ประเพณีบุญเบิกฟ้าเป็นประเพณีพื้นบ้านที่สืบทอดมาจากความเชื่อเกี่ยวกับการทำนายฝนฟ้าของชาวอีสาน ดังมีหลักฐานบันทึกเป็นตำราไว้ในหนังสือก้อมหรือใบลานชื่อเรื่อง “ฟ้าไขประตูน้ำฝน”ความว่าในเดือนสามขึ้นสามค่ำคนแก่ในหมู่บ้านจะฟังเสียงฟ้าร้อง ถ้าฟ้าร้องทางทิศไหนก็จะมีคำทำนายเกณฑ์น้ำฝนและความเป็นอยู่ของคนในปีนั้น ในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3
กล่าวกันว่า ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะเกิดนิมิตอัศจรรย์หลายประการโดยเฉพาะเสียงฟ้าที่เกษตรกรต้องใจจดใจจ่อเงี่ยหูฟัง เพื่อตรวจสอบดูว่าฟ้าเริ่มร้องจากทิศใดในแปดทิศ เรียกกันว่า “ฟ้าไขประตูน้ำฝน” มีจารึกพยากรณ์ในหนังสือใบลาน (หนังสือก้อม) อย่างครบถ้วนเป็นต้นว่า
ถ้าปีใดฟ้าร้องเบื้องบูรพาซึ่งมีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศเทวดาจะไขประตูเหล็กเปิดน้ำฝน ทำให้ฝนตกมากในช่วงต้นปี แต่ในปลายปีน้ำฝนจะมีปริมาณน้อย
หากเกิดฟ้าร้องทางทิศทักษิณหรือทิศที่มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ ทำนายว่าฟ้าเปิดประตูทอง ฝนดีน้ำมาก ข้าวกล้าในนาจะเสียสองส่วน ได้สามส่วน นาลุ่มจะเสียหายมากเนื่องจากน้ำท่วม ส่วนนาดอนจะได้ผลดี
แต่ถ้าฟ้าร้องเบื้องทิศปัจจิม (ปัจฉิม)หรือทิศที่มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ ฟ้าจะไขประตูแก้ว ในปีนั้นปริมาณน้ำฝนจะน้อยมากถึงกับแห้งแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหายแห้งตายเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นปีที่ชาวนาต้องสะดุ้งผวากันตลอดเวลา
หากได้ยินเสียงฟ้าร้องด้านทิศหรดีหรือทิศที่มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ พบว่า เทวดาจะไขประตูไฟมีความเชื่อตามคำทำนายว่า ในปีนั้นฝนจะดีเพียบพร้อมบริบูรณ์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้ผลสมบูรณ์ตลอดทั้งสัตว์น้ำก็มีให้บริโภคอย่าเหลือเฟือ
อนึ่งถ้าฟ้าร้องทางทิศพายัพหรือทิศที่มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ ปีนั้นฟ้าไขประตูหินทำให้ฝนตกปานกลาง ข้าวกล้าในนาได้ประโยชน์ก้ำกึ่งกัน
หากปีใดเกิดนิมิตฟ้าร้องเบื้องทิศอุดรซึ่งมีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศแล้ว กำหนดหมายว่าฟ้าไขประตูเงิน ซึ่งจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และค่อนข้างจะชุก อันจะมีผลให้การเพาะปลูกข้าวได้ผลผลิตสมบูรณ์ดีมาก ซึ่งก็ย่อมจะทำให้ผู้คนหน้าตาชื่นบานอิ่มสุข
หากฟ้าร้องมาจากทิศเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือฝนจะดีข้าวกล้าในนาจะได้ผลแต่ถ้าหากเสียงฟ้าร้องดังมาจากทางทิศใต้และทิศตะวันตก ฝนจะแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหาย
นอกจากนี้ยังมีคำทำนายเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ส่ำสัตว์ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นว่าถ้าฟ้าร้องดังมาจากทิศตะวันออก ชาวบ้านจะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือมีโจรผู้ร้ายมาเบียดเบียน สัตว์เลี้ยงก็พลอยสุขสำราญไปด้วยเหล่านี้เป็นต้น แต่ถ้าหากเสียงฟ้าดังมาจากทิศตะวันตก จะเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว มีการทะเลาะกันอยู่ไม่เว้นวาย
พิธีกรรม“บุญเบิกฟ้า”มีความเกี่ยวโยงสอดคล้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอาจนับว่าเป็นภูมิปัญญาอันสูงสุดแม้เรื่องราวหรือตำนานที่นำเสนอในลักษณะต่าง ๆ ก็ดูกลมกลืน
คนอีสานสมัยก่อนเชื่อว่าเป็นวันที่ชาวโลกมีความอิ่มและมีความสมบูรณ์ถึงที่สุด จากความเชื่อในวันดังกล่าวชาวบ้านจึงถือเป็นฤกษ์สำคัญกระทำพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น สู่ขวัญข้าวบนยุ้งฉางหรือหาบฝุ่นใส่นา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวนาที่เตรียมเพาะปลูก จังหวัดมหาสารคามจึงได้ริเริ่มพื้นฟูประเพณีบุญเบิกฟ้าขึ้น โดยจัดงานบุญเบิกฟ้าขึ้นเป็นงานประจำครั้งแรกในปี พ.ศ.2532บริเวณศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม ปัจจุบันการจัดงานบุญเบิกฟ้านอกจากเป็นการสืบทอดประเพณีพื้นบ้านแล้วยังเป็นงานประจำปีของจังหวัดมหาสารคามด้วย จึงใช้ชื่องานนี้ว่า งานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดประจำปีจังหวัดมหาสารคาม