เจดีย์วัดมุงเมือง
วัดมุงเมืองเป็นวัดที่ไม่มีประวัติการก่อสร้าง ตั้งอยู่ติดกับวัดพระบวช จึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจจะเป็นวัดเดียวกัน เพียงแต่มีถนนพหลโยธินตัดผ่านกลางแยกวัดออกเป็น2 ส่วน ซึ่งมีเหตุผลตรงที่ว่าในส่วนของวัดพระบวชนั้นมีเฉพาะเจดีย์ประธานกับวิหารที่อยู่ด้านหน้า ส่วนวัดมุงเมืองนั้นมีเจดีย์ วิหารด้านหน้า และมีพระอุโบสถอยู่ด้านข้างวิหาร ถ้าเป็นวัดเดียวกันก็น่าจะมีประวัติการก่อสร้างที่สัมพันธ์กับวัดพระบวชด้วยตามประวัติหรือข้อสันนิษฐานการก่อสร้าง
รูปแบบของเจดีย์วัดมุงเมือง
ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกสูงซ้อนกัน3 ฐาน รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงายที่ยังไม่ยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น ซึ่งเป็นลักษณะของฐานบัวรองรับเจดีย์ทรงปราสาทยอดโดยทั่วไป เพียงแต่ที่วัดมุงเมืองอยู่ในผังยกเก็จแล้ว ซึ่งต่างจากพระธาตุสองพี่น้องและวัดป่าสัก
ส่วนเรือนธาตุเรือนธาตุประกอบด้วย ห้องสี่เหลี่ยมที่อยู่ในผังยกเก็จ ส่วนล่างเป็นฐานบัวคว่ำ ส่วนบนเป็นบัวหงาย ซึ่งที่ผนังมีการประดับบัวคว่ำและบัวหงายเส้นเล็ก ๆ ส่วนล่างและบนและประดับลูกแก้วอกไก่แทรกระหว่างฐานบัว ซึ่งส่วนนี้มีลักษณะเดียวกับฐานบัว2 ฐานซ้อนกันของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา (ถ้าไม่มีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป) ที่ผนังมีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ลักษณะของซุ้ม มีซุ้ม 2 ชั้นที่มีส่วนเสาซุ้มติดกันเป็นแบบซุ้มลดแล้วต่างจากพระธาตุสองพี่น้องและวัดป่าสักที่เป็นซุ้มซ้อน ส่วนของยอดซุ้มมีการประดับฝักเพกาเตี้ย ๆ ต่างจากฝักเพกาแบบพุกามแต่คล้ายกับใบระกาของซุ้มแบบเขมรหรืออยุธยาแล้ว
ส่วนยอดส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีฐานล่างเป็นแปดเหลี่ยม ที่มุมฐานประดับด้วย สถูปิกะทั้ง4 มุม ถัดขึ้นไปเป็นส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นบานบัวคว่ำ - บัวหงายอยู่ในผังแปดเหลี่ยม มีเพียงฐานเดียว เหนือขึ้นไปจึงเป็นบัวปากระฆังและองค์ระฆังตามลำดับ
องค์ระฆังมีขนาดเล็กและสูง และลักษณะสำคัญคือเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีบัลลังก์แล้ว โดยเหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์อยู่ในผังแปดเหลี่ยม ส่วนยอดเหนือบัลลังก์ขึ้นไปหักหายไปแล้ว น่าจะเป็นปล้องไฉนเพราะโดยทั่วไปถ้าเป็นเจดีย์ที่มีบัลลังก์ส่วนใหญ่จะต่อด้วยปล้องไฉนเลย ในขณะที่ทรงปราสาทยอดที่พระธาตุสองพี่น้องและวัดป่าสักจะเป็นเจดีย์ที่ไม่มีบัลลังก์ ต่อด้วยเจดีย์จำลองและบัวทรงคลุ่มเถา
ส่วนที่มีวิวัฒนาการไปคือ
ส่วนที่1ส่วนฐานหน้ากระดานทำซ้อนกันหลายชั้นและยกสูงขึ้นไปอย่างมาก และส่วนฐานบัวรองรับเรือนธาตุทำอยู่ในผังยกเก็จแล้ว
ส่วนที่2เรือนธาตุเปลี่ยนจากเสาประดับผนังเป็นยกเก็จหรือออกเก็จเพื่อรับซุ้ม(จระนำซุ้ม) ส่วนนี้เองที่สามารถเปรียบเทียบได้กับเจดีย์ทรงปราสาทในระยะหลัง และที่สำคัญคือส่วนของเรือนธาตุที่มีการประดับเส้นลวดในลักษณะของฐานบัว 2 ฐานซ้อนกัน (ถ้าไม่มีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป) คล้ายกับฐานของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่พบอยู่โดยทั่วไปล้านนาและในเมืองเชียงแสน ซึ่งมีรูปแบบครบชุดคือมีทั้งส่วนที่เป็นบัวคว่ำและบัวหงายที่มีส่วนกลางเป็นลูกแก้วอกไก่ คล้ายกับต้นแบบที่พระธาตุหริภุญชัย ส่วนนี้เองที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมฐานแบบนี้อย่างมากในล้านนาแม้ว่าจะสร้างเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแล้วก็ตาม ความนิยมนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 และนิยมสร้างอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งในระยะต่อมาของเจดีย์ทรงปราสาทยอดจะนำส่วนนี้ไปใช้เป็นฐานบัวรองรับเรือนธาตุ เช่นที่วัดผ้าขาวป้าน เป็นต้น
ส่วนที่3องค์ระฆังที่มีบัลลังก์ ซึ่งต่างจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่ส่วนใหญ่ไม่มีบัลลังก์ การทำเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีบัลลังก์ปรากฏในล้านนาในกลุ่มเจดีย์ทรงปราสาทในล้านนาระยะหลังที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียว เช่นตัวอย่างที่กู่พระเจ้าติโลกราช ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่21 ซึ่งเจดีย์กลุ่มนี้ได้ปรับเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียว โดยเหนือเรือนธาตุนั้นทำเป็นหลังคาเอนลาด แทนส่วนฐานของเจดีย์ที่มีสถูปิกะที่มุมทั้ง 4 อย่างไรก็ตามบัลลังก์ของเจดีย์วัดมุงเมืองอยู่ในผังแปดเหลี่ยมซึ่งต่างจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวของล้านนาที่ส่วนใหญ่อยู่ในผังกลมหรือผังเพิ่มมุมไม้สิบสองเป็นหลัก (ลายเส้นที่ 8) เจดีย์ทรงระฆังที่มีบัลลังก์อยู่ในผังแปดเหลี่ยมส่วนใหญ่พบในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่อยู่ในผังแปดเหลี่ยมทั้งส่วนรองรับและองค์ระฆัง เช่นกลุ่มพระธาตุดอยสุเทพ เมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นศิลปะล้านนาระยะหลัง ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว