พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บ้านแก่งเสือเต้น ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2541 โดยกรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้มอบให้กรมชลประทานเป็นผู้ดูแล จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง เป็นการจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งได้ี่ขุดพบหลักฐานที่สำคัญเป็นประโยชน์ในด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งการดำรงชีวิต สภาพแวดล้อม ความเป็นไปต่างๆ ตลอดจนความรุ่งเรืองของชุมชนในบริเวณนี้ ยังได้รวบรวมข้อมูลด้านการชลประทาน ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนป่าสัก ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก
ความเป็นมา
พิพิธภัณฑ์ ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นส่วนหนึ่งในโครงการแก้ไขและพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานแก้ไขและพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยกรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสิ่งแวดล้อมด้านวัฒนธรรม ซึ่งได้ตั้ง "คณะปฏิบัติการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านโบราณคดี" ขึ้นมาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา โดยมีภาระกิจสำคัญ 3 ด้าน คือ
1. ปฏิบัติการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านโบราณคดี
2. ศึกษาด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น
3. ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก
พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสักก่อตั้งขึ้นจากงบ ประมาณที่กันออกมาจากงบประมาณการ สร้างเขื่อนป่าสักของกรมชลประทาน เป็นจำนวนเงินราว 30 ล้านบาท ภายใต้การดูแลจัดการของกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง ที่แสดงเนื้อหาความรู้ด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แสดงเรื่อง "การชลประทานในประเทศไทย" เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้สร้างคุณูปการด้านการชลประทานในประเทศไทยและพระราชดำริ เกี่ยวกับการพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาการการชลประทานของโลกและ ของประเทศไทย
ส่วนที่ 2 จัดแสดงเรื่อง "ย้อนรอยอารยธรรม" เริ่มจากการย้อนอดีตไปรู้จักกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอันมีหลักฐาน ว่าเป็นผู้ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักในอดีต จนมีพัฒนาการสืบเนื่องมาในสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ
ส่วนที่ 3 จัดแสดงเรื่อง "วัฒนธรรมท้องถิ่น" เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่กักเก็บ น้ำแม่น้ำป่าสัก คือชาวไทยเบิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โ ดยได้ตั้งหลักแหล่งกระจายกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานของประเทศไทย เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ และบางส่วนได้อพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานในพื้นที่ตำบลโคกสลุง และตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
ส่วนที่ 4 จัดแสดงเรื่อง "ภูมิศาสตร์" ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แหล่งน้ำลำธารที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำป่าสัก และพื้นที่ที่แม่น้ำป่าสักได้ไหลมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ต่างๆ จนมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต โดยแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมที่สุดในการคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนกัก เก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ที่บ้านแก่งเสือเต้น ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
ส่วนที่ 5 จัดแสดงเรื่อง "ทรัพยากรธรรมชาติ" อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ครั้งอดีต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์เลือกพื้นที่แห่งนี้สำหรับการตั้งถิ่นฐาน และมีหลักฐานการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมายาวนพิ
ส่วนที่ 6 พื้นที่ส่วนสุดท้ายจัดแสดงเรื่อง "ป่าสักวันนี้" ลักษณะการจัดแสดงเป็นห้องประชุม ที่นำข้อมูลเนื้อหาสาระต่างๆที่ได้รับชมมาแล้วทั้งหมด สรุปนำเสนอด้วยเทคนิค "สไลด์มัลติวิชั่น" เพื่อให้ผู้ชมได้ทบทวนเรื่องที่ท่านได้ชมมาแล้วทั้งหมด
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความรู้แล้วยังได้ชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ซึ่งเป็น "เขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย" พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสักเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนขัตฤกษ์ ไม่เก็บค่าเข้าชม
การเดินทางจาก จังหวัดสระบุรีใช้เส้นทางสายพหลโยธินเมื่อถึงตำบลพุแคเปลี่ยนเส้นทางมาสายพุ แค-ลำนารายณ์ ถึงสี่แยกพัฒนานิคมซอย 12 ให้เลี้ยวขวามาตามทางหลวงหมายเลข 3017 และการเดินทางจากจังหวัดลพบุรีเริ่มที่วงเวียนสมเด็จพระนารายณ์ใช้เส้น ทางพหลโยธินประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 3017 ผ่านบ้านโคกตูม และอำเภอพัฒนานิคมเข้าสู่เขื่อนป่าสักฯ ระยะทางรวมประมาณ 57 กิโลเมตร
รถไฟจากกรุงเทพฯ โดยสารรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ และขบวนที่จอดสถานีย่อยเขื่อนป่าสักฯ (เช่นขบวนกรุงเทพ-หนองคาย) ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการมีรถไฟขบวนพิเศษ ไป-กลับกรุงเทพฯ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
รถประจำทางขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งลพบุรี สายลพบุรี-หนองม่วง ระยะทางประมาณ 47 กิโลเมตร ผ่านทางเข้าเขื่อนป่าสักฯ และต้องเดินหรือโดยสารรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปถึงพิพิธภัณฑ์ ลุ่มน้ำป่าสัก