เป็นงานทำใบตองประเภทบายศรี แต่ที่ได้เผยแพร่จะเป็นงานการจัดทำบายศรีแต่งงาน บายศรีงานบวช บายศรีพิธีทางศาสนา
บายศรี บาย แปลว่า ข้าว ศรี แปลว่า มิ่งขวัญ รวมเรียกว่า ข้าวขวัญ ใช้ในพิธีสมโภชน์ สังเวยเทวดา ไหว้ครู บวชนาค รับแขกบ้านแขกเมือง รับขวัญทหาร รับขวัญคนป่วยหรือคนที่จะจากกันไป หรือรับขวัญผู้มาอยู่ใหม่อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าบายศรี คือภาชนะใส่อาหารนั่นเอง นับว่าเป็นภาชนะที่สะอาดที่บริสุทธิ์ ด้วยเหตุที่ว่าไม่การใช้ต่อจากกัน พอใช้เสร็จแล้วจะนำไปทิ้งเลยทีเดียว จากหนังสือการศึกษาศิลปะและประเพณีของเสฐียรโกเศศ ได้กล่าวไว้ว่า บายศรีสมมติเป็นขาไกรลาส ไม้ไผ่ ๓๐ อันขนาบข้างเป็นบันไดขึ้น พุ่มดอกไม้ยอดบายศรีสมมติเป็นวิมานพระอิศวร ตัวแมงดา ๓ ตัวก็เหมือนเต่า ๓ ตัว ที่จมอยู่ในก้นมหาสมุทรอันลึก คือ อวิชา ขนมที่อยู่ในบายศรีรับประทานแล้วเกิดรสอร่อย คือ รสแห่งพระรัตนตรัย
ภาคเหนือ ใช้รับขวัญคนป่วย รับแขกบ้านแขกเมือง สมโภชน์ ใช้ในพิธีบวชนาค พิธีแต่งงาน ประเพณีทางเหนือนิยมที่จะมีการสู่ขวัญโดยใช้สายสิญจน์วนรอบบายศรีมีหมอขวัญทำพิธีสู่ขวัญแล้วเชิญผู้ใหญ่มาผูกข้อมือบ่าวสาวด้วยสายสิญจน์ ญาติผู้ใหญ่ก็มาร่วมให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว พร้อมทั้งให้แก้ว แหวน เงินทอง เป็นเครื่องรับไหว้ บายศรีทางเหนือถ้าใช้ในพิธีแต่งงานมักจะทำตัวบายศรี ๖ ตัวในพานนั้น ส่วนตัวรองไม่จำกัดจำนวนส่วนใหญ่จะใช้เลขคู่ ใช้ภาชนะเป็นพานใหญ่ ๆ หรือเป็นพานแว่นฟ้าก็ได้ ข้างในใส่กระทงขนม ข้าว ผลไม้ เมี่ยง บายศรี ๖ ตัวนี้กะให้ได้ระยะห่างพอ ๆ กัน แล้วแต่งดอกไม้ระหว่างองค์บายศรี
การทำบายศรี นิยมทำเป็นจำนวนคี่ คือ ๑,๓,๕,๗,๙ บายศรีบวงสรวงเทวดาใช้ถึง ๑๖ ชั้น เป็นกรณีพิเศษที่ใช้จำนวนคู่ การใช้บายศรีกับการรับขวัญ เชิญขวัญหรือสู่ขวัญกับคนธรรมดามักทำ ๓ หรือ ๕ ชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และแขกบ้านแขกเมือง ๗ ชั้น สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใช้บายศรี ๙ ชั้น *บายศรีเมื่อใช้ประกอบพิธีแล้วประมาณ ๗ วัน มักจะนำไปจำเริญหรือ บางท่านอาจปล่อยให้แห้ง ให้คงสภาพเช่นนั้นตลอดไปจนกว่าจะเปลี่ยนใหม่
อุปกรณ์ประกอบพิธีกรรม/แหล่งที่มาของวัสดุที่ใช้
๑. ขันมีพานรองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙-๑๕ นิ้ว จะเป็นขันลงหิน ขันเงิน หรือ ขันทองก็ได้ หรือจะใช้พานขันโตกทองเหลืองก็ได้
๒. ใบตองตานี ประมาณ ๓ ก.ก. หรือ ๑๕ ทางงาม
