ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 25' 9.003"
14.4191675
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 32' 54.0251"
100.5483403
เลขที่ : 160223
การทำอิฐมอญ
เสนอโดย RaNiDa วันที่ 24 กันยายน 2555
อนุมัติโดย พระนครศรีอยุธยา วันที่ 24 กันยายน 2555
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
0 1460
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมาของอิฐมอญ

ชาวมอญได้อพยพมาลงหลักปักหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินไทยแล้ว ก็ยังคงประกอบอาชีพตามเดิมที่ตนถนัด มาตั้งแต่ครั้งอาศัยอยู่ในบ้านเมืองของตน ซึ่งอาชีพหลักของชาวมอญก็คือ ทำนา ทำไร่ ค้าขาย เข้ารับราชการ และการทำเครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งการทำอิฐ ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวมอญได้ทำมานานแล้ว และ มีความชำนาญมาตั้งแต่ในบ้านเมืองเดิมของตน

จากการที่ชาวมอญมีฝีมือในการทำเครื่องปั้นดินเผา และผูกขาดการทำอิฐมาแต่ต้น ทำให้คนไทยเรียกลักษณะของอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีส้มสดชนิดนี้ว่า “อิฐมอญ” อิฐเป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างมาแต่ครั้งอดีต สังเกตได้จากโบราณสถานที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ และยังคงความสำคัญนับจากอดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน มีบทบาทเด่นในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ชุมชนชาวมอญในประเทศไทยที่ประกอบอาชีพการทำอิฐมอญมีหลายแห่ง มีแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตอิฐที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และอีกหลายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แต่เดิมดินที่นำมาทำอิฐมอญเป็นดินจากแม่น้ำ มีเนื้อละเอียดปนทราย ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษคือ ไม่เหนียวมากเกินไป แต่ปัจจุบันดินแม่น้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงหันมาใช้ดินจากพื้นที่ลุ่ม มีคุณสมบัติเหมือนดินแม่น้ำ กล่าวคือเป็นดินสองชั้น ชั้นบนเป็นดิน เหนียวปนทรายมาก ส่วนชั้นล่างเป็นดินเหนียวล้วน ๆ เมื่อขุดมารวมกัน ก็จะได้ดินเหนียวปนทรายเนื้อดี นอกจากดินแล้ว ยังประกอบ ด้วยแกลบ และขี้เถ้า เป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่อนจะผสมให้เข้ากัน ตากแห้ง และเข้าเตาเผา อิฐที่ดีจะมีสีส้มสดทั่วทั้งก้อน แกร่ง มีคุณภาพสามารถนำไปใช้งานได้ทันที อาชีพการทำอิฐมอญและเครื่องปั้นดินเผา ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญมาแต่โบราณ และมีการสืบทอดมาสู่ลูกหลานกระทั่งปัจจุบัน

แม้คนมอญที่ประกอบอาชีพนี้จะล้มหายตายจากไป แต่ชื่อ"อิฐมอญ" ก็ยังคงอยู่ตลอดไป อาชีพชาวไทยรามัญนิยมทำอิฐเผา ปั้นหม้อ ตุ่ม กระถาง ฯลฯ และทำได้อย่างวิจิตรงดงาม มีคุณภาพ เจ้านายในวังผ่านไปมาเห็นคนมอญทำอิฐเผาสร้างวัด จึงได้สั่งเข้าไปก่อสร้างในวัง ต่อมาเห็นว่ามีความแข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำไปใช้ในการก่อสร้างครั้งต่อ ๆ มา จนได้ชื่อเป็นที่กล่าวขนานกันเป็นสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักว่า “ อิฐมอญ” เรียกชื่อตามคนที่ทำ หรือ เรียกชื่อตามสถานที่ แหล่งที่ผลิต เช่น เรียกโอ่งใส่น้ำขนาดใหญ่ว่า ตุ่มสามโคกเพราะทำที่สามโคก เรียกหม้อหุงข้าวหรือต้มยาดินเผาว่า หม้อบางตะนาวศรีเพราะ ทำที่บางตะนาวศรี ดั้งนั้น อิฐมอญ จึงเป็นสัญลักษณ์สินค้าแห่งคุณภาพจากการศึกษาสืบทอดทางวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างมั่งคงทำให้เครื่องปั้นดินเผาของไทยรามัญปรากฏเป็นหลักฐานการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่กระทั่งทุกวันนี้

