ประวัติ
บ้านไม้สักทองหลังใหญ่สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๕ เจ้าของบ้านได้นำ
แบบอย่างการสร้างบ้านหลังหนึ่งที่ถนนตกในกรุงเทพมหานคร
ตั้งอยู่
๖๗๘ ถนนถวาย ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
การกำหนดอายุสมัย
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๖)
รูปแบบของแหล่งโบราณคดี
บ้านไม้สักทองหลังใหญ่สองชั้น เป็นเรือนทรงมะนิลา หลังคาทรงปั้นหยา คือ มีหลังคาคลุมทั้ง ๔ ด้าน มี ๕ สัน มุงกระเบื้องว่าว หลังคาสอบเข้าหากันแบบพีระมิด หน้าจั่ว ปั้นลม เชิงชาย ช่องลม และระเบียงฉลุลวดลายงามวิจิตรแบบเรือนขนมปังขิง ( Ginger Bread) ของยุโรป ซึ่งนิยมแพร่หลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบ้าน ๒ ชั้น ออกมุข ๓ ด้าน สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ขนาดของตัวบ้านกว้าง ๒๘ เมตร ลูก ๑๖ เมตร ชั้นล่างเปิดโล่ง ชั้นบนมีบันไดขึ้นลง ๒ ด้าน ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา ด้านหน้าของตัวบ้านแถวแรกเป็นห้องโถงกว้าง หลังห้องโถงเป็นห้องเรียงในระดับเดียวกัน ๕ ห้อง ห้องกลางตรงกับมุขเป็นห้องพระและห้องเก็บอัฐิของตระกูลศิลาสุวรรณ แต่ละห้องมีชื่อคล้องจองกัน คือ ห้องพลังจิตประทาน อธิษฐานบารมี บุพการีญาณ วิมานคุณาวร พรสนองอุทัย ภายในห้องเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณ เครื่องลายคราม เครื่องมุก มีเรือกลไฟจำลองที่ใช้เครื่องยนต์ลำแรกของสมุทรสาคร ชื่อเรือสุดสาคร สร้างโดยปู่เทศ ศิลาสุวรรณ
เจ้าของบ้านปัจจุบัน คือ นางวีณา ตะเคียนนุช (ศิลาสุวรรณ) ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์