ครกหินโม่แป้งโบราณหรือภาษาถิ่นชาวปักษ์ใต้ เรียกว่า "ครกบดแป้ง"ทำมาจากหินหรือซีเมนต์มีหลากหลายขนาด ขนาดเล็กที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๕ เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดใหญ่กว่าขนาดเล็กประมาณสามเท่า(มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๓๕ เซนติเมตร) เป็นเครื่องบดชนิดหนึ่งที่ทำด้วยหินรูปร่างคล้ายที่สีข้าว มี ๒ ส่วน ส่วนบนซึ่งเรียกว่า ลูกโม่นั้น มีมือถือสำหรับหมุนและมีรูสำหรับกรอกเมล็ดพืช เมื่อหมุนลูกโม่จะบดเมล็ดพืชให้ละเอียดและไหลลงสู่ส่วนล่าง ซึ่งมีลักษณะเป็นรางรองรับอยู่และมีช่องเปิดให้สิ่งที่ที่ไม่ไหลลงสู่ภาชนะที่รองรับได้
วิธีการโม่แป้งโดยใช้ครกบด วางครกบดให้สูงกว่าพื้นดินประมาณ ๑ ศอก เพื่อให้สามารถวางภาชนะที่จะรับแป้งจากปากครกบดได้ ข้าวสารที่จะใช้โม่จะต้องแช่น้ำให้พอง หยอดข้าวที่พองแล้วลงรูด้านบนปากฝาครกและหมุนครก ข้าวสารที่บดแล้วจะค่อยๆออกมาที่บริเวณแอ่งหรือคลอง การหยอดข้าวสารนั้นถ้าหากหยอดข้าวสารมากเกินไป และมีน้ำผสมอยู่น้อยแป้งที่โม่จะข้นหนืด ต้องหยอดน้ำช่วย ถ้าหยอดข้าวสารน้อยและใส่น้ำมาก แป้งจะเหลว ฟันครกบดจะเสียดสีกันมากอาจทำให้ซีเมนต์หรือทรายที่ฟันครกหลุด ผสมลงในแป้งได้ พอได้น้ำข้าวสีขาวขุ่นๆ ก็ต้องนำไปกรองหรือคั้นแป้งเพื่อให้น้ำออกและเหลือไว้แค่เนื้อแป้งแต่ตอนกรองหรือคั้นน้ำแป้ง ต้องจับผ้าขาวบางที่กรองแป้งไว้ตลอดเวลา จนน้ำระเหยไปหมดแล้เราก็จะได้ ก้อนแป้งแบบสดๆ ครกบดนั้นเมื่อใช้งานเรียบร้อยแล้วจะต้องล้างให้สะอาด เพราะถ้าล้างไม่สะอาดแป้งจะติดค้างอยู่ตามฟันครกหรือเดือยครกเกิดการบูดเน่าได้
ครกบดเป็นเครื่องมือที่มีใช้กันแทบทุกบ้านมีครกบดทำให้บ้านทุกบ้านโม่แป้งมาใช้เองได้ ครกบดจึงถือเป็นเครื่องมือที่อยู่คู่กับครัวไทยมานาน ในปัจจุบันการใช้ครกบดได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากมีแป้งสำเร็จรูปขายตามท้องตลาดซึ่งหาซื้อได้ง่าย ครกบดจึงค่อยๆ หายไปจากครัวไทย