ขั้นตอนการผลิตอิฐมอญ

จากการสัมภาษณ์ นายสวย สิริปริญญา ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทำอิฐมอญ ได้รับความรู้ว่า การทำอิฐมอญได้พัฒนาจากการผลิตด้วยมือ คือใช้มือปั้น มาเป็นใช้เครื่อง เนื่องจากมีแรงอัดมากกว่า แน่นกว่า และผลิตได้จำนวนมากกว่า แต่ในปัจจุบันการทำอิฐมอญเริ่มน้อยลง เพราะระยะเวลาในการผลิตจนถึงจำหน่ายใช้ระยะเวลาประมาณ ๑ เดือน ซึ่งถือว่าช้ากว่าอาชีพอื่น ๆ แต่ที่คุณสวย ยังประกอบอาชีพนี้อยู่เพราะอยากอนุรักษ์ สืบสาน ภูมิปัญญานี้ไว้ให้ลูกหลานเป็นมรดกภูมิปัญญาต่อไป

1. การเตรียมดินสำหรับทำอิฐมอญ เริ่มด้วยการเลือกดิน โดยใช้ดินเหนียว ปนทราย หรือเรียกว่า “ดินน้ำไหลชายมูล”

2. นำดินที่เตรียมไว้แช่น้ำในบ่อ เพื่อให้ง่ายแก่การผสมผสานตัว โดยใช้ระยะเวลาในการแช่ดิน ประมาณ 2-3 วัน

3. นำดินใส่ในเครื่องปั่นอัดก้อน โดยนำขี้เถ้าผสม (สมัยก่อนจะผสมด้วยแกลบ แล้วใช้เท้าย่ำ) ดินจะผ่านช่องบล็อกหัวอิฐออกมาเป็นเส้นหนาๆในราง จากนั้นก็นำที่ตัดอิฐมาตัดให้เป็นก้อน แล้วนำไปวางบนหมอนรอง

4. นำอิฐที่ได้ไปตากในลานตากที่รับแสงแดดตลอดเวลาการตากใช้เวลาประมาณ 3-10 วัน เพื่อทำให้แห้งอิฐดิบที่ตากจนได้ที่แล้วจะมีสีขาวนวล

5. การเผาแต่ละครั้งต้องใช้อิฐมอญดิบจำนวนมาก ๆ เพราะค่าใช้จ่ายในการเผาสูงมากเนื่องจากแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นมีราคาสูงมาก และการเผาแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน โดยการเผาต้องคอยเติมแกลบทุกวัน จึงจำเป็นต้องเก็บรักษาอิฐมอญดิบที่แห้งสนิทแล้วเอาไว้อย่างดีโดยไม่ไว้ในที่ชื้น โดยวางเรียงซ้อนกันเอาไว้ในสภาพที่พร้อมเผา การเผาอิฐมอญจะใช้อิฐดิบก่อเรียงเป็นเตาเผา โดยวางเรียงสลับกันเป็นช่อง พอที่จะให้เชื้อเพลิงหล่นลงไปได้ อิฐที่สุกได้ที่แล้วจะออกสีส้มตลอดทั้งก้อน พร้อมที่จะขายสู่ท้องตลาด

ข้อมูลภูมิปัญญาชาวบ้าน

นายสวย สิริปริญญา อายุ 58 ปี

บ้านเลขที่ 2/1 ม.7 ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา

สถานที่ตั้ง
บ้านนายสวย สิริปริญญา
เลขที่ 2/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7
ตำบล โพธิ์สามต้น อำเภอ บางปะหัน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นายสวย สิริปริญญา
บุคคลอ้างอิง นายสวย สิริปริญญา
เลขที่ 2/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7
ตำบล โพธิ์สามต้น อำเภอ บางปะหัน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13220
โทรศัพท์ 0 3538 1408
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่