ความเป็นมาของหนังตะลุงอีสานใต้ แต่สมัยก่อนในภาคอีสานของเรา เวลามีงานบุญ งานบวชนาค หรืองานกุศล งานฉลอง หรือที่เรียกันติดปากแต่ก่อนนั้น คือ บุญใหญ่ ไม่มีมหรสพสมโภช เช่นทุกวันนี้ จะมีก็ลิเกลาว หรือลิเกไทย จะว่าจ้างแต่ละครั้งก็ลำบากแสนสาหัส เพราะเราต้องเดินทางไปว่าจ้าง เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเช่นทุกวันนี้ เพราะใกล้ที่สุด คือ อยู่เขตโคราช และสิ่งสมโภชและสะดวกที่สุดที่จะสมโภชในงานต่างๆ ก็คือ หนังตะลุง หรือหนังประโมทัย และหนังตะลุง อยู่ที่บ้านปลาปึ่ง ตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี (สมัยก่อน) ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร คือ มหรสพสมโภชที่อยู่ใกล้ บ้านผึ้งมากที่สุด และศิลปินคนแรกของบ้านผึ้ง ตำบลหนองแค ที่คิดจะนำศิลปะชิ้นนี้ทำการแสดงในบ้านผึ้ง ก็คือนายเลื่อน สังวรณ์เป็นคนต้นแบบและเป็นนายช่างที่คิดตัดภาพหนังตะลุงให้เป็นศิลปะของบ้านผึ้ง
นายเลื่อน กับเพื่อนได้ไปหาแม่แบบและฝึกซ้อมหนังตะลุง ที่บ้านยางปลาปึ่ง กับ อาจารย์หนู บ้านยางปลาปึ่ง ตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร พร้อมกับได้ตำราการแสดงอีกด้วย
หลังจากได้ตัวหนังตะลุงและกลอนหนังตะลุง ก็ได้ร่วมกันแสดงได้ระยะหนึ่ง แต่ละคนที่อยู่ต่างถิ่น ก็แยกย้ายกันไปทำมาหากิน ทำให้หนังตะลุงเลิกร้างไป
หลายปีต่อมาที่บ้านเพียมาต อาจารย์ผง ได้รวบรวมนักแสดงใหม่ขึ้นมาอีก ประกอบด้วย อาจารย์เที่ยง อาจารย์หนู นายโฮม และนายสิงห์ ได้ทำภาพหนังตะลุง ใหม่ เพราะว่าภาพเก่าสีตก
นายสิงห์ ได้มาแต่งงานอยู่ที่บ้านผึ้ง และนำหนังตะลุง มาฝึกให้กับบุคคลที่สนใจ และมีความสามารถในการแสดง ได้ตั้งชื่อคณะ ส.ร่วมมิตร มีนายสุริยงค์ นรสาร ได้นำเทคนิคและระบบแสง สี เสียง ดนตรี หมอลำ เข้ามาประกอบการแสดง เรียกว่า หนังตะลุงซิ่ง ระยะนั้นมีความรุ่งโรจน์มาก โดยได้รับการติดต่อจากรายการโทรทัศน์ หลายรายการมาถ่ายทำสารคดี เช่น รายการตามไปดู ชีวิตต้องสู้ สู่โลกกว้าง รอยไทย ในปี พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๓
ชื่อคณะหนังตะลุงได้เปลี่ยน เป็นหนังบักตื้อเพื่อที่จะให้คนพบเห็นหรือฟังแล้วเข้าใจง่าย เพราะเป็นภาษาอีสาน ส่วนมากแล้วจะเรียกกันว่าบัก... ขึ้นหน้า ถ้าใช้คำว่าหนังตะลุง ส่วนใหญ่จะนึกถึงภาคใต้ ความแตกต่างของหนังบักตื้อ กับหนังตะลุง ภาคใต้ คือ ตัวหนัง จะใหญ่และสูงมากกว่า ๑ เมตร เพราะหนังตะลุง ภาคใต้ ตัวเล็ก
นายเฉลิมชัย เขียวอ่อนได้ฟื้นฟูมรดก หนังบักตื้อ อีกครั้ง โดยลงทุน ตัดตัวหนังใหม่ ตัวหนังสูงประมาณ ๑ เมตร เวทีการแสดงยาว ๘ เมตร การแสดงตัวพระ ตัวนาง เน้นการขับเสภา ทำนองอีสาน ตัวตลกแทรก ศิลปะหมอลำของท้องถิ่นสลับกัน โดยตั้งชื่อคณะใหม่ว่า “หนังบักตื้อเฉลิมศิลป์ ศิลปินเชิงอนุรักษ์” นักแสดงกลุ่มนี้ต้องการที่จะถ่ายทอด ศิลปะการแสดงให้แก่ลูกหลานเยาวชน ชาวบ้านผึ้งให้สืบทอดต่อไป
ติดต่อ คณะหนังบักตื้อ เฉลิมศิลป์ ได้ที่ บ้านผึ้ง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล
จังหวัดศรีสะเกษ