึกษาโดยวิธีศึกษาจากภาพสถานที่จริง ทำภาพร่าง ถ่ายภาพ ฯลฯ 3. สร้างสรรค์เป็นงานจิตรกรรมเทคนิคสีอะครีลิกบนผ้าใบ ขนาด 50x70ซม.จำนวน 3 ภาพ ขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานและการสร้างสรรค์ 1. เดินทางไปศึกษาข้อมูลจากสถานที่จริงคือสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จังหวัดปัตตานีเพื่อดูลักษณะของสะพานในมุมมองต่าง ๆ ตลอดจนทิวทัศน์ต้นไม้ คูคลองรอบข้าง 2. ถ่ายภาพ และทำภาพร่างเทคนิควาดเส้นดินสอ ปากกา และสีน้ำ ในสถานที่จริง 3. ประมวลภาพจากการศึกษาทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกภาพในมุมมองที่แสดงนัยยะสำคัญทั้งความงามและความหมาย 4. จัดเตรียมวัสดุในการสร้างสรรค์ สี พู่กัน ผ้าใบ ฯลฯ 5. ร่างภาพลงผ้าใบ ดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมจนเสร็จสมบูรณ์ 6. รวบรวมบันทึกผลการสร้างสรรค์และปัญหาที่เกิดขึ้น 7. จัดทำเอกสารรายงานผลการสร้างสรรค์ 8. นำเสนอผลการสร้างสรรค์และเผยแพร่ในรูปแบบของนิทรรศการและการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการสร้างสรรค์ลงในสูจิบัตรแสดงงานศิลปะ ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. ได้ผลงานสร้างสรรค์เทคนิคจิตรกรรมสีอะครีลิก ภาพทิวทัศน์เกี่ยวกับสะพานจำนวน 3 ภาพ 2. ได้ผลงานทัศนศิลป์(จิตรกรรม)ที่เป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์ที่สัมพันธ์ในเชิงความงามและความหมายของภาพทิวทัศน์รูปสะพาน 3. เป็นแนวทางให้นักศึกษาได้ศึกษากระบวนการสร้างสรรค์ตั้งแต่ต้นจนเสร็จสมบูรณ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมแนวเดียวกัน 4. เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปะให้กับสารธารณชน เยาวชน เพื่อจรรโลงจิตใจและสติปัญญา เป็นการแก้ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกทางหนึ่ง 5. ได้ผลงานจิตรกรรมเพื่อประดับอาคารสถานที่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา