ไหดินเผา
ไหดินเผาทรงสูง คอสูง ตรงกลางป่อง มีลายบริเวณคอและฐานด้านล่าง บริเวณไหล่
ทำเป็นรูปช้างรอบภาชนะ
ได้จากแหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี
แหล่งเตาและเครื่องถ้วยสุพรรณบุรีที่บ้านบางปูน
แหล่งเตาบ้านบางปูนที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีอายุอยู่ในช่วงก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ราว
พุทธศตวรรษที่ ๑๗ –๑๙ และมีการผลิตสืบเนื่องมาจนตลอดสมัยอยุธยาด้วยรูปแบบทางศิลปะ
ของลวดลายได้รับอิทธิพลของศิลปทวารวดีและลพบุรี
เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาสุพรรณบุรีที่บ้านบางปูนมีลักษณะเฉพาะคือไม่เคลือบผิวแต่
มีลวดลายประดับตกแต่งมากมายตั้งแต่ฐานล่างจนถึงคอ (richly decorated ware) โดยเฉพาะ
ภาชนะประเภทไหปากแตรหรือโอ่ง เครื่องปั้นดินเผาจะทำเป็นสีเทา เนื้อดินไม่แกร่ง ไม่เคลือบผิว
การใช้ลวดลายประดับที่แปลกตาและสวยงามทดแทนคุณสมบัติด้วยเรื่องความแข็งแรง ทนทาน
และส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวกับความเชื่อหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพ
การลอยอังคาร ถูกใช้เป็นโกศ(cremation urns) ใส่กระดูกหรือใส่อัฐิฝังไว้ตามฐานของเจดีย์และ
ศาสนสถานในหัวเมืองหรือตามชุมชนโบราณต่าง ๆ และพบไหปากแตรที่ใส่กระดูกหรืออัฐิจมอยู่ใน
แม่น้ำเป็นจำนวนมาก