ลักษณะและความเชื่อ
ตาปู่คือผีคุ้มครองหมู่บ้าน ส่วนใหญ่รู้จักกันในนามตาคงขวัญม้า ชาวบ้านเรียกตาปู่ ตาปู่เจ้าบ้าน หรือชาวอีสานเรียกปู่่ตา ที่สิงสถิตของตาปู่คือศาล เรียกว่าศาลตาปู่ มักตั้งอยู่ที่ดอน ที่เนินซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีต้นไม้ใหญ่ ลักษณะของศาล เป็นศาลสี่เสา หลังคาจั่ว กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร ภายในศาลมีรูปปั้น ช้าง ม้า ตุ๊กตาคน ชายหญิง
ความสำคัญ
พิธีเลี้ยงตาปู่ มีความสำคัญเพราะชาวบ้านเชื่อว่า ตาปู่เป็นผู้คุ้มครองภยันตรายทุกด้านแก่ลูกหลานชาวบ้าน ชาวบ้านจะเคารพตาปู่อย่างจริงใจ เด็ก ๆ จะไม่ไปวิ่งเล่นใกล้ศาลตาปู่ เพราะเกรงว่าตาปู่จะรำคาญ แล้วบันดาลให้เจ็บไข้ได้ เมื่อเดินทางออกจากหมู่บ้านถ้าผ่านศาลตาปู่ทุกคนจะยกมือไหว้ แล้วอธิษฐานบอกกล่าวดัง ๆ ว่า " ตาปู่เอย ป๊กปั๊ก รั่กษา คุ่มครองลูกหลานเด้อ (ตาปู่เอย ปกปักรักษา คุ้มครองลูกหลานนะ)
พิธีกรรม
ในช่วงเดือนหกของทุกปี หลังประเพณีสงกรานต์ไปแล้ว จะมีพิธีการเลี้ยงศาลปู่ตาหรือศาลตาปู่ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะมีการเซ่นไหว้แบบง่าย ๆ คือ เหล้าขาว หัวหมู ไก่ต้ม หมากพลู บุหรี่ ช้างปั้น ทาสีทาสา ๑ คู่ และบายศรีปากชาม เมื่อทุกคนมาพร้อมกันที่ศาลปู่ตาแล้ว จะมีผู้กระทำพิธีสืบต่อกันเป็นชั่วคนเรียกว่า ตาจั้ม จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ ผู้ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นตาจั้มจะเป็นผู้นำกล่าวคำติดต่อกับปู่ตาที่ดูแลหมู่บ้าน