๓. ไม้กลัดยาว ๓ นิ้ว ๒๗ อัน ร้อยดอกไม้ปักยอดตัวรองไม้กลัดยาว ๔ นิ้ว ๓ อัน ร้อยดอกไม้ปักยอดตัวบายศรีไม้กลัดยาว ๑ นิ้ว ๑๕ อัน
๔. ดอกรัก ทั้งดอกใหญ่ ดอกเล็ก ประมาณ ๑๕๐ ดอก
๕. ดอกบานไม่รู้โรยสีชมพู ประมาณ ๓๐ ดอก
๖. ไม้ขัดบายศรีให้นั่ง ๓ อัน ยาวอันละ ๓ นิ้ว ใหญ่กว่าไม้กลัด
๗. ด้ายสีเขียว เบอร์ ๖๐
๘. เข็มมือ เบอร์ ๙
๙. กล้วยน้ำไท
๑๐. ข้าวต้มผัด
๑๑. ไข่ต้ม
๑๒. หมากพลู ยาเส้น
๑๓. ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบแก้ว ใบมะยม
๑๔. มีด กรรไกร ผ้าเช็ดใบตอง
๑๕. ด้วยผูกข้อมือ
๑๖. ข้าวสุก
ขั้นตอนวิธีการทำบายศรี ดั้งนี้
๑. ม้วนตัวยอดให้เห็นริมใบตองเป็นลายเกลียว
๒. พับผ้านุ่งชายธง
๓. นุ่งผ้าเข้าสะโพกตัวยอด ๒ ผืน ต่ำจากยอดประมาณ ๕ นิ้ว
๔. ม้วนตัวรอง
๕. วางตัวรองลงด้านหน้าตัวยอดต่ำจากยอดประมาณ ๒ นิ้ว แล้วนุ่งผ้าเข้าสะโพก ๒ ผืนให้เรียงลำดับ ซ้ายขวาเหมือนชั้นที่ ๑
๖. ใส่ตัวรองและนุ่งผ้า จนได้ครบ ๙ ชั้น
๗. ม้วนตัวหางแมงดาทำเช่นเดียวกับตัวรองแล้วพับกลีบแหลมกลางลำตัวด้านหลัง ๒ ใต้ท้อง ๒
๘. พับกลีบแหลม ครีบแมงดาพับเช่นเดียวกับผ้านุ่งชายธงนุ่งเข้าสะโพก ซ้ายขวา ซ้ายขวา ข้างละ ๒ ผืน แล้วจึงใส่กลีบกลางลำตัวด้านหลังอีก ๒ หน้า ๒ นุ่งผ้าข้างละ ๒ ผืน แล้วใส่กลีบกลางลำตัวอีก ๑ นุ่งผ้าอีกข้างละ ๒ ผืน ทำเช่นนี้จนได้ขนาดพอเหมาะแล้วใส่กลีบกลางลำตัวที่ใหญ่ขึ้นนุ่งผ้าต่าง ๆ ทิ้งช่วงลำตัวตรึงด้ายสีเขียวเจียนชายใบตองส่วนหัวแมงดาให้เรียบร้อย
๙. เสร็จแล้วตกแต่งด้วยดอกไม้ทำเป็นตาแมงดาและแต่งตามครีบอีกก็ได้ (ด้านท้องแมงดาไม่มีตา)
อ้างอิง
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน.ผลการสัมมนาระดมความคิดเรื่องการส่งเสริมศิลปะการจัดดอกไม้:
*******กรุงเทพฯ;โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๓๗ "หน้า ๕๙-๖๖" บายศรี เรียบเรียงโดย โสภาพรรณ ตันตยาคม.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน.ผลการสัมมนาระดมความคิดเรื่องการส่งเสริมศิลปะการจัดดอกไม้:
*******กรุงเทพฯ;โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๓๗ "หน้า ๙๓-๙๗" บายศรีอีสาน เรียบเรียงโดย มณีรัตน์ จันทนะผะลิน.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. วารสารวัฒนธรรมไทย: ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนเมษายน - พฤษภาคม
*******๒๕๔๓ "หน้า ๑๑-๑๓" บายศรี เรียบเรียงโดย เมทินี สุวรรณชีพ .
มณีรัตน์ จันทนะผะลิน. งานใบตอง.กรุงเทพฯ; บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, ๒๕๓๑.